Type to search

พลิกวิธีคิดรับสมัครงาน เป็นรับสมัครเจ้านายจำนวนหลายอัตรา

August 23, 2019 By Future Trends

คอลัมน์: สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก
เขียน: โอมศิริ วีระกุล

ผมบังเอิญได้อ่านข่าวข่าวนึง เป็นข่าวที่ชวนตะลึงในความสามารถพร้อมกับความประมาทที่พ่วงมาด้วยอย่างไม่คาดคิด จากโปรแกรมเมอร์ในบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งเขามีความชำนาญในการเขียนโค้ดมาก

ความฉลาดอันเหนือชั้นของเขาคือการเขียนโค้ดโปรแกรมบอท (หุ่นยนต์) ให้มาทำงานแทนที่เขาเอง รวมเวลากว่า 5 ปี เศษ จากระยะเวลาทั้งหมด 6 ปี จากเนื้อข่าวแล้วสรุปว่าพี่โปรแกรมเมอร์คนนี้ทำงานประมาณ 8 เดือนเศษเท่านั้น!

ผลลัพธ์คือเขานำเวลาที่เหลือตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีเศษ ไปสนองความบันเทิงให้ตัวเองในเวลางานอย่างการเล่นเกม ไปออกกำลังกาย และแฮงค์เอ้าท์หลังเวลาเลิกงานในสถานที่ที่เขาอยากสังสรรค์โดยที่ไม่ต้องกังวลว่างานจะไม่เสร็จ (ชิลมากก)

ในที่สุดผลลัพธ์อันโหดร้ายก็วนกลับมาทำร้ายโปรแกรมเมอร์คนนี้ นั่นคือ เขาลืมวิธีการเขียนโค้ดโปรแกรมไปเกือบหมด เพราะไม่ได้หมั่นฝึกฝนหรือเรียนรู้เพิ่มเติม จนเขาก็ต้องกลับไปฝึกฝนและเรียนรู้เพิ่มเติมให้ทักษะที่เคยเก่งกาจกลับมาอีกครั้ง

เรื่องที่ผมเขียนเล่านั้นไม่ได้อยากให้คุณผู้อ่านเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผมเองไม่แน่ใจว่าข่าวนี้จริงเท็จแค่ไหน แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุของการใช้ชีวิตที่ประมาทต่างหาก ขนาดคนเก่งๆ ยังมีสิทธิ์ติดกับดักกับความสามารถของตัวเองได้เลย แล้วคนปกติอย่างเราจะเหลืออะไร

การจัดการกับความสามารถของตัวเองนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องคอยระมัดระวังอยู่เสมอ ซึ่งต้องแข่งกับปัจจัยภายในนั่นคือตัวเราที่ต้องขวนขวายหาความรู้และทักษะเพิ่มเติม รวมถึงปัจจัยภายนอก อย่างคู่แข่งคนอื่นๆ ที่อยู่ในสายงานเดียวกับเราอีก อ่านแล้วเหนื่อยหน่ายใจไหมครับ

นอกจากความสามารถที่ต้องรักษาการทำงานไม่ให้หลุดฟอร์มแล้ว วิธีคิดในการใช้ความสามารถให้คนอื่นเห็นคุณค่าและความโดดเด่นก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยวิธีคิดในการขับเคลื่อนออกมาเช่นกัน ลองคิดถึงสถานการณ์ที่คนทำงานล้วนเคยมีประสบการณ์ร่วมกันมาอย่างการสมัครงานทางโซเชียลเน็ตเวิร์กสิครับ นอกจากการเขียนประวัติและส่งไปยังบริษัทที่เราสนใจแล้ว ขั้นตอนที่ลุ้นระทึกต่อไปคือ การรอคอยและลุ้นว่าจะมีทรัพยากรบุคคลมาเปิดไฟล์สมัครงานของเราหรือเปล่า และอีกนานแค่ไหนที่เราจะได้อีเมลตอบรับเพื่อเรียกเข้าไปสัมภาษณ์

หากคุณผู้อ่านถามว่าฉันจะรออีกนานแค่ไหน แล้วจะมีวิธีแก้ไขปัญหาที่ยกมาในเบื้องต้นได้อย่างไร ลองไปติดตามอ่านเรื่องราวของนักการตลาดหญิงที่ชื่อว่า ซูซาน วี ลูอิส กันครับ

ซูซานก็เคยประสบปัญหาในการแข่งขันสมัครงานเหมือนพวกเรานั้นแหละ ทว่าเธอมีวิธีคิดที่น่าสนใจพอควรเลยทีเดียว

วิธีของซูซานคือพลิกวิธีคิดโดยการเปลี่ยนโจทย์จากการล่างาน เป็นการล่านายจ้างแทน เธอใช้วิธีเหมือนบริษัททั่วไปที่รับสมัครคือการใช้เว็บไซต์เป็นตัวกลางในการสื่อสาร เธอโพสต์ประวัติการทำงานและข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้ พร้อมทั้งอธิบายว่าเธอทำอะไรได้บ้าง และกำลังมองหาอะไร จากนั้นพ่วงมาด้วยประโยคว่า

‘เชิญเจ้านายที่สนใจมาสมัครได้เลย’

จนในที่สุดซูซานก็ได้งานจากบริษัทที่เธอไม่เคยคิดจะสมัครเลย แต่ด้วยความคิดที่แตกต่างนี้เองทำให้เธอได้รับความสนใจ และบรรจุเป็นนักการตลาดในบริษัทแห่งนั้น เรื่องราวของซูซานไม่ได้เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์แต่อย่างใด เพียงแต่ซูซานทดลองพลิกวิธีคิดมาหักมุมกับกฎเกณฑ์ปกติที่ดำเนินอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการแข่งขันกับผู้คนที่กำลังหางานอีกเป็นร้อยๆ คนเท่านั้นเอง

ประเด็นของซูซานนี้ ผมก็ไม่ได้ขอร้องให้ผู้อ่านเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์อีกเช่นกันนะครับ เพียงแต่อยากให้มองถึงประเด็นการนำวิธีคิดมาพลิกใช้ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการทดลองทำ หรือทำแล้วทำนายผลได้ว่ามีโอกาสมากกว่าผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ซึ่งวิธีเหล่านี้มักนิยมใช้กับการสมัครงานของบริษัทโฆษณาชั้นนำต่างๆ การยื่นใบสมัครงานธรรมดาๆ จึงเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง และต้องพยายามหาไอเดียใหม่ๆ มาให้นายจ้างได้ตื่นตะลึงจนอยากจะเรียกคุณมาสัมภาษณ์ให้เร็วที่สุด

สุดท้ายแล้วการใช้วิธีคิดแบบซูซานอาจไม่สามารถการันตีผลลัพธ์ที่แน่นอนต่อการสมัครงานได้ตลอด แต่หากทำแล้วได้งานก็อย่าประมาทเหมือนพี่โปรแกรมเมอร์ตามข่าวนะครับ เพราะงานเดี๋ยวนี้มันหายากใช่เล่น