Type to search

“ที่คิดว่าแย่แล้ว ต่อไปจะแย่มากกว่านี้อีก” คุยเรื่องเศรษฐกิจหลังโควิด-19 กับ ‘หนุ่มเมืองจันท์’

April 30, 2020 By Future Trends

ท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อไร? หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเยอะไหม? ที่บอกกันว่า หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เป็นเรื่องจริงรึเปล่า?

และอีกหลายคำถามที่ถาโถมเข้ามาในตอนนี้ โดยที่เราเองก็ยังหาคำตอบได้ไม่ชัดเจนเหมือนกันว่า ปลายทางของวิกฤตครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป สถานการณ์การแพร่ระบาดอาจจะดีขึ้นแต่คลื่นระลอกถัดจากนี้ล่ะ.. เราต้องเตรียมตัวรับแรงกระแทกด้วยท่าทีแบบไหน

คุณตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกาหนุ่มเมืองจันท์

ปลายปี 2562 มีนักวิชาการหลายท่านออกมาแสดงความเห็นก่อนวิกฤตโควิด-19 ว่า ปี 2563 ‘เผาจริง’ ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจที่ผ่านมาเป็นเพียงการ ‘เผาหลอก’ เท่านั้น ซึ่งเมื่อรวมกับวิกฤตไวรัสที่เกิดขึ้นด้วยแล้ว สรกล อดุลยานันท์ อดีตนักข่าว นักเขียน และคอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ก็บอกกับเราว่า

“เผาจริงคงไม่ต้องรออีกนาน น่าจะได้เก็บกระดูกกันตั้งแต่กลางปีนี้แล้วล่ะ”

ด้วยสถานการณ์ไวรัสที่มีแนวโน้มดีขึ้น สถานประกอบการหลายแหล่งก็ใกล้จะได้รับการปลดล็อคแล้ว เราเลยอยากชวน ‘พี่ตุ้ม’ หรือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ มานั่งคุยถาม-ตอบเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาปากท้อง คนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน ไปจนถึงภาคธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และสถาบันทางการเงินว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ก่อนอื่นอยากให้เล่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผ่านมาให้ฟังหน่อย

ช่วงที่ผ่านมามีทั้งราคาสินค้าเกษตรไม่ดีติดต่อกันหลายปี ส่งออกก็ติดลบ การท่องเที่ยวแม้จะยังดีอยู่บ้างแต่ก็เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่เหลืออยู่ ส่วนเครื่องจักรอื่นๆ อย่างการลงทุนของภาคเอกชน หรือการใช้จ่ายในประเทศก็ไม่ดีเพราะกำลังซื้อไม่เกิด โดยเฉพาะกำลังซื้อของต่างจังหวัดซึ่งมีความสำคัญมากก็ไม่ดีอีก พอเลือกตั้งเสร็จมีปัญหาเรื่องพ.ร.บ.งบประมาณฯ ล่าช้าต่อ เพราะกว่าจะฟอร์มรัฐบาลเสร็จก็ช้ามาก ช้ากว่าปกติ

เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่ยังเหลือคือ งบประมาณจากภาครัฐ แต่ปรากฎว่างบประมาณล่าช้าอย่างที่บอก จากนั้นก็มีกรณีเสียบบัตรแทนกันต้องรอกระบวนการกว่าจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งทำให้งบประมาณช้ามากขึ้น พอพ.ร.บ.งบประมาณฯ อนุมัติ โควิดก็เข้ามาพอดี ทีนี้ก็ระเนระนาดเลย นำไปสู่เครื่องจักรตัวเดียวที่เป็นความหวังของไทยคือ เรื่องท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ก็หายวับกลายเป็นว่านักท่องเที่ยวหายไปเลย เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมด นำไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่เรานึกไม่ถึง เช่น การที่สายการบินต่างๆ ไม่สามารถบินได้ การเคลื่อนย้ายทั่วโลกไม่เกิด มันช็อคหมดอย่างที่เห็น

เราให้น้ำหนักที่ภาคการท่องเที่ยวมากไป โดยไม่ได้พัฒนาส่วนอื่นๆ ไปด้วยรึเปล่า

ใช่ครับ ให้น้ำหนักท่องเที่ยวเยอะไปด้วย ไปโฟกัสบางประเทศเยอะ เช่น จีน พอกำลังซื้อมาก็ให้น้ำหนัก ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตที่มาจากจีนก็ระนระนาด การกระจายความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ เราพึ่งท่องเที่ยวกับส่งออกเยอะมากมาโดยตลอด เราไม่มีสตาร์ทอัพใหญ่ๆ เป็นของตัวเอง บรรดา grab, lineman, food panda เหล่านี้เป็นของต่างประเทศหมดเลย ทั้งที่ตอนนี้โลกได้หันหน้าเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว แต่เรากลับไม่มีพลังที่จะทำ

อย่างเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็เป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายปีแล้วใช่ไหม

ถ้ายังจำกันได้ก่อนหน้านี้มีการประท้วงราคายางมานานมาก สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีนโยบายจำนำข้าวที่เป็นปัญหา แม้จะมีคดีทุจริตแต่ปรากฎว่าจากนโยบายนั้นชาวนาเขาได้เงินจริง แต่พอเกิดรัฐประหารขึ้นนอกจากราคาข้าวจะตกต่ำลงแล้ว สต็อคข้าวที่รัฐบาลชุดก่อนรับจำนำเก็บไว้ในโกดังก็ยังอยู่ พอรัฐบาลคสช. เข้ามาเขาก็เปลี่ยนวิธีการจัดการทั้งหมด ทำให้มีข้าวค้างสต็อคจำนวนมาก เมื่อบวกกับปัญหาราคายางที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมันก็แย่ต่อเนื่องมาถึงตอนนี้

ราคาพืชผลเกษตรที่ดีมีอย่างเดียวคือ ผลไม้ เพราะกำลังซื้อของจีนแต่ก็เป็นแค่คนกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้น ข้าวกับยางเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาพืชเกษตรจากภาวะการผลิตของโลกร่วมด้วย แต่ตอนนี้ข้าวราคาขึ้นเพราะห้ามส่งออก แล้วก็มีปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงร่วมด้วย

สถานการณ์ตอนนี้แตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งยังไง

ผมว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดของเศรษฐกิจไทยเลยนะ ถ้าคิดว่าปี 2540 หนักแล้วปีนี้หนักกว่า ปีนี้เป็นปีที่มีปรากฎการณ์หลายอย่างที่เรานึกไม่ถึง

ไม่มีสงกรานต์ เปลี่ยนไปเชงเม้งออนไลน์แทน โรงหนังไม่มีให้ดู ห้างปิด คนต้องทำงานที่บ้านแทบทั้งหมด นี่เป็นภาวะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การซื้อขายปกติทั่วไปที่ต้องมีการเดินทางจับจ่ายใช้สอยกลายเป็นชอปปิ้งออนไลน์โตอย่างก้าวกระโดด

แต่แม้ว่าจะโตขนาดไหนมันก็ยังไม่พอ เพราะพิษโควิด-19 นำไปสู่การจ้างแรงงานที่หายไป และนี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลกู้เงินจำนวนมากโดยที่ไม่มีใครคัดค้าน ฝ่ายค้านก็ไม่ค้านแต่อาจจะติงเรื่องวินัยการเงินอะไรแทนเพราะทุกคนรู้ว่าถ้าไม่กู้จะแย่ยังไง เพราะจริงๆ เพดานกู้เงินตอนนี้เรายังทำได้อยู่ ไม่ได้เป็นภาระหนี้ของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ครึ่งหนึ่งเป็นมาตรการแบงก์ชาติมาช่วยเสริมด้วย ฉะนั้นในเชิงตัวเลขจะไม่ถูกคิดเข้าไปอยู่ในบัญชีหนี้สินของรัฐ

สิ่งที่น่ากังวลในปีนี้คือ ตัวเลข GDP ติดลบ ที่ผ่านมา GDP โตเพียง 2-3% ที่บอกกันว่าโตน้อยก็ยังไม่เท่าสิ่งที่กำลังจะเกิดในปีนี้ซึ่งถือว่าหนักมาก แต่ก็ไม่ได้เกิดเฉพาะที่เมืองไทยมันเป็นกันทั้งโลก กำลังซื้อทั้งโลกน้อยลงเพราะทุกประเทศต้องประคับประคองตัวเองกัน

หรืออะไรที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นก็เห็นในวิกฤตนี้ ตอนปี 2540 เรานึกไม่ถึงหรอกว่ามนุษย์ทองคำด้านการเงินจะตกงาน เราไม่เชื่อว่าธนาคารจะล้มได้ คราวนี้เราก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าอาชีพนักบินและแอร์โฮสเตสจะเป็นอย่างนี้ ต่อให้พ้นช่วงโควิด-19 ไปก็ไม่ได้แปลว่าการเดินทางจะกลับมาดีเหมือนเดิม

แปลว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นทั่วโลก?

โดยรวมไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไทย อนาคตที่มองไปข้างหน้าก็ยังนึกกันไม่ออก เพราะทุกประเทศการค้าขายคงจะไม่เหมือนเดิมแน่นอน อย่างเรื่องน้ำมันที่โอเปค (OPEC) เถียงๆ กันถึงการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน มาตอนนี้ธุรกิจสายการบินที่ใช้น้ำมันปริมาณมากๆ ก็ทำให้ดีมานด์น้ำมันลดลงไปเอง โจ แอร์เอเชียเคยบอกว่า ถ้าเครื่องบินอยู่บนฟ้าเมื่อไหร่มันจะได้ทำงาน ถ้าจอดก็ไม่ทำเงิน แอร์เอเชียจึงใช้เวลาในการพักเครื่องจอดแปปเดียวก็บินแล้ว แต่ตอนนี้ทุกสายการบินต้องจอดไปถึงเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ จากนี้ไปเราจะเจอวิกฤตที่นึกไม่ถึงอีกเยอะ มันไม่จบลงแค่นี้ อาจจะคลี่คลายแต่จะไม่เหมือนเดิม

ช่วงนี้เริ่มเห็นคนบ่นอยากเที่ยวกันเยอะ จบวิกฤตคนจะกล้าไปเที่ยวจริงไหม

จริงๆ ผมว่าคนอัดอั้นเยอะโดยเฉพาะคนมีเงิน คนไม่มีเงินไม่คิดเรื่องท่องเที่ยวอยู่แล้ว แล้วก็คนรุ่นใหม่เขามองแหล่งท่องเที่ยวเป็นไลฟ์สไตล์ จะมีคนที่อยากกลับไปเที่ยวหลังจากวิกฤตโควิด-19 สงบลง ถ้าไวรัสมันจบเร็วนะซึ่งคงไม่เร็วนักที่จะนั่งเครื่องบินได้อย่างมั่นใจว่าคนข้างๆ เราจะปลอดภัยไม่มีเชื้อพาหะไวรัส

ฉะนั้นผมเชื่อว่า ดีมานด์ช่วงต้นคงไม่เยอะเท่าไร โรงแรมไทยคงมีหลายแห่งตายแน่นอน นักธุรกิจใหญ่ๆ บอกผมเยอะมากว่า ก่อนโควิด-19 จะหนักขนาดนี้มีโรงแรมหลายแห่งมาเสนอขายให้เขา เพราะก่อนหน้านี้ท่องเที่ยวกับโรงแรมก็เริ่มมีปัญหาแล้ว แต่วิกฤตครั้งนี้กระตุ้นให้เร็วขึ้น ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว รถบัส โรงแรม หรือกระทั่งคิงพาเวอร์ เองก็มีรายได้เกือบเป็นศูนย์ สมัยก่อนภาคธุรกิจเขาจะมีการประเมินกันว่า ยอดอาจจะตก 20-30% ซึ่งก็ถือว่าเยอะแล้ว หรือตกไปถึง 50% ก็แย่แล้ว แต่นี่คือรายได้เป็นศูนย์ มันแย่ถึงระดับนั้นเลยนะ

แล้วธุรกิจไหนที่น่าจะเจ็บหนักจากเหตุการณ์นี้มากที่สุดคือภาคส่วนไหน

แน่นอนว่าเป็นภาคบริการ ส่วนการท่องเที่ยวถ้าไวรัสหายสนิทพวกนี้จะฟื้นตัวเร็ว เพราะว่าแหล่งท่องเที่ยวไทยเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถเอาอะไรมาทดแทนได้ เป็นของที่ธรรมชาติสร้างมา พวกนี้ใช้งบน้อยมากในการกระตุ้นให้คนมาเที่ยว ถ้าใจคนพร้อมเที่ยวมีเงินในกระเป๋าเมื่อไรคงกลับมา แต่ผมเชื่อว่ากว่าจะถึงช่วงที่พ้นจากตรงนั้นคงใช้เวลาพอสมควร เอาแค่ 2-3 เดือนนี้ธุรกิจ SMEs ตายกันมโหฬารแน่นอน ส่วนธุรกิจการเงินตอนนี้มีปัญหาเดียวคือ หนี้เสีย (NPL – Non-performing Loan) ถ้ามาเมื่อไหร่ธนาคารมีปัญหาแน่นอน ต่อไปพอเศรษฐกิจแย่ลงจะมีปัญหาเช็คเด้งตามมาอีก หรือถ้าหุ้นมีปัญหาก็ไปถึงสถาบันการเงิน NPL ธนาคารก็จะมีปัญหาเช่นกัน

สำหรับร้านอาหารแฟรนไชส์ที่มีสาขาเยอะๆ อาจจะมีปัญหาเรื่องรายได้หายไป ถึงจุดหนึ่งก็ต้องลดสาขาเพื่อรักษาชีวิตเพราะสู้ค่าเช่าห้างไม่ไหว แต่ขณะเดียวกันก็ได้ปูทางให้ฟู้ด เดลิเวอรี่ มีบางร้านที่ไม่คิดจะเอาเดลิเวอรี่เข้าระบบ ตอนนี้ก็โดนสถานการณ์บังคับว่าต้องเข้าสู่ระบบนี้ กลายเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น วันหนึ่งถ้าเปิดให้บริการได้ตามปกติผมเชื่อว่าเขาก็คงไม่ปิดช่องทางนี้

นอกจากเรื่องฟู้ด เดลิเวอรี่ มีเทรนด์อะไรที่เปลี่ยนแปลงไปอีก

วิกฤตนี้ทำให้ระบบการเรียนการสอนออนไลน์ต้องปรับตัวไวขึ้น จริงๆ มีความพยายามจะบังคับใช้นานแล้ว แต่คราวนี้วิกฤตบังคับให้เกิด ไม่ใช่แค่สถาบันการศึกษาแต่ยังกระจายไปส่วนอื่นๆ ด้วย อย่างคนทำงานเองก็มีการคุยถึงเรื่องทำงานที่บ้านกันมานานพอสมควร แต่ไม่มีบริษัทไหนกล้าตัดสินใจทำจริงจัง อาจจะด้วยความเคยชินต่างๆ ซึ่งวิกฤตนี้ทำให้ทุกคนต้องเรียนรู้ ทำให้เกิดการประชุมผ่านแอพพลิเคชั่น แล้วช่วง 2-3 เดือนนี้มันก็กลายเป็นตัวชี้วัดได้ว่า จริงๆ การทำงานที่บ้านก็ทำได้

ต่อไปหลังวิกฤตบางบริษัทก็อาจจะมีการแบ่งวันให้พนักงานเข้าออฟฟิศ 3 วัน อีก 2 วันทำงานที่บ้านแทน เพราะบริษัทเองก็คิดว่า แบบนี้ก็ดีนะต้นทุนลดลง พื้นที่สำนักงานลดลง นำไปการเปลี่ยนแปลงเรื่องอื่นๆ อีกมากอย่างเช่น คอนโดรอบนอกแถบชานเมืองอาจจะขายดีมากขึ้น ค่าเดินทางลดลงเพราะคนไม่ต้องออกไปออฟฟิศทุกวัน เทรนด์การซื้อคอนโดอาจจะเปลี่ยนไป เช่น พอเขารู้ว่าพนักงานทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์อาจจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางคอนโดมากขึ้น เพราะรู้ว่าเป็นที่ต้องการของคน

ส่วนของภาคประชาชนได้รับผลกระทบยังไงบ้าง หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเยอะไหม

คนว่างงานเยอะขึ้นแน่นอน ส่วนหนี้ครัวเรือนผมว่าก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะระดับล่างเขาไม่ได้มีเงินเก็บเยอะ ตอนมีข่าวเรื่องอัดฉีดเงิน 5,000 บาท คนกลุ่มนี้พอรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ได้รับเขาไปกู้นอกระบบกันก่อนเลยนะ เพื่อว่าพอเงิน 5,000 บาทเข้าบัญชีจะได้เอาตรงนี้ไปจ่ายเงินต้น ผมได้ยินมาด้วยว่าวิธีการแบบนี้เจ้าหนี้ไม่ได้เป็นคนบอก แต่ตัวลูกหนี้มาเสนอเงื่อนไขแบบนี้เอง สิ่งที่ผมจะชี้ให้เห็นก็คือ เมื่อเกิดวิกฤตแบบนี้ พอรายรับน้อยลง บางคนต้องตกงานกระทันหัน หนี้ครัวเรือนมันเพิ่มขึ้นแน่นอน และอย่าลืมว่านอกจากมาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาทแล้ว รัฐยังให้ทุกคนกู้ได้ 10,000 บาทโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งผมเชื่อว่าคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปกู้หมด อาจจะดอกเบี้ยต่ำมากก็จริง แต่พอพ้นระยะ 6 เดือนตัวนี้จะกลายเป็นรายจ่าย

ปี 2540 ที่บอกว่าครั้งนั้นเป็นยอดหอคอยถล่ม วิกฤตการเงินสะเทือนในกรุงเทพฯ แต่คนที่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เป็นคนต่างจังหวัดเยอะมาก กลับต่างจังหวัดไปเขาก็ยังรอดได้ ตอนนั้นพอค่าเงินบาทลอยตัวส่งผลให้สินค้าเกษตรและการส่งออกดี ปัญญาชนไปอยู่ต่างจังหวัดกันเยอะมาก กลับไปตั้งหลักที่ต่างจังหวัดกันเยอะ แต่ปีนี้เป็นปีที่ภาคการเกษตรแย่ ฉะนั้นมันไม่มีอะไรมาแก้ปัญหาได้เลย

สิ่งที่อยากฝากไปถึงมนุษย์เงินเดือน

การเก็บออมและถือเงินสดสำคัญมากๆ ที่เคยเชื่อกันว่า ต้องใช้ชีวิตให้ work-life balance ไม่ต้องเก็บเงินมาก ต้องไปเที่ยวหรือใช้เงินเพื่อซื้อความสุขให้กับตัวเองบ้าง วิธีคิดเหล่านี้จะเปลี่ยนไป คนจะตระหนักว่าต้องมีเงินออมพอสมควร อีกข้อคือ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างมีโอกาสเกิดขึ้น บริษัทที่ไม่เคยคาดคิดว่ารายได้จะเป็นศูนย์มันก็เกิดแล้ว

ที่คิดว่าต่ำแล้วมันต่ำได้มากกว่านั้นอีก ต้องเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้

คนที่ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งจะเข้าใจดี ตอนนั้นหลายบริษัทเลิกใช้เงินกู้ไปเลย เจอค่าเงินบาทลอยตัวไปก็ใช้เงินระวังมากขึ้น บริษัทต่างๆ ที่ผ่านปี 2540 มาได้แล้วเจอวิกฤตครั้งนี้จะรอดเพราะเขาใช้เงินกู้น้อย บทเรียนข้อหนึ่งที่ทุกคนได้จากเรื่องนี้ก็คือ อย่าเชื่ออนาคต การมีเงินสดอยู่กับตัวเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เมื่อวานผมไปคุยกับคุณหมอมาเขาก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะเขาใช้ชีวิตแบบมั่นใจในตัวเลขรายรับของตัวเองมาก ใครจะเชื่อว่าทุกวันนี้แทบไม่มีใครเข้าโรงพยาบาลหรือคลินิกเลย รายได้หมอลดลงเยอะ ปกติเขาจะมีรายได้จากการตรวจรายหัวตอนนี้กลายเป็นมีหนี้ก้อนโตเพราะลงทุนกับหลายๆ อย่างไปเยอะ พวกนี้จะทำให้เราเปลี่ยนวิถีชีวิตเปลี่ยนไปเลย

เขียนโดย Piraporn Witoorut