Type to search

4 รูปแบบการตัดสินใจของผู้นำองค์กรด้วย ‘ข้อมูล vs. ประสบการณ์’

September 21, 2021 By Siravich Singhapon

ทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในยุคของข้อมูล เราต่างต้องเคยได้ยินกันมาอย่างแน่นอนว่า ข้อมูลส่วนมากถูกใช้ไปกับการตัดสินใจทางธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ ทำให้วันนี้ทักษะทางด้านการวิเคราะห์ จนถึงเก็บรวบรวมข้อมูลกลายเป็นทักษะที่องค์กรต่างๆ ต้องการ

แต่ในสถานการณ์จริงหลายครั้ง แม้ว่าข้อมูลจะช่วยสร้างความแม่นยำในการตัดสินใจทางธุรกิจ หรือตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ในองค์กรได้ แต่หลายครั้งผู้นำองค์กรอาจไม่เลือกที่จะใช้ข้อมูลเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ และแม้ว่ามันอาจเป็นวิธีที่ดูไม่เข้ากับยุคสมัยที่อะไรก็ถูกตัดสินได้จากข้อมูล การตัดสินใจเช่นนี้ของผู้นำองค์กรอาจเป็นสิ่งที่ดีก็เป็นได้

ข้อมูล ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่จะถูกนำมาใช้ในการตัดสินใจแทนที่ประสบการณ์ หรือการวิเคราะห์ของคนใดคนหนึ่งเพียงลำพัง แต่ผู้นำองค์กรส่วนมากกลับพบว่าหลายครั้งการใช้ข้อมูลในปัจจุบัน ก็อาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำเสมอไป

เพราะในความจริงแล้ว แม้เราจะสามารถพึ่งพาให้ข้อมูลช่วยตัดสินใจได้แค่ไหน ข้อมูลก็เป็นเพียงบันทึกที่รวบรวมมาในอดีต แม้มันอาจจะสามารถคาดการณ์อนาคตได้ แต่ก็ไม่แม่นยำเสมอไป เหมือนกับในวันนี้แอปพลิเคชั่นเพลงต่าง ๆ มี AI ที่เรียนรู้ข้อมูลการใช้งานของเรา เข้าใจแนวเพลงที่เราชอบ แต่มันก็ยังไม่สามารถเดาได้ว่าเพลงต่อไปที่เราจะอยากฟังคืออะไร

ด้วยเหตุนี้หลายครั้งผู้นำองค์กรจึงเลือกใช้ข้อมูลที่น้อยลง และใช้ประสบการณ์หรือวิจารณญาณมากขึ้น นักธุรกิจ หรือนักลงทุนบางคนสามารถคาดเดาผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์ หรือทิศทางของหุ้นได้โดยไม่ต้องดูข้อมูลมากมายนัก และนั่นไม่ใช่สิ่งที่เราประหลาดใจ เพราะมันคือเรื่องปกติ ด้วยปัจจัยที่หลากหลายนี้ ทำให้รูปแบบในการตัดสินใจของผู้นำองค์กร สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ จากเงื่อนไขในการใช้ข้อมูลที่มาก-น้อย และการสร้างตัวเลือกขึ้นมา ซึ่งจะแสดงให้เราเห็นว่าผู้นำองค์กรสามารถตัดสินใจผ่านกระบวนการแบบไหนได้บ้าง และเพื่อวัตถุประสงค์อะไร

4 รูปแบบในการตัดสินใจของผู้นำองค์กร

1. Decisive -​ เด็ดขาด
(ข้อมูลน้อย – ตัวเลือกน้อย)

การตัดสินใจย่างเด็ดขาดเพื่อให้งานสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว ผู้นำใช้ประสบการณ์ที่มีในการตัดสินใจและนำเสนอแนวทางที่ชัดเจน การตัดสินใจนี้ในรูปแบบนี้มักถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจที่มุ่งเน้นในผลลัพธ์ของงาน

2. Flexible -​ ยืดหยุ่น
(ข้อมูลน้อย – ตัวเลือกมาก)

การตัดสินใจที่อาศัยประสบการณ์เพื่อสร้างทางเลือกอย่างรวดเร็ว เป็นวิธีการตัดสินใจที่สนับสนุนให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วม การตัดสินใจในรูปแบบนี้ถูกมักมองว่าเป็นการตัดสินใจที่มุ่งให้เกิดการโต้ตอบ

3. Hierarchic – ลำดับขั้น
(ข้อมูลมาก – ตัวเลือกน้อย)

การตัดสินใจผ่านการวิเคราะห์ที่ซับซ้อน ข้อมูลจำนวนมาก เพื่อสร้างทางเลือกที่ดีที่สุดเพียงทางเลือกเดียว และเป็นทางเลือกที่ทุกคนต้องทำตาม การตัดสินใจในรูปแบบนี้มักถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด

4. Integrative -​ เชิงบูรณาการ​
(ข้อมูลมาก – ตัวเลือกมาก)

การตัดสินใจผ่านการนำเสนอข้อมูล และสร้างทางเลือกจำนวนมากเพื่อให้องค์กรสามารถนำไปใช้ หรือพัฒนาต่อได้ การตัดสินใจนี้ในรูปแบบนี้มักถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ส่งเสริมให้เกิดการแสดงความเห็น


การตัดสินใจต่าง ๆ ของผู้นำในองค์กรมักจะอยู่ในขอบเขตของการตัดสินใจใน 4 รูปแบบนี้ และถูกนำมาใช้ตามสถานการณ์ที่ต่างออกไป ในงานที่เร่งรีบ ในงานที่ต้องการให้ทุกคนนำเสนอมุมมองของตัวเอง ในงานที่ต้องการตัดสินใจอย่างรอบด้านสมบูรณ์ และในงานที่ต้องการให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นต่อทางเลือกต่าง ๆ

การตัดสินใจเหล่านี้ใช้ทั้งข้อมูล และประสบการณ์ในปริมาณที่มากน้อยต่างกันไป และทำให้เห็นว่าในวันนี้เเม้เราจะอยู่ในยุคของข้อมูล แต่บางครั้งการตัดสินใจก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพิงประสบการณ์


Source: HBR