LOADING

Type to search

‘Duopoly’ ตลาด (เกือบ) ผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคม บทสรุปการผนึกกำลังของ 2 ค่าย TRUE x DTAC

‘Duopoly’ ตลาด (เกือบ) ผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคม บทสรุปการผนึกกำลังของ 2 ค่าย TRUE x DTAC
Share

TRUE + DTAC = TRUE

สมการควบรวมกิจการที่ให้ผลลัพธ์เป็นบริษัทใหม่อย่าง ‘TRUE’ ชื่อที่สะท้อนการเป็น ‘ทองแผ่นเดียวกัน’ ระหว่าง ‘TRUE’ และ ‘DTAC’ ได้อย่างดี หลังจากดีลการควบรวมกิจการของทั้งสองค่ายต้องฝ่าฟันบทพิสูจน์ด่านแล้วด่านเล่ามากว่า 1 ปี 3 เดือน

จากแผนการควบรวมที่อยู่บนหน้ากระดาษ สู่การประกาศควบรวมเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 1 มีนาคม 2023 TRUE ไม่รอช้าที่จะรักษาโมเมนตัมทางธุรกิจด้วยแคมเปญ ‘Better Together ชีวิตดีกว่าเมื่อมีกันและกัน’ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์อันแข็งแกร่งจากการดึงจุดแข็งของ TRUE และ DTAC มาผสมผสานใน TRUE เวอร์ชันใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม อีกทั้งยังเป็นการส่งสารไปถึง ‘AIS’ เต็งหนึ่งของธุรกิจโทรคมนาคมว่า คู่แข่งคนสำคัญเดบิวต์เข้าสู่สนามในเวอร์ชันอัปเกรดเป็นที่เรียบร้อย

จริงๆ แล้ว การควบรวมกิจการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามปกติในโลกของการทำธุรกิจ บ้างก็ทำเพื่อให้ธุรกิจมีฐานลูกค้ามากขึ้น บ้างก็ทำเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในสนามการแข่งขันอันดุเดือด แต่สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมในไทยที่มีความเป็น ‘ตลาดผู้ขายน้อยราย’ (Oligopoly) อยู่เป็นทุนเดิม ยิ่งควบรวมกัน ยิ่งจะเป็นการผูกขาดตลาดมากกว่าเดิมหรือเปล่า?

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ให้นิยามของ ‘การผูกขาด’ ไว้ว่า ‘การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้า หรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ และมียอดขายตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป’ แต่เมื่อเทียบเคียงกับสภาพตลาดหลังจากเหลือผู้เล่นเพียง AIS และ TRUE เวอร์ชันใหม่ จะทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมในไทยเข้าข่ายสิ่งที่เรียกว่า ‘Duopoly’ มากกว่าตลาดผูกขาดแบบ ‘Monopoly’ ที่คุ้นเคยกัน

บทความนี้ Future Trends จะพาไปทำความรู้จักกับ ‘Duopoly’ และชวนวิเคราะห์ว่า ภาพรวมของธุรกิจโทรคมนาคมจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด รวมถึงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างไรบ้าง?

Duopoly คืออะไร?

Duopoly
Image by master1305 on Freepik

Duopoly คือสถานการณ์ที่ในตลาดมีผู้ขายสินค้าประเภทเดียวกัน หรือเป็นสินค้าที่คล้ายคลึงกันเพียงสองราย ซึ่งมีอยู่ในทุกกลุ่มธุรกิจ เช่น Pepsi กับ Cola-Cola รายใหญ่ของธุรกิจเครื่องดื่มอัดลม, Airbus กับ Boeing รายใหญ่ของธุรกิจประกอบเครื่องบิน, BTS กับ BEM รายใหญ่ของธุรกิจรถไฟฟ้าในไทย เป็นต้น

ภาพของความเป็น Duopoly ทำให้รู้สึกว่า นี่ไม่ใช่การทำธุรกิจผูกขาดสไตล์ ‘กินรวบ’ ที่มีเจ้าเดียว รวยคนเดียว ไม่แบ่งใคร เพราะอย่างน้อยก็ยังมีการแข่งขันในตลาดอยู่ แต่จริงๆ แล้ว ส่วนแบ่งทางการตลาดที่ผู้เล่นรายใหญ่ทั้งสองถืออยู่ มีมากจนไม่มีพื้นที่ให้ผู้เล่นรายเล็กแทรกเข้ามาแข่งขันด้วยได้ สุดท้ายแล้วก็มีความผูกขาดในตัวอยู่ดี

แต่หลายฝ่ายยังมองว่า การแข่งขันระหว่าง AIS และ TRUE เวอร์ชันใหม่ ไม่ได้ทำให้เกิดตลาดแบบ Duopoly เพราะยังมีผู้เล่นรัฐวิสาหกิจอีกรายอย่าง ‘โทรคมนาคมแห่งชาติ’ (NT) เพราะเมื่อดูการแข่งขันของกลุ่มค่ายมือถือในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 NT ครองส่วนแบ่งเพียง 3.59 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามีอำนาจในตลาดน้อยมากเมื่อเทียบกับ AIS และ TRUE ที่ครองส่วนแบ่งถึง 44.29 และ 32.32 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ถึงแม้การแข่งขันของธุรกิจโทรคมนาคมในไทย จะไม่เข้าข่ายลักษณะของ Duopoly ตามตำรา แต่การเดบิวต์ของ TRUE เวอร์ชันใหม่ อาจทำให้การแข่งขันแบบ Duopoly เกิดขึ้นในชีวิตจริงก็เป็นได้…

ความเปลี่ยนแปลงในมิติของการทำธุรกิจและผลกระทบต่อผู้บริโภค

Internet Providers
Image by rawpixel.com on Freepik

ก่อนการควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC จะเกิดขึ้น ทั้งสองค่ายคือผู้เล่นเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ของตลาด ถือเป็น ‘มวยรอง’ ตามหลังเต็งหนึ่งอย่าง AIS ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านเลขหมาย ส่วน TRUE และ DTAC มีผู้ใช้งานมากกว่า 30 ล้านเลขหมาย และ 20 ล้านเลขหมาย ตามลำดับ

ดังนั้น การควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC จะทำให้ TRUE เวอร์ชันใหม่มีผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านเลขหมายโดยอัตโนมัติ แซงหน้าเจ้าตลาดรายเดิมอย่างขาดลอย ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามคอนเซ็ปต์ ‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย’

แต่การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมเป็นเกมระยะยาวที่จำนวนผู้ใช้งานไม่ใช่มาตรวัดเดียวที่จะการันตีความสำเร็จได้ เพราะ TRUE เวอร์ชันใหม่ยังต้องแบกรับการขาดทุนราว 4 พันล้านบาท ในขณะที่ AIS มีกำไรสุทธิมากกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งมุมมองของนักธุรกิจและนักลงทุน นี่คงเป็นการแข่งขันที่น่าจับตาว่า แต่ละฝ่ายจะเดินเกมกลยุทธ์เพื่อช่วงชิงตำแหน่ง ‘เจ้าตลาดตัวจริง’ อย่างไร?

การที่ธุรกิจโทรคมนาคมในไทยเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงสองราย ไม่ได้มีผลต่อภาพรวมการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อ ‘ผู้บริโภค’ ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินว่า ใครจะเป็นเบอร์หนึ่งของการแข่งขันแบบ Duopoly เพราะเมื่อเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงสองรายในตลาด ก็ต้องเลือกเป็นลูกค้าของรายใดรายหนึ่ง ทำให้ในช่วงแรก เราอาจได้เห็นการฟาดฟันกลยุทธ์ทางการตลาดมากมาย อย่างโปรโมชันการตัดราคาสุดโหดที่จูงใจให้เข้ามาเป็นลูกค้าของตัวเอง

แต่เมื่อช่วงโปรโมชันหมดลง ความใส่ใจในผู้บริโภคและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อาจจะลดลงไปด้วย เพราะผู้เล่นแต่ละราย จะหันไปโฟกัสกับการสร้างความมั่นคงทางธุรกิจมากกว่าสร้างฐานลูกค้าใหม่แทน และต่อให้ผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจก็มีตัวเลือกไม่มาก หนีไปก็เจอปัญหาเช่นเดิม ไม่ต่างอะไรกับการหนีเสือปะจระเข้

นอกจากนี้ แบบจำลองที่ศึกษาพฤติกรรมของบริษัทต่างๆ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยังระบุว่า หากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือลดลงจาก 3 รายเหลือ 2 ราย ค่าบริการอาจเพิ่มขึ้นถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างไม่มีทางเลือก

ถึงแม้การควบรวมธุรกิจของ TRUE และ DTAC จะเป็นการถือกำเนิด TRUE เวอร์ชันใหม่ที่ทำให้การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมน่าจับตามากขึ้น แต่การแข่งขันยังต้องดำเนินไปด้วยกลยุทธ์อื่นๆ และอาศัยปัจจัยจากความต้องการของผู้บริโภคเพื่อตัดสินว่า ใครจะเป็นผู้ชนะตัวจริงของศึกอันยาวนานที่มีผู้เล่นรายใหญ่เพียงสองราย

Sources: https://bit.ly/3bMRT8x

https://bit.ly/3aicO2V

http://bit.ly/3kCA4hp

https://bit.ly/3SGsqiq

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like