LOADING

Type to search

จุดแข็ง: ฟีเจอร์ใหม่น่าสนใจมาก จุดอ่อน: ใช้ในไทยไม่ได้ ทำไม ‘ไทย’ จึงตกขบวนฟีเจอร์ใหม่ของ ‘iOS’ ทุกที?

จุดแข็ง: ฟีเจอร์ใหม่น่าสนใจมาก จุดอ่อน: ใช้ในไทยไม่ได้ ทำไม ‘ไทย’ จึงตกขบวนฟีเจอร์ใหม่ของ ‘iOS’ ทุกที?
Share

วันที่ 7 มิถุนายน 2565 เวลา 00.00 น. (ตามเวลาไทย) นับเป็นฤกษ์งามยามดีของวงการเทคโนโลยี เมื่อ ‘แอปเปิล’ (Apple) บริษัทเทคฯ ชื่อดังระดับโลก จัดงาน ‘WWDC 2022’ งานใหญ่กลางปีที่สาวกแอปเปิลต่างรอคอยว่า แบรนด์สุดที่รักจะเปิดตัวสินค้าอะไรบ้าง และแอปเปิลก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะขนทัพสินค้าใหม่มาเพียบ พร้อมเรียกทรัพย์จากทุกคน

นอกจากกองทัพสินค้าใหม่สุดเจ๋งที่เป็นพระเอกของงานแล้ว ภายในงานยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการจัดงานแบบออนไซต์ที่ ‘แอปเปิล พาร์ก’ (Apple Park) รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

โดยสินค้าที่เป็นไฮไลต์ของงานในครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น ‘MacBook Air’ ที่แอปเปิลพลิกโฉมใหม่หมด อวสานฐานเครื่องที่กว้างไม่เท่ากัน อีกทั้งยังมาพร้อมกับ ‘ชิป M2’ ชิปตัวใหม่ล่าสุดในตระกูลชิปของแอปเปิล ซิลิคอน (Apple Silicon) ที่เร็วและแรงกว่าเดิม ซึ่งนี่คือการเปิดตัวชิปรุ่นใหม่ หลังจากที่แอปเปิลยึดมั่นถือมั่นกับชิป M1 มาอย่างยาวนาน

นอกจากที่สินค้าในกลุ่มแกดเจ็ต (Gadget) จะได้รับการอัปเกรดทั้งรูปโฉมที่แปลกตาและประสิทธิภาพที่ทรงพลัง จนสามารถเรียกเสียงฮือฮา และสร้างความต้องการเป็นเจ้าของไว้ในใจใครหลายๆ คนได้สำเร็จแล้ว ฟากฝั่งของระบบปฏิบัติการก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เพราะได้รับการอัปเกรดเป็นเวอร์ชันใหม่หมด พร้อมที่จะให้ทุกคนอัปเดต เพื่อใช้งานกับอุปกรณ์ของตัวเองในเร็วๆ นี้

และหนึ่งในระบบปฏิบัติการที่ทุกคนจับตามองถึงความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ก็คือ ‘iOS’ หัวใจสำคัญที่ควบคุมการทำงานของ ‘ไอโฟน’ (iPhone) โดยในตอนนี้ ได้รับการอัปเกรดเป็นเวอร์ชัน ‘iOS 16’ แล้ว และกำลังเปิดให้นักพัฒนาทั่วไป ได้ลองใช้งานในรูปแบบของเบตา (Beta) หรือการทดลองใช้งานอยู่

ความพิเศษของ iOS 16 ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือฟีเจอร์ที่อัดแน่นอยู่ภายใน โดยแอปเปิลได้พัฒนาฟีเจอร์เหล่านั้น ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และการใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งหน้าจอล็อกได้ตามใจชอบ สามารถเลือกสี ฟอนต์ และวิดเจ็ต มาปรับแต่งได้ตามต้องการ รวมถึง Live Text ฟีเจอร์จับข้อความจากภาพที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเซอร์ไพรส์มาตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2021 ก็สามารถจับข้อความจากในวีดิโอได้แล้วด้วย

และนี่ก็เป็นฟีเจอร์เด่นเพียงบางส่วนที่เราหยิบยกมาเล่าให้ฟังกัน เพราะจริงๆ แล้ว ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย

ถึงแม้ว่า การเปิดตัว iOS 16 ในครั้งนี้ จะมาพร้อมกับฟีเจอร์ที่โดดเด่นมากมาย แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บางฟีเจอร์จำกัดให้ใช้แค่ในบางประเทศเท่านั้น อย่างการชำระเงินผ่านแอปเปิล เพย์ (Apple Pay) การติดตามข่าวสารผ่านแอปเปิล นิวส์ (Apple News) หรือแม้แต่การใช้แผนที่ในรูปแบบ 3 มิติ ผ่านแอปเปิล แม็ปส์ (Apple Maps) และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น ก็คือ ‘ไทย’ ไม่ใช่ประเทศที่ถูกเลือกให้มีโอกาสในการใช้ฟีเจอร์เหล่านี้เลย

ทั้งๆ ที่ไทยก็เป็นประเทศที่มีแอปเปิล สโตร์ (Apple Store) ขนาดใหญ่ถึง 2 แห่ง ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นว่า แอปเปิลคงมองเห็นศักยภาพที่ดีบางอย่างของไทย แต่ทำไมไทยจึงเป็นประเทศที่ตกขบวน และไม่ได้ใช้ฟีเจอร์ใหม่ของ iOS อย่างเต็มรูปแบบทุกที?

ดังนั้น เราจะพาทุกคนไปร่วมกันหาคำตอบ และวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงสาเหตุต่างๆ ที่ส่งผลต่อการตกขบวนของไทยในทุกแง่มุม

ฟีเจอร์บางอย่างไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฟีเจอร์เหล่านี้ ถูกคิดค้นจากไลฟ์สไตล์และความต้องการของคนอเมริกาเป็นหลัก เพราะเมริกันคือฐานลูกค้ารายใหญ่ที่แอปเปิลทิ้งไม่ได้ อีกทั้งการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ก็ถูกมองด้วยเลนส์แบบอเมริกันที่มีสภาพสังคม ค่านิยม และวัฒนธรรมที่ต่างกับไทย และประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียโดยสิ้นเชิง

ทำให้กว่าที่แอปเปิลจะตัดสินใจเปิดให้คนไทยใช้ฟีเจอร์ที่ไม่เคยได้ใช้มาก่อน ต้องรอนานมาก เพราะแอปเปิลเองก็ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าที่จะได้รับกับต้นทุนที่เสียไปด้วย จนกลายเป็นการติดหล่มในการทำธุรกิจที่แอปเปิลก้าวออกมาไม่ได้ และคนไทยเองก็ก้าวเข้าไปไม่ได้เช่นกัน

และตัวอย่างที่สามารถสะท้อนประเด็นนี้ได้ชัดเจนที่สุด ก็คือการที่ ‘ไลน์’ (Line) เป็นช่องทางการสื่อสารหลักของคนไทย ซึ่งต่างจากคนอเมริกาที่ใช้การส่งข้อความเป็นหลัก สิ่งนี้ คือกำแพงทางวัฒนธรรมที่แอปเปิลยังไม่สามารถก้าวข้าม และทำให้แอปฯ ‘Messages’ เป็นที่หนึ่งในใจคนไทยได้

คู่แข่งคนสำคัญอย่าง ‘Android’ ยังคงครองใจคนไทยมากกว่า

คงมีหลายคนที่รู้สึกแปลกใจกับประเด็นนี้ เพราะหันไปทางไหน ก็ต้องเจอคนใช้ไอโฟนตลอด แต่จริงๆ แล้ว ข้อมูลในปี 2020 ระบุว่า แอปเปิลถือครองส่วนแบ่งการตลาดการจำหน่ายสมาร์ตโฟนในไทยเพียงแค่ 7.3 เปอร์เซ็นต์ และอีก 90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ คือการถือครองส่วนแบ่งการตลาดจากฝั่ง ‘แอนดรอยด์’ (Android)

ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าคิดว่า ทำไมกระแสความฮอตฮิตของแอปเปิลถึงสวนทางกับสัดส่วนการถือครองส่วนแบ่งการตลาด?

เมื่อลองวิเคราะห์จากปัจจัยหลายๆ อย่าง จะพบว่า จุดยืนของแอปเปิล คือการทำสมาร์ตโฟนสำหรับกลุ่มคนรายได้ปานกลางถึงสูง ทำให้ช่องทางการสร้างรายได้ของแอปเปิลมาจากคนไม่กี่กลุ่ม ต่างจากคู่แข่งฝั่งแอนดรอยด์ที่มีผู้เล่นจำนวนมากในสนามนี้ อีกทั้งจุดยืนของแต่ละแบรนด์ก็ต่างกันด้วย ทำให้สมาร์ตโฟนฝั่งแอนดรอยด์มีครอบคลุมลูกค้าทุกระดับ

และหากแอปเปิลพอใจในจุดยืนของตัวเองแล้ว แอปเปิลอาจมองว่า การที่ต้องเปิดฟีเจอร์ให้คนในประเทศเพียง 7.3 เปอร์เซ็นต์ ได้ใช้ มันไม่คุ้มค่าพอหรือเปล่า?

ฟีเจอร์บางอย่างขัดต่อการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ

หากพูดถึงประเด็นด้านกฎหมาย ก็จะมีความคล้ายคลึงกับประเด็นแรกอยู่ เพราะแต่ละประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายต่างกันตามบริบททางสังคมของประเทศนั้นๆ ทำให้การใช้งานฟีเจอร์บางอย่างกลายเป็นเรื่องยากไปโดยปริยาย เช่น ‘Private Relay’ ที่เป็นฟีเจอร์ปกป้องความเป็นส่วนตัวของ ‘iCloud+’ ก็ไม่สามารถใช้งานในไทยได้ เพราะขัดต่อกฎหมายของไทย และต้องยอมรับว่า สิ่งนี้ คือกำแพงที่หนากว่ากำแพงทางวัฒนธรรมเสียอีก

ถึงแม้ว่า สาเหตุทั้งสามข้อที่เรานำมาวิเคราะห์กันในวันนี้ จะเป็นเหมือนกำแพงขนาดใหญ่ที่ทั้งแอปเปิลก็ยังทลายไม่ได้ และคนไทยเองก็ปีนข้ามไปไม่ได้เช่นกัน แต่ไม่ใช่ว่า กำแพงนี้จะไม่มีโอกาสถูกทลายเลย หากในอนาคต มีข้อมูลที่ชี้ชัดถึงความพร้อมของไทยในการใช้ฟีเจอร์ต่างๆ แอปเปิลก็คงไม่ลังเลที่จะคว้าโอกาสในการทำธุรกิจ และทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ใช้ทุกฟีเจอร์ก่อนใคร

Source: https://bit.ly/3Qcypds

https://cnb.cx/3xtnIvu

https://bit.ly/3Q7LDbd

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like