LOADING

Type to search

‘Gossip’ ไม่ได้แย่เสมอไป ทำไม ‘การซุบซิบ’ ในที่ทำงานถึงมีประโยชน์กว่าที่คิด?

‘Gossip’ ไม่ได้แย่เสมอไป  ทำไม ‘การซุบซิบ’ ในที่ทำงานถึงมีประโยชน์กว่าที่คิด?
Share

‘Gossip’ หมายถึง ‘การซุบซิบ’ หรือ ‘คำนินทา’ มักถูกมองในเชิงลบ ซึ่งปัจจุบันพบได้ในการรายงานข่าวต่างๆ หรือในชีวิตประจำวันที่พูดถึงเพื่อน หรือบุคคลอื่นอย่างลับๆ ยิ่งเรื่องไม่ดี ยิ่งช่วยกระตุ้นต่อมความอยากรู้ให้ผู้ฟังมากขึ้น ทำให้ผู้ถูกพาดพิงเกิดความไม่สบายใจ

แต่อีกมุมหนึ่ง การซุบซิบนินทาก็มีข้อดีเช่นกัน Future Trends จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจด้านดีของการซุบซิบนินทาว่า มีประโยชน์ต่อการทำงานอย่างไรบ้าง?

ทำความเข้าใจการนินทาเชิงบวก

ความหมายของการซุบซิบนินทาที่ผู้คนมักคุ้นเคย คือการโจมตีบุคคลหนึ่งที่ตกเป็นประเด็น ด้วยการพูดถึงเชิงลบหรือหยิบยกความผิดพลาดมาเป็นประเด็นหลัก ทำให้บุคคลนั้นโดน ‘ทัวร์ลง’ จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

แต่ข้อเท็จจริงของการนินทาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้คนเห็นคุณค่าของการแบ่งปัน หรือเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลสามารถเป็นเชิงลบหรือบวกก็ได้ โดยความลึกซึ้งของข้อมูลจะทำให้คนอื่นเข้าใจ หรือรู้จักตัวตนของผู้ถูกพูดถึงอย่างแท้จริง

ดังนั้น การนินทาเชิงบวก คือการนินทาที่เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังส่งเสริมบรรยากาศการทำงานในองค์กร เพราะการนินทาเชิงบวกสามารถ ‘ติเพื่อก่อ’ จนเกิดการปรับปรุงพฤติกรรมการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างคนทำงานในแต่ละฝ่าย

Positive Gossip
Image by yanalya on Freepik

ประโยชน์ของการนินทาเชิงบวก (ฉบับชาวออฟฟิศ)

1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดี

เอลานา มาร์ติเนสคู (Elana Martinescu) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม (Vrije Universitetit Amsterdam) กล่าวว่า “การนินทาเป็นสิ่งที่ดี ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ มนุษย์ได้พัฒนาการซุบซิบ เพื่อเอื้อให้เกิดความร่วมมือในกลุ่ม”

ไม่ว่าเสียงซุบซิบหรือการนินทาจะอยู่ในเชิงไหน ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ เนื่องจากพนักงานต้องทำงานร่วมกัน อาจส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานในทีม ยกระดับความไว้วางใจและร่วมมือกันได้ดีขึ้น จากการแชร์ไอเดียหรือความคิดที่สามารถปรับปรุงโครงสร้างการทำงานในบริษัทได้

2. สร้างบรรยากาศที่ดี

นี่เป็นข้อได้เปรียบที่ชัดเจนของการนินทาเชิงบวก เพราะสังคมที่เต็มไปด้วยการเผยแพร่ข่าวสารสำคัญ แบ่งปันประสบการณ์ และชื่นชมบุคลากรที่มีผลงานยอดเยี่ยมแบบ ‘อย่าลืมเล่าสู่กันฟัง’ สามารถสร้างสังคมที่ไม่ต้องกังวลว่า ทำไมพนักงานแต่ละคนถึงไม่พอใจใส่กัน แถมยังสร้างขวัญกำลังใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจมากกว่าการนินทาเชิงลบ

นอกจากนี้ การนินทาเชิงบวกยังสามารถตรวจจับพนักงานที่เห็นแก่ตัว หรือคนโกงได้ด้วย โดยงานวิจัยของร็อบบ์ วิลเลอร์ (Robb Willer) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ให้ผู้เข้าร่วมกลุ่มหนึ่งสังเกตการเล่นเกมของทั้งสองคน ผลปรากฏว่า เมื่อเจอคนโกง ผู้สังเกตจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีโอกาสเตือนผู้เล่นคนต่อไปเกี่ยวกับคนโกง อัตราการเต้นของหัวใจของพวกเขาลดลง

เมื่อพนักงานออฟฟิศรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม และสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ พวกเขาจะมีความกล้าในการตักเตือนผู้อื่น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง และสร้างบรรยากาศในการทำงานได้ดี

หรือจริงๆ ไม่ต้องมีการนินทาเชิงบวกก็ได้

ถึงแม้การนินทาเชิงบวกจะส่งผลดีต่อบุคคล แต่ถ้าสามารถรับรู้การนินทาเชิงลบได้ทันที ก็จะเป็นคำเตือนที่เป็นประโยชน์กับคนทำงานเช่นกัน

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโกรนินเกน (University of Groningen) ระบุว่า การได้ยินเรื่องราวเชิงบวกช่วยให้ผู้คนพัฒนาทักษะส่วนบุคคลของตัวเอง และการได้ยินเรื่องราวเชิงลบช่วยให้พวกเขามีความสามารถในการทำงานมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของการนินทา

ตัวอย่างเช่น หากผู้บริหารกระตุ้นพนักงานด้วยการซุบซิบถึงผลประโยชน์จากการทำงาน เมื่อพนักงานคนอื่นรับรู้ข่าว บางคนจะใช้ประโยชน์มาเป็นพลังให้ตัวเองตั้งใจทำงานและปรับปรุงตัวให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า การนินทาสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ถ้าพนักงานรู้สึกไม่ไว้วางใจกับความยุติธรรมภายในองค์กร ถือเป็นผลประโยชน์ทางศีลธรรมของพนักงานและความสัมพันธ์ในองค์กร หรือถ้าเพื่อนร่วมงานมีสิ่งที่ค้างคาใจ ก็สามารถระบายออกมา เพื่อให้รู้สึกสบายใจและไม่อึดอัด

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ความหมายของการซุบซิบนินทาขึ้นอยู่กับการตีความในสังคม และไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะใดของการสร้างข่าวลือ คุณมีสิทธิ์เลือกว่า จะใช้ข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์อย่างไร เพราะเมื่อเวลาผ่านไป การนินทาจะช่วยให้คนตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง จนนำไปสู่การพัฒนา และกลายเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม

Sources: http://bit.ly/3HxusNT

http://bit.ly/3XDjRGN

http://bit.ly/3XYH2eB

Tags::