เศรษฐกิจใหม่ในวันที่ไทยไม่เหมือนเดิม สรุปประเด็นสำคัญจากดร.สันติธาร เสถียรไทย
วิกฤต COVID-19 ไม่ได้เป็นแค่วิกฤตทางสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมพัดพาความเปลี่ยนแปลงเข้ามาสู่โลกปัจจุบันที่คุ้นเคย และมันไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่เมื่อคลื่นลูกนี้พัดผ่านไป แต่คือสิ่งที่เปลี่ยนไปในช่วงเวลานั้น และนั่นคือวันที่เราต้องปรับตัวเข้าสู่ความปกติใหม่
Future After COVID-19 งานเสวนาออนไลน์ Virtual Conference ครั้งแรกจาก Future Trends EP.1 ‘Thailand After COVID-19’ เราได้พูดคุย ถกประเด็นเรื่องราวเศรษฐกิจต่อจากนี้ไป ในมุมของธุรกิจ มองวิกฤตนี้เป็นเช่นไร
และนี่คือประเด็นสำคัญจาก Future Trends EP.1 ‘Thailand After COVID-19
“เศรษฐกิจใหม่ในวันที่ไทยไม่เหมือนเดิม” โดย ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Cheif Economist บริษัท Sea Group (AirPay, Shopee และ Garena)
หลังจากที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับตัว คนทำงานไม่เข้าออฟฟิศ และใช้ชีวิตกันแบบ Work From Home เมืองต่างๆ Lockdown นำพาความเปลี่ยนแปลงถาโถมเข้าสู่ชีวิตของทุกคน
3 ระยะ ของความเปลี่ยนแปลง
ดร.สันติธารมองว่า ภาวะความเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนพบเจอนั้นแบ่งได้ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆของการเปลี่ยนผ่าน จากสิ่งที่เคยเป็น ไปสู่สิ่งใหม่อย่างรวดเร็ว
- ระยะที่ 1 Abnormal – ความไม่ปกติ
ช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลง เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เราพบว่าเราไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเดิมได้อีกต่อไป นี่คือช่วงแรกที่ COVID-19 เริ่มระบาด และเมืองต้อง Lockdown ผู้คนต้อง Social Distancing
- ระยะที่ 2 New Abnormal – ความไม่ปกติใหม่
นี่คือช่วงเวลาที่สถานการณ์ต่างๆเริ่มผ่อนเบาลง มาตรการต่างๆเริ่มคลี่คลาย เราเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับเดิมมากขึ้น เมืองไม่จำเป็นต้อง Lockdown สมบูรณ์ ผู้คนออกจากบ้านได้ แต่เราจะพบว่ากฏเกณฑ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนไป เราต้องสวมหน้ากาก ต้องกินชาบูแยกโต๊ะ ต้องล้างมือทุกที่ เป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องปรับตัว
- ระยะที่ 3 New Normal – ความปกติใหม่
ทุกอย่างเหมือนจะกลับไปเป็นปกติ ไม่มีมาตรการควบคุมต่างๆ ห้างร้านเปิดให้บริการ แต่ในความปกตินี้จะยังคงมีบางสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พฤติกรรมบางอย่างอาจเปลี่ยนไป บางธุรกิจอาจหายไป แนวคิดการทำงานในออฟฟิศอาจเปลี่ยน ความเคยชินของการซื้อของหน้าร้านอาจขยับสู่ออนไลน์มากขึ้น กลายเป็นความปกติใหม่ ที่เราจะได้เผชิญ
ในความเปลี่ยนแปลงนี้ ธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร
ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมายนี้ ธุรกิจที่ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดจำเป็นต้องมี 3 สิ่ง เพื่อรับมือกับทั้ง 3 ช่วงของความเปลี่ยนแปลง
- ระยะที่ 1 อยู่รอด
สิ่งแรกที่ธุรกิจต่างๆต้องทำให้ได้ก่อนคือการอยู่รอด นี่คือเรื่องของการเอาตัวรอดจากภาวะวิกฤติ เอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่บีบคั้น ธุรกิจอาจขาดทุน หรือต้องเฉือนเนื้อ แต่นั่นก็อาจเป้นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ธุรกิจมีลมหายใจต่อไป
- ระยะที่ 2 อยู่เป็น
แม้ธุรกิจจะรอดจากภาวะวิกฤตไปได้แล้ว แต่นี่ก็ยังเป็นเวลาที่ทุกคนต้องรอบคอบ ธุรกิจต้องหาทางลดค่าใช้จ่าย ชะลอการลงทุน บริหารสิ่งที่มีให้อยู่รอดต่อไปได้ยาวขึ้น
- ระยะที่ 3 อยู่ยืน
คือการมองไปข้างหน้า มองให้เห็นว่าธุรกิจต้องปรับ หรือเปลี่ยนเเปลงอย่างไร ตั้งคำถามว่าธุรกิจนี้เป็นสิ่งที่จะอยู่รอดได้ในอนาคตหรือไม่ และออกแบบธุรกิจให้ยั่งยืนกว่าที่เคยเป็นมา
โดมิโนเศรษฐกิจ ในวันที่ทุกสิ่งซบเซา
เมื่อธุรกิจต่างๆต้องหาทางเอาตัวรอด ทุกคนต้องรัดเข็มขัด วิกฤตทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่กระทบทั้งระบบ สิ่งนี้จะเริ่มต้นจากในภาคธุรกิจที่เป็นตัวขับเคลื่อน
- ธุรกิจขนาดใหญ่จะชะลอการลงทุน ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางจะหยุดใช้จ่าย ซ้ำร้ายที่สุดคือธุรกิจขนาดเล็กที่น่าจะหดตัว หรืออาจถึงขั้นปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก
- เมื่อธุรกิจขนาดกลาง และเล็ก หยุดเติบโต หดตัว หรือปิดกิจการ สิ่งที่ตามมาคือการตกงานจำนวนมาก ทำให้ผู้คนไม่มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนน้อยลง เศรษฐกิจขาดสภาพคล่อง ผู้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย
- สิ่งนี้จะส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจการเงิน ธนาคารต่างๆ เมื่อผู้คนจนลง เกิดหนี้เสียมากขึ้น ธนาคารก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณามาขึ้นในการที่จะปล่อยเงินกู้ และทำให้ไม่สามารถเกิดการอัดฉีด ช่วยนำเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป
เตรียวตัวรอวันฟื้นตัว
แม้ว่าวิกฤตนี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ แต่ในท้ายที่สุดทุกอย่างจะค่อยๆฟื้นตัว และหากจะถามว่าธุรกิจใดจะกลับมาได้ก่อน ธุรกิจนั้นคือธุรกิจที่ปิดตัวไปเป็นอย่างสุดท้าย และจะค่อยๆฟื้นกลับมาเป็นลำดับ ธุรกิจที่เคยล้มช้า ก็จะฟื้นตัวได้เร็ว ในขณะที่ธุรกิจแรกๆที่ต้องหยุดตัวไป เช่นการท่องเที่ยว ธุรกิจสายการบิน จะเป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ช้า
ในช่วงเวลานี้อาจเป็นเวลาที่เราต้องผลักดันตัวเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทุกอย่างอาจหนักขึ้น เหนื่อยขึ้น แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน สำหรับคนทำงานในบริษัท สถานการณ์นี้ก็กระทบบริษัทของคุณเช่นกัน และนี่อาจกลายเป็นโอกาส ที่คุณจะแสดงจุดยืน แสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนที่พร้อมจะลุกขึ้นมาช่วยให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าได้ แม้ในช่วงเวลาที่หนักหนา
สิ่งที่ ดร.สันติธาร มองว่าคนทำงานต่างควรมี เพื่อเอาตัวรอดในวิกฤตเช่นนี้ คือ 2 สิ่ง
- Resilience Skill หรือทักษะการฟื้นตัว เพื่อให้คุณสามารถที่จะลุกขึ้นมาได้ใหม่อีกครั้ง
- Growth Mindset หรือแนวคิดของคนที่มีการพัฒนา คือสิ่งที่จำเป็นเพื่อสร้างความยืดหยุ่น และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ตลอดเวลา
แต่แม้คุณจะยังไม่มีสิ่งเหล่านี้ในวันนี้ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะช่วงวิกฤตเช่นนี้คือช่วงเวลาที่ดีในการเสริมสร้างทักษะเหล่านี้
จากนี้ต่อไปเราจะได้พบกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ สิ่งใหม่ๆ และความปกติใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือการปรับตัว และเตรียมพร้อมเพื่อที่จะให้ตัวเองเป็นคนที่ก้าวต่อไป หรือเป็นธุรกิจที่ก้าวต่อไปได้
ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่เราได้รวบรวมมาจาก Virtual Conference EP.1 Thailand After COVID-19 หากใครที่อยากติดตามไลฟ์ฉบับเต็ม สามารถดูย้อนหลังได้ที่ Future Trends และ Youtube Channel