LOADING

Type to search

ปลดกลางอากาศ Layoff ไม่หยุด เมื่อการปลดคนผ่าน ‘อีเมล’ อาจไม่ใช่เพราะบริษัท ‘เย็นชา’

ปลดกลางอากาศ Layoff ไม่หยุด เมื่อการปลดคนผ่าน ‘อีเมล’ อาจไม่ใช่เพราะบริษัท ‘เย็นชา’
Share

ในวันที่เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย การปลดคนครั้งใหญ่ (The Great Layoff) หรือกระแสข่าวการเลิกจ้างพนักงานมักปรากฏให้เห็นเหมือน ‘ใบไม้ร่วง’ โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา บริษัท Big Tech หลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณปลดคนกลางอากาศ เพื่อปรับลดขนาดให้บริษัทสามารถเดินต่อไป

ไม่ว่า Amazon, Microsoft หรือแม้กระทั่ง Alphabet บริษัทแม่ของ Google ซึ่งตามปกติแล้ว เวลาต้องบอกข่าวร้ายอย่างการปลดพนักงาน ข่าวร้ายนี้มักจะมาในรูปแบบของการบอกกล่าวผ่าน ‘อีเมล’

อย่างไรก็ตาม บางคนถกเถียงว่า นี่อาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมสักเท่าไร มันเต็มไปด้วยความเย็นชา และไร้ความปรานี อีเมลทำให้รู้สึกเหมือน ‘กำลังโดนตบหน้าแรงๆ’ ถ้าจะปลดก็ควรเป็นการประชุมแบบตัวต่อตัวให้เห็นหน้าคร่าตา และได้ยินน้ำเสียงกันสักนิด

สอดคล้องกับผลสำรวจของ SurveyMonkey จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 9,800 คน ที่ระบุว่า 67 เปอร์เซ็นต์ของพนักงาน บอกว่า ลึกๆ แล้วพวกเขาต้องการถูกเลิกจ้างผ่านวิดีโอคอลแบบตัวต่อตัว ส่วน 11 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ต้องการถูกเลิกจ้างผ่านอีเมล และ 7 เปอร์เซ็นต์ ต้องการถูกเลิกจ้างผ่านการประชุมเสมือนจริง แม้แต่พนักงานพาร์ตไทม์ (Part-time) ก็บอกเช่นกันว่า พวกเขาต้องการถูกเลิกจ้างผ่านการวิดีโอคอลแบบตัวต่อตัวด้วย

แล้วเรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมบริษัทบางแห่งถึงใช้ ‘อีเมล’ ปลดคน ระหว่างถูกเลิกจ้างกลางอากาศผ่าน ‘อีเมล’ กับ ‘วิดีโอคอลแบบตัวต่อตัว’ แบบไหนดีกว่ากัน? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

การใช้อีเมลปลดคนเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

when-the-layoff-is-an-email-its-nothing-personal 1

เอริก้า แมคดอนเนลล์ (Erica McDonnell) นักฝังเข็มประจำคลินิกแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยถูกเลิกจ้างถึง 2 ครั้ง ทั้งในปี 2020 และ 2021 ผ่านข้อความสั้นๆ ในอีเมล เธอรู้สึกว่า มันเป็นวิธีการที่แย่ เพราะวันก่อนก็ยังนั่งทำงานในออฟฟิศ หากมีการปลดจริงๆ ก็ควรจะคุยกันตั้งแต่ตอนนั้น

การใช้อีเมลปลดคนเป็นเรื่องเวิร์ก

เจมส์ อาเบล (James Abele) อดีตวิศวกรอาวุโสด้านโซลูชันของบริษัทอาคะไม เทคโนโลยี ไอเอ็นซี (Akamai Technologies Inc.) ที่ตกงานปีที่แล้ว หลังจากทำงานมานานกว่า 17 ปี ระบุว่า ระหว่างได้รับแจ้งข่าวการถูกเลิกจ้างผ่านวิดีโอคอล ตัวแทนฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้แสดงความคิดเห็นที่แทงใจดำขึ้นมา มันเจ็บปวดมาก ฉะนั้น เขามองว่า อีเมลที่อาจดูซ้ำซากน่าจะเวิร์กกว่า

ทำไมบางบริษัทใช้อีเมลปลดคน?

when-the-layoff-is-an-email-its-nothing-personal 2

แม้โควิด-19 จะเข้ามาสร้างความเจ็บป่วยทางกาย และแผลเป็นทางใจให้หลายๆ คน ขณะเดียวกัน มันก็เข้ามาล้างกระดาน เปลี่ยนบรรทัดฐานการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง แน่นอนว่า วิธีการปลดคนก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

สำนักข่าว The Wall Street Journal รายงานความเห็นของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ความรวดเร็วในการแจ้งข้อมูลของอีเมล ทำให้สามารถส่งข่าวได้พร้อมกันหลายๆ คน หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรแบบส่วนตัวช่วยบรรเทาผลกระทบลงได้ อีกทั้ง ยังป้องกันความสับสน และความกลัวในการรอคอยข่าวร้ายนี้ด้วย

มีบริษัทไหนใช้อีเมลปลดคนแล้วบ้าง?

อย่างที่เล่าตอนแรกว่า การปลดคนครั้งใหญ่ผ่านอีเมลเกิดขึ้นในหลายบริษัท รวมถึงบริษัทระดับโลกอย่าง Google โดยไม่นานมานี้ มีการปลดคนด้วยการใช้อีเมลเช่นกัน แต่ล่าสุด มีพนักงานบางคนถูกล็อกไม่ให้เข้าอีเมลของตนเอง ส่งผลให้วิศวกรซอฟต์แวร์ตั้งสมมติฐานว่า แท้จริงแล้ว นี่อาจเป็นแผนของ Scammer ที่จงใจหลอกลวง

นอกจากนี้ พวกเขายังเสริมว่า Manager และฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็ไม่ได้ติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด รวมไปถึงฝั่งของโฆษก Google ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วย

การปลดคนผ่านวิดีโอคอลแบบตัวต่อตัวเป็นเรื่องที่เวิร์ก

when-the-layoff-is-an-email-its-nothing-personal 3
Image by Drazen Zigic on Freepik

แม้การปลดคนจะเป็นข่าวร้ายที่คนพูดไม่ต้องการบอกกล่าว แต่จะไม่พูดก็ไม่ได้ และคนฟังเองก็ไม่อยากได้ยิน แต่ฟีบี กาวิน (Phoebe Gavin) เผยประสบการณ์ในอดีตว่า เธอรู้สึกขอบคุณที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง Executive Director ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและการพัฒนาที่สำนักข่าว Vox ผ่านการวิดีโอคอลกับหัวหน้า

มันไม่มีความอึดอัดใจเลย เธอเข้าใจดีว่า เพราะตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรอบการปลดคนที่ส่งผลต่อพนักงานของ Vox Media ถึง 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวิดีโอคอลจบลง เธอสามารถกดปุ่มสีแดง ปิดแล็ปท็อป และมุดเข้าไปใต้ผ้าห่มสัก 2-3 ชั่วโมงได้ทันที รวมไปถึงเพื่อนร่วมงานก็ยังแสดงความขอบคุณคล้ายกันว่า มันเป็น ‘ประสบการณ์ที่อ่อนโยน และสุภาพ (Gentler Experience)’ ของการสนทนาด้วย

อีเมลด้วย วิดีโอคอลด้วย บทสรุปที่ใช่ของการปลดคน

แซนดรา ซูเชอร์ (Sandra Sucher) อาจารย์คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ที่ศึกษาเรื่องการปลดคนบอกว่า อีเมลเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการแจ้งข่าวเลิกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพนักงานไม่ใช่คนสนิทใกล้ชิดกัน แต่ตามหลักแล้ว ผู้บริหารระดับสูงควรแจ้งข่าวเป็นการส่วนตัว พร้อมทั้งแสดงความรับผิดชอบ ขอโทษ และอธิบายเหตุผลด้วย

เธอเสริมว่า ผู้บริหารระดับสูงสามารถบอกว่า คนที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง จะได้รับอีเมลภายในไม่กี่นาที การส่งอีเมลพร้อมกันช่วยป้องกันไม่ให้พนักงานต้องรออย่างใจจดใจจ่อนานหลายชั่วโมง และเนื้อหาในอีเมลก็ต้องแจ้งให้พนักงานทราบด้วยว่า Manager จะติดตามเรื่องราวต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการเปิดโอกาสในการรับฟัง และถามคำถามพนักงาน

การปลดคนหรือการเลิกจ้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางความรู้สึก บริษัทควรแสดงความจริงใจ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่แพ้เรื่องอื่น ถ้าไม่ตอบโจทย์กันแล้วก็ควรบอกกันดีๆ ทำทุกอย่างให้ชัดเจน ไม่ใช้ความเงียบแก้ปัญหา เพื่อให้พนักงานที่เหลือไม่เกิดติดใจว่า “ฉันจะกลายเป็นคิวต่อไปเมื่อไร?” นั่นเอง

Source: https://on.wsj.com/3YkoA0f

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like