เลือกตั้งครั้งนี้ต้องโปร่งใส! Meta เข้มมาตรการปกป้องการเลือกตั้ง เตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้งใหญ่ในเดือนหน้า
ใกล้ถึงวันเลือกตั้งเข้ามาทุกที ในวันนี้ Meta ได้แชร์ความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ชุมชนในประเทศไทย พร้อมแนวทางการปกป้องการแทรกแซงและส่งเสริมความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้
โดย Meta ได้เปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้แบบออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับพื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (International Fact Checking Network หรือ IFCN) ที่ให้บริการใน 15 ภาษา รวมถึงภาษาไทย
“การเลือกตั้งทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต Meta ได้ยกระดับและต่อยอดจากประสบการณ์การทำงานระดับโลก พร้อมรับฟังและเรียนรู้จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงและสนับสนุนความโปร่งใสในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย เราตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของเราในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของคนไทย และลดความเสี่ยงในการแทรกแซงกระบวนการการเลือกตั้งบนแพลตฟอร์มของเรา”
แคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Meta ประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กล่าว
Meta ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการเลือกตั้งทั่วโลก พร้อมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้คนทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก ผ่านการจัดสรรทรัพยากรบุคคลกว่า 40,000 อัตราในการทำงานเชิงรุกด้านความปลอดภัยและความมั่นคงไซเบอร์ โดยในปี 2564 ได้ลงทุนด้วยงบประมาณมูลค่าราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต่อสู้กับการแทรกแซงจากต่างชาติและขบวนการสร้างอิทธิพลภายในประเทศ รวมไปถึงการลดปริมาณข้อมูลเท็จและต่อสู้กับการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ์สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย
ในประเทศไทย Meta ได้จัดเตรียมทีมงานเพื่อดำเนินการด้านการเลือกตั้งโดยเฉพาะ โดยใช้เทคโนโลยี AI ที่เข้าใจภาษาท้องถิ่นเพื่อตรวจจับและกำจัดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ในเชิงรุก รวมถึงการกลั่นแกล้ง (bullying) การล่วงละเมิด (harassment) และเนื้อหาที่ละเมิดนโยบายความรุนแรงและการยั่วยุในมาตรฐานชุมชนของ Meta ซึ่งถูกบังคับใช้ในชุมชนระดับโลกของ Meta ทั้งหมด
นอกเหนือจาก โครงการ We Think Digital Thailand ซึ่งเป็นโครงการเรือธงสำหรับประเทศไทยของ Meta ที่มุ่งสนับสนุนความรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้เปิดตัวในไปปี พ.ศ. 2562 โดย ได้มีความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรภาคีในประไทยแล้วกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อร่วมผลักดันให้คนไทยมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบในชุมชนของเรา มีผู้เข้าถึงข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ภายใต้โครงการแล้วกว่า 32 ล้านคนแล้ว
Meta ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร 8 หน่วยงาน ซึ่งรวมถึงสถานศึกษาท้องถิ่น สื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ เพื่อเปิดตัวแคมเปญ #โซเชียลด้วยใจ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ในปัจจุบัน และวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนมีความระมัดระวังในการปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งยังให้ข้อมูลพร้อมเกร็ดความรู้สั้น ๆ และกระตุ้นการยอมรับความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ (empathy)
นอกจากนี้ นโยบายเพื่อป้องกันการแทรกแซงผู้ใช้สิทธิ์ของ Meta ยังไม่อนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหา
ที่เป็นอันตรายหลายประเภทที่ส่งเสริมให้เกิดการแทรกแซงหรือสกัดกั้นการลงคะแนนเสียง เช่น การบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับวันที่ สถานที่ เวลา และวิธีการในการลงคะแนนเสียงหรือการลงทะเบียนเลือกตั้ง หรือข้อเสนอในการซื้อขายเสียงด้วยเงินสดหรือของกำนัลต่าง ๆ
“การทำงานร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเราเชื่อว่าการเสริมสร้างสังคมดิจิทัลที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนและการเชื่อมต่อผู้คนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์จะต้องมาจากความพยายามร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และภาครัฐ เรามีความมุ่งมั่นในการสานต่อโครงการเพื่อให้ความรู้และส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้งานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ชาวไทยเข้าใจนโยบายของเราได้ดียิ่งขึ้น และใช้พลังของเทคโนโลยีเพื่อการมีส่วนร่วม”
อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าว