ความลับสุดขอบฟ้าที่เรียกว่า “สลิปเงินเดือน”
คอลัมน์: TalkกะTips
เขียน: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
เรื่องหนึ่งที่เราเซ็นสัญญาเริ่มงานกับบริษัทปุ๊บทางเอชอาร์ก็จะแจ้งเราทันทีก็คือ “เงินเดือนนั้นเป็นความลับ” ซึ่งส่วนมากก็จะใส่ซองสีน้ำตาลปิดผนึกมาอย่างเรียบร้อย เรียกได้ว่าเป็นความลับสุดขอบฟ้า ยิ่งกว่าอัลบั้มของ ใหม่ เจริญปุระเลยทีเดียว แต่ทีนี้มันก็ยังมีการหลุดเล็ดรอดออกมาบ้างก็หลุดในวงเหล้า บ้างก็มีถามกันว่าได้เท่าไหร่ แล้วเงินเดือนนั้นเป็นความลับจริงหรือไม่?
หลายครั้งที่ปัญหาความสัมพันธ์ในองค์กรเกิดจากการรั่วไหลของความลับข้อมูลเงินเดือน
ประเภทที่ว่าพอไปรู้รายได้ของเพื่อนร่วมงานแล้วเกิดการเปรียบเทียบกับตัวเอง บ้างก็บ่นกระปอดกะแปดน้อยใจในชะตากรรมว่าชั้นทำงานหนักกว่าเธอ แต่ทำไมเธอถึงได้เงินเดือนมากกว่าชั้นล่ะ ถ้าน้อยเนื้อต่ำใจอยู่คนเดียวก็อาจจะยังไม่สร้างความวุ่นวายมาก แต่บางครั้งพอมีใครหยิบยกขึ้นมาคุยกันแล้วบรรยากาศแห่งมิตรภาพก็เปลี่ยนเป็นมาคุยในทันที
สำหรับผมที่เคยเป็นเอชอาร์มาก่อนมักจะกำชับเรื่องนี้มาก แม้กระทั่งเอชอาร์ด้วยกันเองก็ยังไม่มีใครรู้เงินเดือนกันเอง หรือจะรู้ก็เพราะเป็นหน้าที่เท่านั้น (ยังคุยกันเล่นๆว่าถ้าจะมีใครที่น้อยใจเรื่องเงินเดือนที่สุดน่าจะเป็นเอชอาร์นี่ล่ะ รู้ของทุกคนหลายคนก็มากกว่าเรา) แต่ใน “จรรยาบรรณ” ของเอชอาร์ที่เราเซ็นรับรองเมื่อเข้ามาทำงานนั้นเรื่องนี้ถือว่าคอขาดบาดตายมากๆ เราจะรู้ฐานเงินเดือนเก่าของผู้สมัครและเงินเดือนที่พวกเขาเรียกร้องเพียงเท่านั้น ซึ่งการพิจารณาอนุมัติเรียกว่าอยู่กับผู้มีอำนาจพิจารณา และเรามีหน้าที่แจ้งให้ทราบในวันที่มาทำสัญญาเท่านั้น
ดังนั้นสลิปเงินเดือนจึงถูกปิดผนึกด้วยกระดาษคาร์บอนอย่างดี เพื่อให้เรารับรู้แต่เพียงผู้เดียว
เพื่อนบางคนกับที่บ้านหรือครอบครัวยังไม่บอกเงินเดือนแบบเป๊ะๆเลยอาจจะบอกกว้างๆเช่น ประมาณเกือบสามหมื่น อะไรแบบนี้เป็นต้น แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะถึงเกิดความสบายใจกับตัวเอง ง่ายที่สุดก็คือเมื่อไปสัมภาษณ์งานและต่อรองเงินเดือนหลายคนมักจะตอบรับไปก่อนเพื่อให้ได้งานโดยที่ไม่มั่นใจว่าเงินเดือนที่เราเรียกร้องไปเหมาะกับความสามารถและจำนวนงานที่เรารับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งจริงๆเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เราควรเสนอเรตเงินเดือนที่เราพอใจและเมื่อเกิดการต่อรองเราก็ควรตกลงในเรตที่เรารับได้ จะได้ไม่เกิดการน้อยเนื้อต่ำใจภายหลัง
พอเราเริ่มงานไปเราก็พยายามทำงานให้เต็มที่เพื่อที่จะมีโอกาสเติบโตในสายงาน ดีกว่าไปไล่หาข้อมูลว่าคนในแผนกเรานั้นได้เงินเดือนกันเท่าไหร่แล้วเอามาเปรียบเทียบกับตัวเองให้รู้สึกแย่ หรือถ้าเกิดความรู้สึกว่าถ้าองค์กรดังกล่าวไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้เท่าที่กับที่เราคาดหวังจะได้รับทำงานไปสักพักตำแหน่งตัน ก็ต้องเริ่มขยับขยายหามองโอกาสที่เหมาะสมในการย้ายงาน ซึ่งเมื่อเรากลับสู่ตลาดแรงงานอีกครั้งเมื่อนั้นเราจะรู้มูลค่าที่แท้จริงของเรา โดยอาจจะเสนอเรตที่เราคาดหวังให้กับที่ใหม่ที่ออฟฟิศเก่าไม่สามารถให้ได้ แล้วก็ตกลงตัดสินใจกันอีกครั้งหนึ่ง วนลูปไปแบบนี้จะดีกว่า
เพราะสำหรับบางที่ถ้าความลับเรื่องเงินเดือนรั่วไหลไปแล้วในเอกสารที่เราเซ็นตอนทำสัญญามีกฎระเบียบเรื่องนี้จริงจัง อาจจะถูกเลิกจ้างได้ ไม่คุ้มเลยครับ