Type to search

‘อินเดีย’ ผงาดชาติประชากรมากที่สุดในโลก ‘ไทย’ ถูกขนาบด้วยสองมหาอำนาจยุคใหม่

January 11, 2023 By Future Trends

‘Future Trends: Forward’ ซีรีส์บทความรับปีใหม่ มองไปข้างหน้าในปี 2023 ทั้งทางธุรกิจ เทคโนโลยี การทำงาน และเหตุการณ์รอบโลก เพื่อคาดการณ์เทรนด์สำคัญที่รออยู่ในอนาคต

ปี 2023 ‘อินเดีย’ จะได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์โลกในฐานะชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเป็นครั้งแรก หลังจาก ‘จีน’ ครองตำแหน่งนี้มายาวนานหลายร้อยปี

องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดว่า ในวันที่ 14 เมษายนนี้ ประชากรอินเดียจะมีจำนวนอยู่ที่ 1,425,775,850 คน และแซงจีนขึ้นเป็นชาติที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ก่อนหน้านี้ จีนครองแชมป์ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1750 โดยประเมินว่า ปีนั้นจีนมีประชากรทั้งหมด 225 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลก ส่วนอินเดีย (ก่อนแยกประเทศกับปากีสถาน) ในปีเดียวกัน มีประชากรแค่ประมาณ 200 ล้านคน

ตัวเลขประชากรอินเดีย ที่จะแซงหน้าจีนครั้งแรกในปีนี้ แม้อาจยังไม่ส่งผลกระทบด้านใดให้เห็นชัดเจนทันที แต่จะเป็นสัญญาณที่ชี้ถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของอินเดียบนเวทีโลก

อินเดียหลังโค่นแชมป์จากจีน

บทบาทแรกที่อินเดียอาจเคลื่อนไหว คือ การขอเข้าไปนั่งเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่งคงของ UN ซึ่งจีนเป็น 1 ใน 5 เสือขององค์กรทรงอำนาจมากที่สุดใน UN หน่วยงานนี้ ร่วมกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย

นอกจากนี้ อินเดียยังอาจช่วยลดปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากคาดว่า ชาวอินเดียในวัยแรงงาน (อายุ 15 – 64 ปี) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างปี 2023 – 2050 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 6 ของวัยแรงงานทั่วโลก

ในทางตรงข้าม ประชากรของจีน มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขคนจีนในวัยแรงงานผ่านจุดสูงสุดมาแล้วนับสิบปี และภายในปี 2050 ค่ามัธยฐานของอายุชาวจีนจะอยู่ที่ 51 ปี สูงขึ้นกว่าปัจจุบันถึง 12 ปี ทำให้คนจีนยิ่งแก่ตัวไปอาจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาสถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจบนเวทีโลกในระดับปัจจุบันให้คงอยู่ต่อไป

ส่วนอินเดีย ปัจจุบันมีค่ามัธยฐานอายุประชากรอยู่ที่ 28 ปี และมีประชากรวัยแรงงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นถือเป็นโอกาสดีในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ

ผงาดมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ล่าสุด อินเดียเพิ่งแซงหน้าอังกฤษ ขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และ ‘สเตท แบงก์ ออฟ อินเดีย’ คาดว่า เศรษฐกิจของแดนมหาภารตะ จะเติบโตติดอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และจีน ได้ภายในปี 2029

การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความสามารถของอินเดียในการเอาตัวรอดจากปีที่เลวร้ายอย่างปี 2022 มาได้แบบไม่บอบช้ำ แม้ทั่วโลกจะเผชิญวิกฤตพลังงานและภาวะเงินเฟ้อสูงจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอินเดียใช้มาตรการเปิดประเทศ เลิก ‘ล็อกดาวน์’ และให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติไวกว่าชาติอื่น 

ปี 2023 คาดว่า เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโต 6.1 เปอร์เซ็นต์ โดยได้อานิสงส์จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ชาติตะวันตกทยอยถอนการลงทุนจากจีน และหันมาตั้งโรงงานในอินเดียแทน

นอกจากนี้ การลงทุนภายในประเทศ จากบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่หันมาเพิ่มการลงทุนในพลังงานสะอาด ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใน 14 ภาคอุตสาหกรรมสำคัญ รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์ อากาศยานไร้คนขับ และแบตเตอรี จะช่วยทำให้เศรษฐกิจอินเดียยังคงคึกคัก

ส่วนปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ของอินเดียในปีนี้มี 3 เรื่อง คือ ค่าครองชีพทั่วภูมิภาคที่สูงขึ้น สภาพภูมิอากาศที่คาดเดาได้ยากมากขึ้น และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเขตแดนกับจีน

ไทยขนาบข้างด้วยสองมหาอำนาจ

สิ่งที่อินเดียยังต้องพัฒนา หากอยากผงาดเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทัดเทียมจีน คือ การพัฒนาความรู้และความสามารถของคนในวัยแรงงาน เนื่องจากปัจจุบัน ชาวจีนอายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนมากกว่าชาวอินเดียวัยเดียวกันเฉลี่ย 1.5 ปี

นอกจากนี้ ชาวอินเดียวัยผู้ใหญ่ยังมีจำนวนไม่ถึงครึ่งที่อยู่ในตลาดแรงงาน เปรียบเทียบกับจีน ซึ่งมีวัยหนุ่มสาวมากถึง 2 ใน 3 ออกมาทำงานช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ทั้งจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ล้วนกลายเป็น หรือจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจแห่งโลกยุคใหม่ ส่วนประเทศไทย ซึ่งอยู่ตรงกลาง และรับเอาวัฒนธรรมของทั้งสองชาติมาตั้งแต่สมัยโบราณ คงต้องจัดวางยุทธศาสตร์ของตัวเองในยุคสมัยนี้ให้ดี

เนื่องจากเป็นยุคที่โลกแบ่งขั้ว และความขัดแย้งปะทุขึ้นได้ง่าย หากกำหนดยุทธศาสตร์ได้ถูกต้อง ไทยอาจได้ประโยชน์มหาศาลจากการมีชัยภูมิที่ดี แต่ถ้าเกิดผิดพลาด การถูกขนาบข้างด้วยมหาอำนาจ อาจทำให้พื้นที่ตรงกลางลุกเป็นไฟ และเผาทุกอย่างให้มอดไหม้ได้อย่างรวดเร็ว

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Sources: https://bit.ly/3vNfRaA

https://bit.ly/3CsHLMz