LOADING

Type to search

กลัวโดนเลื่อยขาเก้าอี้เพราะลูกน้องเก่งกว่า หัวหน้าจะบริหารยังไงให้ ‘ได้ใจ’ ลูกน้องคนเก่ง
Share

อีกหนึ่งปัญหาโลกแตกที่คนเป็นหัวหน้าน่าจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ‘ปัญหาของการมีลูกน้องที่ทั้งเก่ง และไม่เก่ง’ ที่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ทำให้งานเข้าทั้งขึ้นทั้งล่องพอๆ กันอยู่ดี

อย่างการที่มีลูกน้องที่ไม่เก่ง ก็ทำให้ต้องมาตามแก้ ตามเช็กข้อผิดพลาดบ่อยๆ ส่วนการมีลูกน้องที่เก่ง ก็ถือเป็นเรื่องราวดีๆ แต่บางทีก็มาคู่กับความท้าทายที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า จะโดนเลื่อยขาเก้าอี้ กลัวลูกน้องไม่ฟัง กลัวคุมไม่อยู่ได้

ครั้งหนึ่ง สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) พ่อมดวงการไอทีระดับตำนาน ผู้ให้กำเนิดบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างแอปเปิล (Apple) และเป็นหนึ่งในผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการที่ยอดเยี่ยมเคยกล่าวไว้ว่า “มันไม่ Make Sense เลยที่จะจ้างคนฉลาด และบอกพวกเขาว่า ต้องทำอะไร? จริงๆ แล้ว เราจ้างคนฉลาดเพื่อให้พวกเขาสามารถบอกเราได้ว่า ต้องทำอะไร? ต่างหาก”

เพราะฉะนั้น การดับแสง ปิดตาลูกน้องคนเก่งจึงไม่ใช่เรื่องที่เวิร์กสักเท่าไร แล้วถ้าหัวหน้าอย่างเราๆ ต้องเจอลูกน้องที่เก่งกว่า จะคุมให้อยู่ด้วยวิธีไหน จะทำยังไงให้ไม่โดนเลื่อยขาเก้าอี้ และพาทีมคนอื่นพังตาม? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูลูกน้องคนเก่งทั้ง 4 ประเภท พร้อมวิธีรับมือเด็ดๆ กัน

how-to-manage-team-who-are-smarter-than-you 1

ประเภทที่ 1 : เก่งแบบนายเกรงใจ

ตามปกติ ลูกน้องประเภทนี้มักจะมีโปรไฟล์ที่ดีกว่าหัวหน้า ไม่ว่าจะเป็นวุฒิการศึกษา ป.โท หรือ ป.เอก ที่มักมาพร้อมกับความรู้ชั้นเซียน นี่จึงทำให้เมื่อพวกเขาเข้ามาอยู่ในทีม เวลาจะตัดสินใจ ฟีดแบ็กบางอย่าง หัวหน้าเลยต้องเกรงอกเกรงใจเป็นพิเศษ แต่ในขณะเดียวกัน อะไรทำนองนี้ก็ย้อนศรกลับ ทำให้พวกเขาได้ใจเช่นกัน

ซึ่งพอต้องประชุม ประสานงานกับคนอื่น หลายๆ ครั้งเลยไม่แปลกว่า ทำไมถึงเกิดปัญหาตามมาอยู่ตลอด แถมยังพาลทำให้ทีมรู้สึกด้วยว่า แม้ไอเดียที่คนเก่งประเภทนี้เสนอจะไม่เวิร์ก แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ต้องโอเค เกรงใจตามหัวหน้าอยู่ดี เหมือนกับสำนวนไทยที่ว่า เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม แต่เคสนี้เป็น ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องกลิ่วตามหัวหน้า’ นั่นเอง

ส่วนวิธีการรับมือก็คือ หัวหน้าควรจะฟีดแบ็กโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ‘ความถูกต้อง’ สิ่งที่ใช่ ที่ควร มากกว่าความเกรงใจในโปรไฟล์อันเริ่ดหรู รวมไปถึงเวลามีอะไรก็ควรจะบอกให้ชัดเจน เพื่อที่ว่าจะได้ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้เกิดปัญหาจนลูกน้องคนอื่นข้องใจทีหลังเอาได้ และต้องไม่ลืมว่า ทีมที่เหลือก็เป็น Talent ที่สำคัญพอๆ กับลูกน้องคนเก่งกลุ่มนี้ด้วย

ประเภทที่ 2 : เก่งแบบหลงตัวเอง

หลักๆ แล้ว ลูกน้องประเภทนี้จะมีประสบการณ์ที่โชกโชน ผ่านงานที่โหดหินมามากกว่าทุกคนในทีม แต่ด้วยความที่ผ่านโลกมาเยอะ บางครั้งความเก่งที่เก็บแต้มมานานเลยทำให้พวกเขารู้สึกหลงตัวเองว่า ดีกว่า เหนือกว่าคนอื่น เมื่อต้องมาทำงานเป็นทีมเลยทำตัวตามสบาย มีงานอะไรก็ไม่ค่อยอยากจะทำ เนื่องจาก มองว่า ไม่คู่ควรกับความสามารถ และบางทีหัวหน้าก็อาจไม่กล้ามอบหมายงานกลับ ส่งผลให้ให้งานไปไม่ค่อยถึงไหนด้วย

หนทางที่ดีที่สุดในการบริหารลูกน้องประเภทนี้ ก็คือลองมอบหมายงานที่เหมาะกับความสามารถที่พวกเขาเคยทำหรือคุยไว้ จากนั้น เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้ความเก่งอย่างเต็มที่ และคอยดูผลลัพธ์ที่ตามมา เพราะถึงที่สุดแล้ว ถ้าพวกเขาเก่งจริงอย่างที่ว่า ผลงานก็จะส่งเสียงดังออกมาเอง

how-to-manage-team-who-are-smarter-than-you 2

ประเภทที่ 3 : เก่งตกยุค

นมเปรี้ยวมีวันหมดอายุฉันท์ใด ความเก่งก็มีวันหมดอายุฉันท์นั้น ลึกๆ แล้ว ลูกน้องประเภทที่สามจะเก่งในระดับเดียวกับลูกน้องสองประเภทแรก แต่จะต่างกันตรงที่พวกเขามักจะชอบคุย ชอบอวดอ้างถึงความเจ๋ง ทั้งความรู้ และประสบการณ์ใน ‘อดีต’ ที่ว่ากันตามตรงก็หมดอายุ ตกยุค สมควรที่จะถูกเก็บเข้ากรุ ไม่น่าเอามาขิงใส่กันแล้วด้วยซ้ำ แต่ที่หนักที่สุดก็คือ ‘ผลงานก็ไม่มีให้เห็น’ ด้วย

อย่างเช่น การเอาความสำเร็จเมื่อหลายสิบปีที่แล้วในยุค Web 1.0 มาคุยให้คนอื่นฟัง แต่ทุกวันนี้ เราอยู่ในยุค Web 2.0 และกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค Web 3.0 ไปอยู่ในโลกจักรวาลนฤมิต (Metaverse) เหมือนกับที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerburg) เคยประกาศกร้าวไว้ โดยหลงลืมไปว่า ความเก่งที่มีเป็นคนละยุค คนละโลกกัน 

ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ลูกน้องประเภทดังกล่าวก็มักจะมาในรูปแบบของคนทำงานแบบนาโต้ (NATO) ที่เน้นวิจารณ์เป็นงานหลัก ไอเดียเยอะ แต่ไม่เคยลงมือทำ อย่างไรก็ตาม ถ้าหัวหน้าต้องเจอลูกน้องประเภทนี้เข้าจริงๆ อย่างแรกเลย ต้องไม่เถียง เพราะเถียงไปก็ไม่มีประโยชน์ ถัดมาคือ ให้มอบหมายงานที่มีตัวชี้วัดชัดเจน หากพวกเขาทำไม่ได้ตาม KPI หรือ OKR ก็แนะนำ วิจารณ์กันตรงๆ ไปเลย

ประเภทที่ 4 : เก่งจริงเก่งจัง

สำนวน ‘หงิมๆ หยิบชิ้นปลามัน’ หรือมังกรซ่อนกาย คืออีกสองคำจำกัดความที่อธิบายลักษณะของลูกน้องประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี โดยพื้นฐานแล้ว ลูกน้องประเภทสุดท้ายสามารถทำงานได้ดี พอฟัดพอเหวี่ยง รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหางเช่นเดียวกับลูกน้องคนเก่งประเภทอื่น แต่ด้วยนิสัยของพวกเขาที่มักจะเงียบๆ ต่างจากลูกน้องที่เก่งแบบหลงตัวเอง และเก่งตกยุคที่ชอบอวดให้คนอื่นฟัง

สมมติ ทำผลงานได้โดดเด่น แก้ปัญหาเรื่องไหนได้ พอแก้แล้วก็จบ หายไปกับความเงียบ ไม่ได้ป่าวประกาศให้โลกรับรู้ ไม่ยึดติดกับโปรไฟล์ ขอเก็บความเก่งหลบเอาไว้ บางครั้งก็เลยทำให้หัวหน้าบางคนอาจจะไม่เห็นความสามารถตาม พลอยทำให้ไม่กล้ามอบหมายงานสำคัญให้ทำ และถ้าเป็นแบบนี้ไปนานๆ ผลที่ตามมาก็หนีไม่พ้นภาวะหมดไฟ หมดใจจนพวกเขาขอโบยบินออกไปเติบโตที่บริษัทอื่น หรือกลายเป็นคนทำงานแบบ Deadwood ที่เหมือนไม้ตายซากนั่นเอง

เพราะฉะนั้น หัวหน้าจึงควรหูไว ตาไว แถมต้องเป็นหู และตาที่ดีด้วย หมั่นสอดส่องความสำเร็จ หากพวกเขายังไม่สมควรถูกโปรโมต ก็ควรให้กำลังใจ ชื่นชม มอบโอกาสใหม่ๆ ในการโชว์ความสามารถ แสดงฝีมือ และวางแพลนให้พวกเขากลายเป็น ‘Successor หรือทายาทอสูร’ ที่จะคายตะขาบความเก่งต่อไป

เป็นเรื่องธรรมดามากที่ลูกน้องจะเก่งกว่า ขนาดเล่าปี่ในสามก๊กยังไม่ได้เก่งสักเท่าไรเลย แต่เขามีขุนศึกที่เก่งมากอย่างขงเบ้ง และคนอื่นๆ ไว้หนุนอีกเพียบ ลูกน้องเก่งกว่านั่นแปลว่า หัวหน้ากำลังมีโชค… ถ้าใช้ไม่เป็น ก็โชคร้าย คุมไม่อยู่ และอาจจะมาเลื่อยขาเก้าอี้อย่างที่กลัวได้ แต่ถ้าใช้เป็น ก็โชคดี สบาย ไม่ต้องเหนื่อยเยอะ สุดท้ายแล้ว จะโชคดีหรือร้ายก็อยู่ที่หัวหน้าจะเลือก

แต่ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม อย่าลืมว่า คำว่าหัวหน้า หรือตำแหน่งที่ใหญ่โตก็แค่หัวโขนหัวหนึ่งที่เราสวมใส่ในเวลางาน อยู่กับมันให้เป็น พอเลิกงานแล้วก็ถอดออกซะ ให้เกียรติลูกน้องทุกคนในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ เฉกเช่นเดียวกัน…

Source: https://bit.ly/3KdJSqz

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like