Type to search

การตัดสินใจของพ่อ ในวันที่ห้องเรียนไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป

December 17, 2019 By Future Trends

คอลัมน์ : OF-FIT สู่ชีวิตลงตัว
เขียน : ดร. เดชรัต สุขกำเนิด

มีเพื่อนๆ สอบถามผมหลายคนว่า ผมตัดสินใจอย่างไร ในการให้แดนไท ลูกชาย ออกมาเรียนหนังสือด้วยตนเอง ในชั้นมัธยม 1 เมื่อ 3 ปีก่อน

ผมต้องบอกก่อนเลยว่า ผมไม่ได้เป็นคนตัดสินใจแต่อย่างใด ความตั้งใจและการตัดสินใจทั้งหมดเป็นของแดนไทเอง ตลอดทั้งช่วงปี ป. 6 ผมทำหน้าที่ในการเกลี่ยกล่อมแดนไท ให้เลือกเข้าโรงเรียนมัธยม ที่มีชื่อเสียงต่างๆ ทั้งภาคภาษาอังกฤษ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ (วิชาที่แดนชอบเรียน) โรงเรียนทางเลือกเดิมที่แดนเคยเรียน และโรงเรียนทางเลือกใหม่ๆ แต่ไม่ว่าจะทางเลือกใด คำตอบของแดนคือ “ห้องเรียนไม่ใช่ทางเลือก” ของแดนอีกต่อไป

แดนไท สุขกำเนิด ปัจจุบันเป็นหนึ่งในกลุ่มคนออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกม

ผมต้องเล่าว่า แดนไทในชั้น ป.6 เป็นเด็กที่ขยันเรียนมากๆ มีความรับผิดชอบสุดๆ และมีผลการเรียนดีมากด้วย เวลาแดนไท ทำงานเรื่องใด แดนไทจะมีความอิน (หรือความผูกพัน) กับเรื่องนั้นมากๆ และหาข้อมูลเชิงลึก จนบางเรื่องรู้ดีกว่าผมเสียอีก ในช่วงเวลาเดียวกัน แดนไทอินกับการออกแบบเกมมากๆ แดนไทเริ่มออกแบบบอร์ดเกมมาตั้งแต่ชั้น ป.4 ในชมรมบอร์ดเกมของโรงเรียน และเริ่มมีผลงานการออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้บ้างแล้ว และแดนไทก็อินกับการออกแบบบอร์ดเกมมากๆ

ในตอนนั้นผมยอมรับว่าผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเด็กที่ตั้งใจเรียนหนังสืออย่างแดนไท ทำไมจึงไม่อยากเรียนในโรงเรียนต่อไป และปรึกษากับภรรยาแล้ว ภรรยาก็คิดว่า ผมคงต้องใช้ความพยายามต่อไป (ในการให้แดนไทยอมรับโรงเรียนใด โรงเรียนหนึ่ง) ต่อมา ผมประสบความสำเร็จ ในการทำข้อตกลงเบื้องต้นกับแดนไทว่า ถ้าจำเป็น แดนไทจะเลือกเรียนโรงเรียนเดิม แต่แดนไทจะยังไม่ละความพยายามที่จะทำให้พ่อและแม่ยอมรับว่า แดนไทสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้

จนกระทั่งแดนไทได้รับเชิญไปพูดในงานของมหาลัยเถื่อน ณ ดอยเชียงดาว ในเดือนมกราคม ปีนั้นพอดี (ประมาณ 2 เดือนก่อนจบ ป.6) มหาลัยเถื่อน เป็นเวทีที่ผู้คนที่สนใจเรื่องการศึกษา ที่ไปไกลกว่า “การรับรองของภาครัฐ” มารวมตัวกัน (เกือบ) ทุกปี เพื่อจัดเวทีการเรียนรู้ที่ไม่ต้องมีใครรับรอง (จึงเป็นที่มาของคำว่า “เถื่อน” หรือทำได้เอง นั่นเอง) ในเวทีดังกล่าวจะมีการเรียนรู้กันทางเรื่องศิลปะ อาหาร ธรรมชาติ จิตวิญญาณ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ แดนไทได้รับเชิญให้พูดในเวที “เถื่อนทอล์ค” เรื่อง “การเรียนรู้ของแดน”

แดนไทเตรียมการพูดครั้งนั้นได้ดีมาก ทั้งการออกแบบเรื่องเล่า การออกแบบกราฟฟิก แดนไททำกราฟฟิกด้วยตนเองทั้งหมด แดนไทมีเวลา 15 นาที โดยสรุปแล้ว แดนไทเล่าให้ฟังถึงข้อจำกัดในการเรียนรู้แบบ “ห้องเรียน” และแบบ “หลักสูตร” ที่มีผลต่อตัวแดนไทเองและเพื่อนๆ ผ่านคำสำคัญว่า “บระเจ้า” ซึ่งเป็นเสมือนตัวกำหนดว่า สิ่งใดคือสิ่งที่ถูกต้อง วิธีการเรียนรู้ใดคือวิธีการที่ถูกต้อง แม้กระทั่งขอบเขตการเรียนรู้ใดคือขอบเขตการเรียนรู้ที่ถูกต้อง

สำหรับแดนไท แดนเห็นว่า สิ่งเหล่านั้น ไม่ควรมี ความถูกต้องเหล่านั้นไม่จริง ความถูกต้องเหมาะสมของการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับผู้เรียนมากกว่า และผู้เรียนจะต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ของตนเอง แดนไทเล่าให้ฟังในทอล์คว่า แดนกับเพื่อนๆ (ชั้น ป.6) พยายามทำแบบสอบถาม (ด้วยกูเกิลฟอร์ม) และประมวลผลให้ดูว่า รูปแบบและวิธีการเรียนรู้ใด เหมาะสมในการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ แต่ไม่สำเร็จ การวิเคราะห์ทางสถิติของเด็ก ป. 6 ยังไม่สามารถข้ามพ้นอิทธิพลของ “บระเจ้า” ได้

แดนไทจึงประกาศในตอนท้ายของการทอล์คว่า “แดนพร้อมแล้วที่จะข้ามพ้นบระเจ้า”

การเถื่อนทอล์คครั้งนั้นของแดน เข้ากับจิตวิญญาณของมหาลัยเถื่อนเป็นอย่างมาก แดนจึงได้รับการตอบรับจากผู้ฟังเป็นอย่างมาก เพื่อนๆ หลายคนเดินมาบอกผมหลังงานว่า ดูจากการเตรียมและการบรรยายของแดนแล้ว เขาเชื่อว่า แดนพร้อมแล้วที่จะข้ามพ้นบระเจ้าได้จริงๆ สำหรับผม ผมก็ไม่แน่ใจหรอกว่า “ความพร้อมของแดน” วัดกันที่ใด? แต่สิ่งที่ผมได้พบตลอดทั้งการทอล์คของแดน และการคุยกันตลอด 1 ปีก่อนหน้านั้น คือ แดนไม่ได้พูดเรื่อง “เบื่อ” ห้องเรียน หรือ “เบื่อ” การเรียน แดนไท พูดแต่ว่า มันไม่ใช่การเรียนรู้ที่เพียงพอและดีพอในความคิดของแดน สิ่งที่แดนไทต้องการคือ การก้าวข้ามขอบเขตการเรียนรู้ที่ “บระเจ้า” กำหนดให้เราด้วยความหวังดี

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด (ซ้าย) / แดนไท สุขกำเนิด (ขวา)

ผมตัดสินใจตั้งแต่นั้นว่าจะให้แดนเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะผมคิดว่า ความต้องการของแดนไทมันยิ่งใหญ่และท้าทายมาก มากยิ่งกว่าที่ผมจะจินตนาการด้วย แต่ผมต้องขออนุญาตจากคุณแม่ของแดนไทก่อน ตอนแรก ภรรยาของผม (ซึ่งไม่ได้ฟังทอล์คดังกล่าว) ยังไม่เห็นด้วยมากนัก แม้จะได้ยินคำอธิบายของผม จนกระทั่ง ได้ฟังคลิปวิดีโอที่แดนไททอล์ค ภรรยาก็เห็นด้วยกับผมว่า ด้วยความตั้งใจของแดน คงต้องลองให้แดนไทเรียนรู้โดยไม่ต้องพึ่ง “บระเจ้า” ดูบ้าง อาจกล่าวได้ว่า เถื่อนทอล์คครั้งนั้น ได้ปลดล็อกชีวิตการเรียนรู้ของแดนไท แต่โจทย์ต่อไปคือ แล้วแดนไทจะเรียนแบบใด?

ในตอนนั้น ตัวเลือกที่ไม่ใช่ระบบโรงเรียนที่เรารู้จักมี 2 ตัวเลือก คือ การเรียนรู้แบบบ้านเรียน (หรือ homeschool) และการเรียนแบบ กศน. แน่นอนว่า แบบแรก น่าจะเหมาะกับแดนมากกว่า แต่ผมไม่มีเวลามากนักที่จะจัดการเรียนรู้ให้แดนได้ เราจึงจำเป็นต้องเลือกแบบที่ 2 การสมัครเรียน กศน. และนอกระบบ ต้องผ่านการอนุมัติของ สพฐ เขต ที่เราอาศัยก่อน ซึ่งเรื่องนั้นไม่มีปัญหา แต่พอเราไปสมัคร กศน. กศน. บอกว่า การเรียนแบบ กศน. เหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็กๆ อย่างแดน แดนจึงต้องผิดหวังอีกครั้ง ตอนนั้น ผมก็คิดว่า ผมคงต้องเขียนหลักสูตรการเรียนรู้ให้แดนในแบบ homeschool แล้ว โชคดีมีเพื่อนส่งข้อมูลเกี่ยวกับ “สถาบันการศึกษาทางไกล” (อยู่ในสังกัด กศน. เช่นกัน) มาให้ ผมจึงพาแดนไทไปสมัครเรียน และได้เข้าเรียนในที่สุด

ผมจำได้แดนไทยิ้มแก้มปริเลย สถาบันการศึกษาทางไกล เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่กระทรวงศึกษาธิการ มีหลักสูตรมาให้ และจะมีการสอบกลายภาคและปลายภาคกันทุกเทอม แม้ว่า หลักสูตรจะถูกกำหนดมาแล้ว แต่รูปแบบ เวลา และวิธีการเรียนรู้ แดนไทสามารถกำหนดเองได้ การเรียนรู้แบบนี้จึงตอบโจทย์แดนมากๆ เพราะมีเวลาที่แดนไทได้ใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเองและทำสิ่งตนเองชอบ นั่นคือ การออกแบบบอร์ดเกม วันนี้แดนไทสำเร็จชั้นมัธยมต้น จากสถาบันการศึกษาทางไกล ด้วยผลการเรียนที่ดี ใช้เวลา 2 ปีครึ่ง (แทนที่จะเป็น 3 ปี) แถมยังได้ออกแบบบอร์ดเกมมากกว่า 20 เกม และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ทำงานด้านการออกแบบบอร์ดเกม ตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายอยู่เลย

ทุกวันนี้ผมเชื่อแดนไทแล้วว่า แม้ว่าบระเจ้าจะหวังดีและรู้ดีเพียงใดก็ตาม แต่การเรียนรู้ของเรานั้น ตัวเรารู้ดีที่สุด เมื่อมองย้อนกลับไป การตัดสินใจของพ่อ (และแม่) จึงไม่ยากนัก แค่เราเข้าใจการตัดสินใจของลูกให้ลึกพอ เราก็จะรู้ว่า เราควรตัดสินใจอย่างไร? แต่ปัญหาคือ เรามักจะไม่มีเวลาเข้าใจลูกๆ อย่างลึกซึ้งพอ เช่นกรณีของแดนไท ถ้าไม่มีเถื่อนทอล์คในวันนั้น ก็ไม่แน่ใจว่า ผมและภรรยาจะเข้าใจแดนไทหรือยัง? เมื่อความเข้าใจตรงกันแล้ว หน้าที่ของพ่อแม่ที่เหลือจากนั้น คือ ช่วยหาข้อมูล/ช่องทางให้ลูกว่า ภายใต้ระบบสังคมที่มีทางเลือกไม่มากนัก เราจะเดินไปทางใดได้บ้าง แล้วเราก็ลองเดินตามลูกไปเท่านั้นเอง และเขายังคงต้องเดินทางไปอีกไกล เราก็จะเดินตามไปดูบ้างเช่นกัน

เพราะมันสนุกดี Never give up.

Trending

    Future Trends

    Future Trends

    Knowing The Future, Be The Winners of Tomorrow การรู้อนาคตทำให้เราเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้