เป็ดไทยสู้ภัยเดอะซีรีส์ ตอนพิเศษ เปิดประเทศไทยใน 120 วัน เป็นไปได้ด้วยยุทธการ ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’
เขียนโดยสาโรจน์ อธิวิทวัส (CEO at Wisible )
ทันทีที่พวกเราได้ฟังนายกรัฐมนตรีประกาศจะเปิดประเทศไทยใน 120 วัน
ผมกับเพื่อนสตาร์ตอัปกลุ่ม ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ ก็ได้คุยกันทันทีว่า “จริงๆ มันก็เป็นไปได้นะ”
ในขณะที่บนโลกโซเชียลเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง เพราะท่านนายกไม่ได้กล่าวถึง ‘วิธีการ’ ที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้เลยว่าจะเปิดประเทศได้จริง
“การเปิดประเทศใน 120 วัน ที่นายกฯ แถลงเป็นเพียงแค่หลักการ ไม่ใช่เรื่องกดปุ่ม ไม่ใช่เรื่องการเคาท์ดาวน์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงหลังจากนายกฯ ประกาศ 1 วัน
รองนายกรัฐมนตรีก็ออกมาให้ข่าวต่ออีกว่า ให้เริ่มนับวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นะ ซึ่งยิ่งพูด ยิ่งสร้างความสับสนประชาชน
แล้วที่บอกว่าเปิดประเทศใน 120 วัน มันเป็นไปได้นี่ต้องทำยังไง ผมจะขอแชร์ไอเดียให้ฟังกัน
ณ วันที่กำลังเขียนบทความนี้ (วันที่ 19 มิถุนายน 2564) ซึ่งระบบ ‘คัดกรองเชิงรุกแบบดิจิทัล’ ที่กลุ่มสตาร์ตอัปเป็ดไทยสู้ภัย ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรมควบคุมโรค ช่วยกันสร้างขึ้นนั้นสามารถค้นพบ ’คลัสเตอร์เกิดใหม่’ สะสมกว่า 100 คลัสเตอร์แล้ว ภายในระยะเวลา 20 วันที่ผ่านมา
“ถึงแม้มิใช่เรื่องที่น่ายินดีแต่อย่างไร แต่รู้ย่อมดีกว่าไม่รู้ และในเมื่อเราสามารถค้นพบคลัสเตอร์เกิดใหม่ได้แต่เนิ่นๆ เราก็น่าจะหาวิธีจัดการหยุดคลัสเตอร์ได้ด้วยเช่นกัน”
จึงเป็นที่มาของการเสนอมาตรการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ด้วยแผนการ 5 ขั้น
- เมื่อพบคลัสเตอร์เกิดใหม่ ต้องรีบรายงานให้เร็วที่สุด
- ส่งทีมลงพื้นที่คลัสเตอร์เพื่อสอบสวนโรคให้เร็วที่สุด
- ตรวจเชิงรุกเพื่อคัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากคลัสเตอร์ และนำเข้าสู่การรักษา
- คนที่ไม่ติดเชื้อให้ฉีดวัคซีนที่สามารถสร้างภูมิได้รวดเร็วหลังฉีดเข็มแรก เช่น แอสตราเซนเนกา (AstraZeneca)
- ปิดล้อมพื้นที่ กักตัวคนที่ยังไม่ติดเชื้อ เฝ้าระวังสังเกตอาการ รอภูมิคุ้มกันขึ้น หยุดการแพร่กระจาย
ตอนแรกที่เราคิดมาตรการนี้ขึ้นมาก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่า สิ่งที่เราคิดจะถูกต้องไหม แต่เมื่อได้ปรึกษากับคุณหมอไผท สิงห์คำ (หมอไผ่) แพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมด้านสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ท่านก็ให้ความเห็นว่ามาตรการ ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’ นี้น่าจะช่วยลดการแพร่กระจายของคลัสเตอร์ได้
และยิ่งได้ฟัง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบทออกมาให้สัมภาษณ์กับคุณสรยุทธในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เรายิ่งมั่นใจว่าเรามาถูกทาง
โดยชมรมแพทย์ชนบทเสนอให้ระดมวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนในจังหวัดที่ระบาดหนักที่สุดก่อน ด้วยหลักการ “กระสุนมีจำกัด หยุดระบาดโควิดให้ตรงจุด” ฉะนั้น ควรนำวัคซีนที่มี เลือกเป้ายิงให้ชัดเจน โดยการนำวัคซีนแอสตราเซนเนกาทั้งหมดราว 1.8 ล้านโดส ที่ผลิตได้จากสยามไบโอไซเอนซ์ในเดือนมิถุนายนนี้ เทหมดหน้าตักถมลงที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3 จังหวัด คือกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ
“หยุดระบาดโควิดให้ตรงจุด ถมวัคซีนแอสตราฯ หมดหน้าตักที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล”
ซึ่งรัฐบาลก็รับฟังและรับลูก จึงเป็นที่มาของการเทโควต้าวัคซีนส่วนใหญ่ในล็อตแรกลงที่กรุงเทพฯ ตามมาด้วยการเปิดช่องทางรับลงทะเบียนเพิ่มอีกหลากหลายช่อง ทั้งไทยร่วมใจ ทั้งประกันสังคม เพื่อเร่งฉีดวัคซีนในกรุงเทพให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด
“แต่นั่น กลับเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ยิงกระสุนไม่ตรงเป้า ทั้งที่กระสุนมีจำกัด”
ทำให้เราได้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิด คือกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยเจ็ดโรคเสี่ยงที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม ถูก ‘แซงคิว’ จากกลุ่มคนที่ถนัดด้านเทคโนโลยี ลงทะเบียนเก่ง และลงมันทุกช่องทาง
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบทต้องออกมาให้สัมภาษณ์กับคุณสรยุทธซ้ำอีกรอบว่า
“เทวัคซีนลงที่กรุงเทพน่ะมาถูกทางแล้ว แต่ดันไปฉีดผิดกลุ่ม ไม่จัดลำดับความสำคัญ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดควรจะได้รับวัคซีนก่อน เช่น กลุ่มคลัสเตอร์ทั้งหลาย ไม่ใช่กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ลงทะเบียนผ่านสารพัดแอปฯ เก่งที่สุด”
ยิ่งในช่วงเวลาที่เรายังมีวัคซีนจำนวนจำกัดเช่นนี้ การจัดลำดับความสำคัญ การบริหารจัดการให้การจัดสรรและการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งดูเหมือนภาครัฐจะขาดทั้งสองทักษะนี้
การจัดลำดับความสำคัญการฉีดวัคซีน ควรเป็นดังนี้
- กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้า เช่น อสม. กลุ่มนี้ต้องได้ก่อน
- กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยเจ็ดโรคเสี่ยง
- กลุ่มคลัสเตอร์โรคระบาด และชุมชนรอบบริเวณ
- กลุ่มประชาชนทั่วไป
และเราต้องบริหารจัดการให้การฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผนนี้ ไม่ควรเกิดกรณีที่ประชาชนทั่วไปที่มีความเสียงต่ำ ได้รับวัคซีนก่อนสามกลุ่มแรก พูดง่าย ทำยาก แต่ทำได้
ย้อนเวลากลับไปประมาณหนึ่งเดือนก่อน หลังการที่เราเปิดระบบคัดกรองเชิงรุกแบบดิจิทัลมาได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ บ่ายวันหนึ่งคุณนิโรจน์ หรือตี๋เล็ก มือทำงานหลักของ True Health หนึ่งในสตาร์ตอัปด้าน TeleConsult ในทีมเป็ดไทยสู้ภัยได้ทักไลน์ส่วนตัวผมมาด้วยความร้อนใจ
นี่เป็นครั้งแรกที่ทำให้เราตระหนักว่า ระบบคัดกรองเชิงรุกแบบดิจิทัลสามารถค้นพบคลัสเตอร์เกิดใหม่ได้ ซึ่งคลัสเตอร์แรกที่เราค้นพบโดยบังเอิญนี้ ผู้ที่โทรเข้ามาที่ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค เป็นหนึ่งในคนงานที่ติดเชื้อแล้วของอาคารก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “แคมป์นนท์” ซึ่งนายจ้างแจ้งให้คนงานที่มีอาการแยกย้ายกันไปตรวจเอง
ผมนึกอะไรไม่ออก เลยรีบรายงานเรื่องไปที่หมอติ๋ง หรือพญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กับ ดร. ก้อง หรือพณชิต กิตติปัญญางาม ซีอีโอของสตาร์ตอัปชื่อ Ztrus หัวหน้าทีมเป็ดไทยสู้ภัย ซึ่ง ดร.ก้อง ก็รีบโทรหานพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ หรือหมอเอ้ก หนึ่งในคณะทำงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งเคสเป็นการด่วน
สี่วันต่อมา วันที่ 24 พ.ค.2564 ศบค. ได้แถลงว่า หลังจากที่ได้ทำการตรวจคัดกรองเชิงรุกแคมป์คนงานก่อสร้าง อาคารรัฐสภาแห่งใหม่หรือ ‘แคมป์นนท์’ ไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 64 จำนวน 900 คน ผลตรวจออกมาว่าพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 519 คน ซึ่งระบบเราสามารถค้นพบคลัสเตอร์นี้ได้ตั้งแต่วันที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อ 4 คนเท่านั้น
และนี่คือพลังของระบบคัดกรองเชิงรุกแบบดิจิทัล ซึ่งด้วยวิธีคิดแบบสตาร์ตอัปบวกกับอำนาจของภาครัฐ เราเชื่อว่า เราน่าจะสามารถสร้างโมเดลในการจัดการคลัสเตอร์เกิดใหม่ ที่สามารถทำซ้ำได้ และขยายผลได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด
ผมนึกถึงสมัยที่เล่นเกมส์ Starcraft ช่วงวัยรุ่น ที่เหล่าผู้เล่นจะมีหลักการว่า ถ้าคู่แข่งเรากำลังเริ่มสร้างฐานทัพใหม่ เราต้องส่งทัพหลวง ขนอาวุธและกองกำลังทั้งหมดที่มี รีบบุกไปจัดการทำลายฐานทัพใหม่ให้สิ้นซาก ก่อนที่ฐานใหม่จะแข็งแกร่งมากไปกว่านี้
และตอนนี้เจ้าไวรัสโควิด-19 ก็กำลังสร้างฐานทัพใหม่ (คลัสเตอร์เกิดใหม่) อย่างต่อเนื่องอยู่เสียด้วย
“สถานการณ์ตอนนี้ เหมือนไฟกำลังไหม้กรุงเทพอยู่ แต่ระบบเรามันเห็นตั้งแต่ ตอนที่มันเพิ่งเริ่มมีควัน เพิ่งจะเริ่มไหม้ใหม่ๆ อยู่เลย” ดร.ก้อง พูดขึ้นมาในโทรศัพท์ ระหว่างที่หารือเรื่องการจัดการคลัสเตอร์เกิดใหม่
“เออ เป็น Analogy ที่ดีนะ ไฟกำลังไหม้กรุงเทพ คนทั่วไปน่าจะเข้าใจง่ายดี” ผมตอบกลับไป
“บ้านบางหลังเรานั่งดูมันตั้งแต่ตอนเริ่มมีแค่ควัน ยังไม่ทันไหม้เลย จนตอนนี้มันไหม้ไปแล้วครึ่งหลัง โดยที่เราทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่ยืนมองอย่างเดียว”
“เจอไฟไหม้ เราก็รีบเอาน้ำไปดับสิ น้ำก็คือวัคซีน และต้องเป็นวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันได้รวดเร็วหลังฉีดเข็มแรกด้วยนะ ไม่งั้นจะช้าเกินไป คนในคลัสเตอร์ที่ถูกกักตัวอาจอดตายก่อน เพราะออกไปทำมาหากินไม่ได้”
“ใช่เลย ระดมฉีดวัคซีนที่คลัสเตอร์เกิดใหม่นี่ล่ะคือทางออก และถ้าเราสามารถทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นการสร้างความรับรู้ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวไร้สิทธิ์ ว่าไม่ต้องกลัวถูกจับ ไม่ต้องหนีออกนอกพื้นที่ ให้ความร่วมมือรับการตรวจ รีบรักษา รีบรับวัคซีน รีบหาย กลับมาทำงานต่อได้เร็ว”
คงจำเป็นต้องขอกล่าวถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกเรียกว่า ‘แรงงานไร้สิทธิ์’ นี้เป็นพิเศษหน่อย เพราะกลุ่มนี้คือรากเหง้าของปัญหาการแพร่กระจายโรคตอนนี้
ที่เรียกว่า ‘ไร้สิทธิ์’ ก็เพราะว่าคนเหล่านี้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีประกันสังคม ไม่มีประกันสุขภาพอะไรทั้งสิ้น และมักจะหลบหนีเมื่อเกิดการแพร่ระบาด และปิดกั้นพื้นที่ กลัวถูกจับ กลัวไม่มีงานทำ กลัวต้องออกค่ารักษาเอง ซึ่งแรงงานต่าวด้าวจะหนีไปอยู่กับเพื่อนที่แคมป์อื่นหรือชุมชนอื่่น อย่างที่ชมรมแพทย์เคยเล่าว่า เคสผู้ติดเชื้อต่างจังหวัดก็อิมพอร์ตจากกรุงเทพฯ มาทั้งนั้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เชื้อแพร่กระจายขยายไปในวงกว้าง และไม่มีที่สิ้นสุด
การล้อมรั้วเพื่อปิดกั้นคนในพื้นที่คลัสเตอร์ให้อยู่กับที่ ไม่สามารถทำได้จริง เพราะหลายชุมชนเป็นลักษณะพื้นที่เปิด มีทางเข้าออกหลายทาง ลำพังกำลังคนของ กทม. อสม. บุคลากรทางการแพทย์ก็มีไม่เพียงพอ แถมไม่มีอำนาจในการสั่งปิดกั้น ห้ามมิให้คนในคลัสเตอร์โรคระบาดเข้าหรือออก ทำให้ยังมีเคสผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะพ้นระยะฟักตัวโรค 14 วันไปแล้วก็ตาม
และเนื่องจากคนในคลัสเตอร์ที่มักจะเป็นชุมชนแออัดหรือแคมป์คนงาน ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าจ้าง ค่าปรับจากการส่งมอบงานล่าช้า และอื่นๆ อีกมากมาย ยิ่งบังคับให้เขาจำเป็นต้องหาทางออกนอกพื้นที่เพื่อทำงานหาเงิน มาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ทำให้ไม่สามารถจำกัดวงผู้ติดเชื้อ ผู้สัมพัสโดยตรง ให้อยู่กับที่ได้
ซึ่งปัญหาเรื่องการบรรเทาทุกข์คนในคลัสเตอร์ที่ถูกปิดกั้นนั้น มีโครงการหนึ่งที่ผุดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากพิษโควิด-19 นำทีมโดยผู้กำกับหนุ่ม คุณชายอดัม หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล หัวเรือใหญ่ โครงการ ‘ต้องรอด Up for Thai’ ซึ่งช่วยระดมจิตอาสา และเงินบริจาค เพื่อส่งข้าวส่งน้ำ สิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้กับชุมชนที่ถูกปิดกั้นต่างๆ โดยทำอาหารเลี้ยงคนกว่า 50,000 คนต่อวัน วันจะสามมื้อ ซึ่งถือเป็นการรวมตัวภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้
“ประเด็นแรงงานต่างด้าวนี้ หากรัฐตึงเกินไป ด้วยการประกาศว่า นายจ้างแรงงานต่างด้าว มีความผิด มีโทษปรับ (ผิดซ้ำมีโทษจำคุก) มีค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาต และค่าประกันสุขภาพ ตกหัวละ 9,000 บาท ทั้งนายจ้างและลูกจ้างก็จะยิ่งหลบหนี ไม่ส่งตัวเข้าตรวจและรับการรักษา แต่หากหย่อนเกินไปก็อาจทำให้เปิดปัญหานำเข้าแรงงานต่างด้าว เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ สร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุขไทย”
ถ้าจะว่าไป กลุ่มแรงงานต่างด้าวไร้สิทธิ์ก็เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายโรคสูงที่สุด แต่ถ้าเราฉีดวัคซีนให้กลุ่มนี้ก่อน คนจะรับได้ไหม เป็นคำถามที่ชวนให้ทุกคนคิดตาม ว่าถ้าคุณเป็นผู้มีอำนาจรัฐบ้าง คุณจะตัดสินใจอย่างไร?
“แต่เราจะไปหาวัคซีนมาได้จากที่ไหน ตอนนี้วัคซีนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และพวกแรงงานต่างด้าวพวกนี้ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง และไม่ไปโพสต์ด่าตามโซเชียลเสียด้วย จะมีคนมาสนใจเหรอ”
เราจบบทสนทนาแบบไร้ความหวัง
ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน พวกเราพยายามชงเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เรารู้ว่ามีโควต้าวัคซีนอยู่ในมือ แต่ทุกครั้งที่เราชงเรื่องเข้าไป ก็ได้รับแต่ความเงียบกลับมาเป็นคำตอบ
ทั้งที่หลายหน่วยงานก็มีการกันโควตาไว้สำหรับวัตถุประสงค์นี้อยู่แล้ว เช่น ศบค. เองก็ประกาศว่า กันวัคซีน 10 เปอร์เซ็นต์ ไว้สำหรับพื้นที่คลัสเตอร์ระบาดอยู่แล้ว หรือราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็มีเงื่อนไขให้เอกชนที่สั่งซื้อวัคซีน Sinopharm จะต้องบริจาคอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส
ปัจจุบัน ระบบคัดกรองเชิงรุกแบบดิจิทัลทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถค้นพบคลัสเตอร์เกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากหลายภาคส่วน ทำให้ปัจจุบันเรามีจิ๊กซอว์เกือบครบทุกตัวที่จะดำเนินการตามมาตรการ ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’ แล้ว ขาดเพียงสองเรื่องเท่านั้นคือ 1) วัคซีน 2) หน่วยงานความมั่นคงที่ช่วยปิดล้อมพื้นที่คลัสเตอร์
ตอนนี้ถามว่าเรารู้ไหมว่าพื้นที่ไหนกำลังมีคลัสเตอร์เกิดใหม่ เราก็รู้
มีทีมลงพื้นที่สอบสวนโรคไหม ตอนนี้ทีม กทม. ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
มีทีมพร้อมลงตรวจเชิงรุกไหม เราจะมีทั้งทีม ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ของกรุงเทพฯ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ของกรมควบคุมโรค
มีทีมพร้อมฉีดวัคซีนไหม เราก็มีทีมโรงพยาบาลเอกชนที่พร้อมจะส่งทีมแพทย์พยาบาลมาช่วย
เรียกได้ว่า หากวันนี้เราสามารถบุกเข้าไปที่คลังเก็บวัคซีนได้ เราก็พร้อมที่จะปฏิบัติการตามแผน ‘ต้ดไฟแต่ต้นลม’ ได้ทันที
ท้ายสุดนี้ พวกเราอย่าหลงไปมุ่งเป้ากับการเปิดประเทศใน 120 วัน มาก จนมองข้ามอัตราการเสียชีวิตรายวันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ในขณะที่เขียนบทความนี้ คือวันที่ 20 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 20 คน นั่นแปลว่า ทุก 72 นาที จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน ซึ่งการมุ่งลดอัตราการเสียชีวิต ด้วยการระดมฉีดวัคซีนที่คลัสเตอร์เกิดใหม่จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยอาการหนักที่โรงพยาบาล นี่ต่างหากที่ควรเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดที่พวกเราจะช่วยกันทำให้สำเร็จ
จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านนายกฯ โปรดพิจารณาครับ
กลุ่มสตาร์ตอัปเป็ดไทยสู้ภัย