LOADING

Type to search

ใจอยากหยุด แต่สมองหยุด (ทำงาน) ไม่ได้ 5 วิธีสร้าง Work-Life Balance ฉบับมือโปร

ใจอยากหยุด แต่สมองหยุด (ทำงาน) ไม่ได้ 5 วิธีสร้าง Work-Life Balance ฉบับมือโปร
Share

พรุ่งนี้ (3 มิถุนายน) อาจจะเป็นวันหยุดที่หลายๆ คนรอคอย เพื่อไปเที่ยวตามแผนที่วางไว้ หรือพักผ่อนเพื่อชาร์จแบตให้พร้อมลุยกับกองงานที่จะหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่หยุดไม่หย่อนในสัปดาห์หน้า และสำหรับบางคนถึงจะรู้ทั้งรู้อยู่เต็มอกว่า พรุ่งนี้เป็นวันหยุด แต่มันก็อดไม่ได้ที่จะต้องหยิบงานมาทำ เพราะงานที่ไม่เสร็จยังคงกวนใจจนไม่ได้พักอยู่ดี หรือไหนๆ อยู่บ้านเฉยๆ ก็เคลียร์งานให้เสร็จไปเลยแล้วกัน

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางคนวางแผนไปเที่ยวแล้วเรียบร้อย แต่กลับมีงานด่วน งานเร่ง งานที่เคลียร์ไม่เสร็จ เข้ามาแทรก จนสุดท้ายต้องหอบงานไปทำตอนไปเที่ยวด้วย กลายเป็นว่า ‘ไปไม่สุดสักทาง’ จะไปเที่ยวอย่างมีความสุข ก็ยังห่วงหน้าพะวงหลังกับงานที่ยังไม่เสร็จ แถมยังไม่มีกะจิตกะใจจะทำงานให้ออกมาดีด้วย

อีกทั้งค่านิยม ‘การทำงานในวันหยุด = เป็นคนขยัน’ ได้ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ยิ่งทำงานกับหัวหน้าที่อายุต่างกันมากๆ และมีชุดความคิดในการทำงานที่ต่างกัน ยิ่งทำให้การทำงานในวันหยุด เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวขึ้นไปอีก แถมการที่จะทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากกรอบค่านิยมเช่นนี้ ก็เป็นเรื่องยากเหลือเกิน

ประสิทธิภาพของคนเรามีจำกัด การฝืนทำงานในวันหยุดไม่ใช่สิ่งที่ดี

ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ระบุว่า ’50 ชั่วโมง’ คือเวลาทำงานต่อสัปดาห์ที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด และหากทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ประสิทธิภาพการทำงานจะลดลงเรื่อยๆ หรือต่อให้พยายามฝืนทำงานจนเป็น 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็เปล่าประโยชน์อยู่ดี เพราะประสิทธิภาพของงานไม่ได้ต่างกับการทำงานแค่ 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลย

นั่นเท่ากับว่า การพยายามทำงานในวันหยุด หรือการหอบงานไปทำตอนไปเที่ยวด้วย ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย แถมยังทำให้เสียเวลาสำหรับการพักผ่อนไปโดยใช่เหตุ และหากการทำงานในวันหยุดกลายเป็นความเคยชิน จนเราไม่สามารถแยกเวลางานกับเวลาพักผ่อนได้ คงเกิดผลเสียมากกว่าผลดีแน่นอน

จริงๆ แล้ว ประสิทธิภาพการทำงานของคนเรา ไม่ได้ต่างอะไรกับประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์เลย หลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์ที่อยู่ดีๆ คอมพิวเตอร์คู่ใจของตัวเองเกิดช็อต ไม่ทำงานตามที่สั่งการ หรือประมวลผลช้า จนต้องส่งซ่อม ซึ่งก็เหมือนกับร่างกายของคนเราที่พอทำงานหนักมากๆ เข้า ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลง และส่งผลเสียต่อสุขภาพที่ไม่อาจซ่อมแซมให้ดีดังเดิมได้

ดังนั้น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เราจึงรวบรวม 5 วิธีสร้าง ‘Work-Life Balance’ แบ่งวันทำงานกับวันหยุดให้ชัดเจนฉบับมือโปรมาฝากกัน

1. สุขภาพคืออันดับหนึ่ง งานคืออันดับสอง

คำว่า ‘สุขภาพ’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสุขภาพใจด้วย เพราะการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องพึ่งทั้งร่างกายที่แข็งแรงและใจที่แข็งแกร่ง เพื่อการลงมือทำอย่างเต็มที่ เพื่อต่อสู้กับความกดดันจากปัจจัยต่างๆ

ดังนั้น การปรับแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานจาก ‘งานคือสิ่งที่สำคัญที่สุด’ เป็น ‘สุขภาพคือสิ่งที่สำคัญที่สุด’ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ และหากวันใดที่เผลอทำงานในวันหยุดอีกให้นึกถึงประโยคที่ว่า “รักตัวเองให้มากๆ เพราะมีเราเพียงคนเดียวบนโลก” ไว้เสมอ

2. อย่ากลัวที่จะ ‘ถอดปลั๊ก’ ปิดวงจรการทำงานของตัวเอง

หลายๆ คนอาจจะทำงานในวันหยุดจนเคยชิน จนรู้สึกว่า มันไม่ได้กระทบกับชีวิตประจำวันสักเท่าไร แต่ในความเป็นจริง ความเหนื่อยล้าจากการทำงานได้ค่อยๆ สะสมเข้ามาในใจเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง มันอาจจะปะทุออกมาเป็น ‘ความพัง’ ที่แม้แต่ตัวเองก็รับไม่ไหว

ดังนั้น การรู้ลิมิตของตัวเอง และพยายามควบคุมตัวเองไม่ให้ทำงานเกินเวลา จึงเป็นเหมือนการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมที่จะช่วยไม่ให้เราทำงานมากเกินไป และเห็นความสำคัญต่อการให้เวลาพักผ่อนกับตัวเอง

3. ชาร์จแบตให้ ‘ตัวเอง’ ด้วยสิ่งที่ชอบ

คนกับคอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้ต่างกัน คอมพิวเตอร์ต้องเสียบปลั๊กหรือชาร์จแบต เพื่อให้ทำงานได้ฉันใด คนก็ต้องเติมพลังใจ เพื่อให้ทำงานได้ฉันนั้น ซึ่งแต่ละคนก็มีสิ่งที่ชอบต่างกันออกไป ทำให้มีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจต่างกันไปด้วย

ดังนั้น การชาร์จแบตให้ตัวเอง ก็คือการแบ่งเวลา และพาตัวเองไปใช้ชีวิตกับสิ่งที่ชอบ เพื่อฟื้นฟูพลังงานที่เสียไปจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการดูซีรีส์ของนักแสดงที่เรารัก การฟังเพลงของศิลปินคนโปรด ซื้อชานมไข่มุกสักแก้ว หรือออกไปชมพระอาทิตย์ตกหลังเลิกงาน อะไรที่เราทำแล้วมีความสุข ก็นับว่าเป็นการชาร์จแบตทั้งนั้น

4. กำหนดขอบเขตเวลาการทำงานอย่างชัดเจน

ข้อนี้ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นตัวกำหนดตารางเวลา และขอบเขตการทำงานของเราในแต่ละวัน ต้องยอมรับว่า การที่ Work From Home มาอย่างยาวนาน ทำให้ขอบเขตที่กั้นระหว่างเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวหายไป ดังนั้น เมื่อเริ่มกลับมากำหนดเวลาการทำงานอย่างชัดเจน และทำอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เรามีวินัยการทำงานตามเวลามากขึ้น

5. ตั้งเป้าหมาย พร้อมกับให้รางวัลตัวเองอยู่เสมอ

การตั้งเป้าหมายอย่างแน่วแน่ว่า ‘วันนี้ เราจะทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จ’ พร้อมกับให้รางวัลตัวเองเมื่อทำสำเร็จ จะทำให้เรามีแรงกระตุ้นในการพิชิตเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักจิตวิทยาที่นิยมใช้ในทุกวงการ และเมื่อทำไปเรื่อยๆ มันก็จะกลายเป็นนิสัยติดตัวที่ทำโดยไม่จำเป็นต้องให้รางวัลตัวเองอีกต่อไป

หวังว่า 5 วิธีที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ จะช่วยให้ทุกคนสามารถแบ่งวันทำงานกับวันหยุดได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และไม่ต้องหอบงานไปทำตอนไปเที่ยวอีกต่อไป ถึงแม้ว่า ในวันหยุดที่กำลังจะมาถึงนี้ อาจจะนำวิธีทั้งหมดไปปรับให้เข้ากับสไตล์การทำงานของตัวเองไม่ทัน แต่หากมีการนำไปใช้อย่างสม่ำเสมอ รับรองว่า ปัญหาการนำงานไปทำในวันหยุดจะหมดไปอย่างแน่นอน

Sources: https://bit.ly/3acaPgd

https://cnb.cx/3xagQmE

https://bit.ly/3PYUGek

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like