LOADING

Type to search

เตรียมพร้อม 3 ด้าน สู่การเป็นผู้นำ SMEs และ Startups ในยุคดิจิทัล

เตรียมพร้อม 3 ด้าน สู่การเป็นผู้นำ SMEs และ Startups ในยุคดิจิทัล
Share

โควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทุกภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรุนแรง วิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เกิดความท้าทายครั้งใหญ่ขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ ที่จะต้องปรับเปลี่ยน เรียนรู้ และต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้ตรงจุด และทันเวลา

‘เทคโนโลยี’ คือสิ่งที่จะเข้ามาเป็นตัวพลิกเกม ให้ SMEs และ Startups สามารถเติบโตต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายที่มีความพร้อม ทำให้การปรับตัวในโลกดิจิทัลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ไม่รู้ว่าจะเลือกหยิบเอาเทคโนโลยีประเภทไหนมาใช้กับกับธุรกิจของตน วันนี้ Future Trends จึงได้นำความรู้ดีๆ จาก ‘LiVE Guru Sharing’ แบ่งปันกัน

รายการ  ‘LiVE Guru Sharing’ บนเพจ LiVE Platform เป็นรายการที่เชิญผู้บริหารทั้ง 5 ท่าน จาก AIS มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำทางธุรกิจในยุคดิจิทัล 

ในบทความนี้ Future Trends ได้สรุปเอา แนวคิด และเทคนิคสำคัญ ที่ผู้ประกอบการ SMEs และ Startups สามารถหยิบเอาไปปรับใช้กับธุรกิจได้ มีทั้งหมด 3 มิติที่ต้องเตรียมพร้อม ซึ่งจะมีมิติอะไรบ้าง ไปดูกัน!

มิติที่ 1 การพัฒนาธุรกิจให้ตอบรับกับยุคสมัย 

มิติแรกที่ผู้ประกอบการควรหันมาสนใจ คือปรับเปลี่ยนตัวธุรกิจของคุณให้ทันสมัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และในมิตินี้ประกอบด้วย 3 หัวข้อ ที่เราอยากชวนดูไปพร้อมๆ กัน

1. ติดสปีดความเร็วให้ธุรกิจด้วยเทคโนโลยี 5G

ใน ‘LiVE Guru Sharing’ คุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร เป็นผู้บริหารที่มาแชร์เรื่องนี้  โดยเขาได้เล่าถึง ความสำคัญของ 5G พร้อมทั้งทำให้เห็นว่า มีเทคโนโลยี 5G อะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ

5G ถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีผลในทุกอุตสาหกรรม และเป็นอาวุธสำคัญในการทำธุรกิจยุคดิจิทัล คนทำธุรกิจต้องเร็วทั้งในแง่ของการปรับตัว และต้องมีเทคโนโลยีที่เร็วเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที และ 5G คือสิ่งที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งในขั้นตอนการผลิต การพัฒนาสินค้า การติดต่อสื่อสารในองค์กร หรือสื่อสารกับลูกค้า ให้เกิดความลื่นไหล และรวดเร็วแบบเรียลไทม์

เพื่อให้เห็นภาพของ 5G มากขึ้นเราจะชวนไปดูตัวอย่างของเทคโนโลยี 5G ที่จะเป็นประโยชน์กับ SMEs และ Startups 

  • Fixed Wireless Access: เทคโนโลยีช่วยให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายได้โดยไม่ต้องต่อสายเคเบิล
  • Muti Access Edge Computing: เทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงระบบคลาวน์ได้จากในประเทศ ไม่ต้องเชื่อมต่อถึงต่างประเทศ และเมื่อลดระยะทางการเชื่อมโยงลง ก็ช่วยให้การรับส่งข้อมูลทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • 5G Private Network: เทคโนโลยีนี้จะทำให้การเชื่อมภายในบริษัท ช่วยปกป้องข้อมูลสำคัญของธุรกิจ และสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่

นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการ SMEs หรือ Startups อยากรู้จักเทคโนโลยี 5G มากขึ้น สามารถรับชมเนื้อหาเต็มได้ที่ : https://fb.watch/cybqtAilEd/

2. เข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น ด้วยรูปแบบการชำระเงินที่หลากหลาย

ในหัวข้อนี้ คุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้จัดการทั่วไปด้านพัฒนาธุรกิจดิจิทัล จะมาชวนให้เห็นถึงโอกาสและประโยชน์ทางธุรกิจจากการใช้ช่องทางดิจิทัลในการชำระเงิน (Digital Payment) เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนที่จับจ่ายผ่านทางออนไลน์ และโมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) มากขึ้นเรื่อยๆ 

การเพิ่มช่องทางการชำระบนดิจิทัลจะทำให้คุณเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และประหยัดต้นทุนเวลาที่ต้องใช้ไปกับการนับจำนวนเงินสด ทั้งยังลดความเสี่ยงที่เงินอาจสูญหายได้อีกด้วย อีกทั้งปัจจุบันการที่ร้านค้าจะสร้างระบบการเก็บเงินออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป เพราะธนาคารผู้ให้บริการต่างก็พัฒนาระบบให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

และสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ที่อยากนำเอา Digital Payment มาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต พร้อมเพย์ หรืออีวอลเล็ต สิ่งสำคัญคือต้องเลือกใช้ช่องทางให้เหมาะกับธุรกิจของตัวเอง โดยมองผ่านโจทย์ 2 ข้อ ดังนี้

  • ประเภทสินค้าของคุณเป็นสินค้าประเภทใด และเหมาะกับการชำระแบบไหน
  • ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณมักจะชำระสินค้าผ่านช่องทางไหน 

ตัวอย่างจากโจทย์ สมมติว่าสินค้าของคุณมีราคาสูง และกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ก็มักใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ดังนั้น คุณก็ควรต้องมีช่องทางชำระผ่านบัตรเครดิต เพื่อตอบโจทย์ของลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่างทุกวันนี้ เริ่มมีบางร้านค้าเปิดให้ชำระผ่านค่าสินค้าคริปโตได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้มีความเสี่ยงสูง แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตามอง

จนถึงตรงนี้ ถ้าหากคุณเริ่มสนใจเกี่ยวกับ Digital Payment มากขึ้น สามารถรับชมเนื้อหาเต็มในหัวข้อนี้ได้ที่ : https://fb.watch/cybfrcNjoq/ 

3. โตไปได้ไกลด้วยการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ

หนึ่งในวิธีขับเคลื่อนธุรกิจให้โตไวและไปได้ไกลยิ่งขึ้น คือการมองหา ‘Partner’ หรือ ‘พันธมิตรทางธุรกิจ’ และผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความรู้และเทคนิคในเรื่องนี้ก็คือ ดร.ศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการส่วนงานเอไอเอส เดอะ สตาร์ทอัพ ซึ่งได้มาแชร์ถึงประโยชน์ของการมีพันธมิตรทางธุรกิจ และยังให้วิธีการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาพันธมิตรอีกด้วย

พันธมิตรคือผู้ที่จะมาช่วยเติมเต็มกันเป้าหมายทางธุรกิจ เพราะการเติบโตคนเดียวในโลกปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย คุณจึงจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศในธุรกิจของคุณ ให้เติบโตไปพร้อมกัน ท้ายสุดเมื่อทุกคนเติบโต ธุรกิจของคุณก็จะเติบโตไปด้วย ซึ่งก่อนที่จะมองหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องมีความชัดเจนในส่วนวัตถุประสงค์ของธุรกิจของตนเองก่อน

ในส่วนของวิธีการเลือกพาร์ตเนอร์ให้เหมาะกับธุรกิจมีอยู่ 2 ข้อหลักๆ ที่ผู้ประกอบการต้องสำรวจตัวเองเมื่อต้องการหาพันธมิตรมาร่วมงานด้วยกัน

  • สำรวจธุรกิจ โดยมองว่า ธุรกิจของเราและอีกฝ่ายจะช่วยส่งเสริมกันและกันอย่างไร การร่วมมือครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมตลาดอย่างไร และที่สำคัญคือจะแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างไร
  • สำรวจการทำงาน แน่นอนว่าเมื่อเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กัน จุดนี้ต้องพิจารณาว่าจะปรับตัว และปรับวิธีการทำงานของทั้งสองฝ่ายให้เข้ากันได้อย่างไร เพื่อบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน

เมื่อ SMEs และ Startups มองเห็นความสำคัญของการมีพันธมิตร และอยากที่จะสร้างความน่าสนใจให้กับธุรกิจของตน เพื่อดึงดูดธุรกิจอื่นให้อยากเข้ามาเป็นพันธมิตร ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องรู้ใน 3 สิ่งต่อไปนี้

  • ต้องรู้ว่าวัตถุประสงค์หรือจุดหมายของธุรกิจคุณคืออะไร
  • ต้องรู้ว่าความต้องการหรือเป้าหมายของอีกฝ่ายคืออะไร
  • มีโมเดลธุรกิจที่ออกแบบไว้ในใจ ซึ่งโมเดลนั้นต้องตอบโจทย์เป้าหมายของทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับชมเนื้อหาเพิ่มเติม เกี่ยวกับการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจได้ที่ : https://fb.watch/cjERDUiD3B/ 

มิติที่ 2 การพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงใจผู้บริโภคยุคใหม่

ในมิติของการพัฒนาสินค้าและบริการ เป็นอีกหัวใจสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมเป็น  SMEs และ Startups ที่เติบโตในยุคดิจิทัล โดยผู้ที่มาแบ่งปันความรู้เรื่องนี้ใน LiVE Guru Sharing ก็คือ คุณยศสยา วาณิชเสนี หัวหน้าแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เทคโนโลยีสื่อสารคมนาคม

และก่อนที่จะสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคได้ เราจะขอพาไปดูเทรนด์ผู้บริโภคที่คัดมาฝากกันก่อน โดยมีด้วยกัน 4 ข้อ ดังนี้

  • การต้องใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต่างหันมาซื้อสินค้า และใช้จ่ายผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น การทำสินค้าหรือบริโภค ควรต้องรองรับทั้ง 2 ช่องทาง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และช่องทางเหล่านี้จะต้องเชื่อมโยงกันได้
  • การพัฒนาบริการหรือสินค้าแบบสมัครสมาชิกรายเดือน เพื่อให้ตอบรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ยกตัวอย่าง AIS ที่ออกแบบแพ็กเกจทั้งรายเดือนและแบบเติมเงิน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าทั้ง 2 กลุ่ม
  • ผู้ผลิตมีโอกาสได้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด เช่น สายการบินที่พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับจองตั๋วเครื่องบิน ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อตั๋วได้เองโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ
  • ผู้บริโภคจะคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจใช้จ่าย และยังยินดีกับการใช้จ่ายสินค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากขึ้น

หลังจากได้เห็นเทรนด์ผู้บริโภคยุคนี้ไปแล้ว ต่อมาเราอยากพาไปดู 3 เทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการ SMEs และ Startups จะสามารถนำมาใช้ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้

  • Big Data: ข้อมูลหรือรายงานต่างๆ ของธุรกิจ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถเอามาวิเคราะห์ เพื่อหาความถี่ของพฤติกรรมที่ผู้บริโภคทำอย่างเป็นประจำได้ จากนั้นให้ข้อมูลนี้เป็นตัวช่วยคาดการณ์แนวโน้มของการบริโภค และยังต่อยอดไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้ว่า ธุรกิจของคุณจะพัฒนาสินค้าหรือบริการไปในทิศทางใด
  • Cloud Computing: บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ด้วยระบบคลาวน์ทำให้คุณสามารถสร้างระบบเก็บข้อมูล หรือระบบออนไลน์ต่างๆ โดยไม่ต้องลงทุนเอง
  • AI: การใช้ AI เข้ามาช่วยในวิเคราะห์ภาพ เสียง หรือข้อมูล และให้ AI ได้เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้แม่นยำมากขึ้น

นอกจาก เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคและเทคนิคการพัฒนาสินค้าและบริการที่เราสรุปมานี้ ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก ซึ่งคุณสามารถติดตามได้ที่ : https://fb.watch/cjDoUC3D86/  

มิติที่ 3 การพัฒนาคนให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

จะขาดไปไม่ได้เลยกับมิติของการพัฒนาคน และด้านนี้ คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มบริษัท Intouch จะมาให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาคนให้ยุคดิจิทัล

ธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างต้องขับเคลื่อนด้วยคน การที่องค์กรมีคนที่พร้อมเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสก้าวสู่การเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล แต่ในการพัฒนาคนก็มีความท้าทายอยู่เช่นเดียวกัน จุดอ่อนที่หลายองค์กรควรระวังคือการยึดติดความสำเร็จในอดีต ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการก้าวไปข้างหน้า เจ้าของธุรกิจเองควรต้องตระหนักว่าการแข่งขันนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดอยู่ตลอดเวลา

ในส่วนของพนักงาน พวกเขาเองก็ต้องกระตือรือร้นกับการปรับตัวได้ด้วยตนเอง ดังนั้น หากจะต้องเตรียมความพร้อมให้กับคนในองค์กร สิ่งที่สำคัญมากกว่าสกิลด้านดิจิทัล ก็คือ Mindset ที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ให้พร้อมนำพาธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกัน เราก็มีข้อแนะนำมาฝากกัน ดังนี้

  • เริ่มต้นจากการเลือกคนที่ใช่กับองค์กร
  • เปิดโอกาสให้เขาได้มีพื้นที่แสดงออกทางความเห็นและไอเดีย
  • คนรุ่นเก่าในองค์กรต้องเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่จากคนรุ่นใหม่ 
  • ให้เวลาคุยกับพนักงาน เพื่อคุยถึงเป้าหมายของเขา ส่งเสริมเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร
  • ช่วยให้เขาได้พัฒนาไปพร้อมกับองค์กร

สำหรับเนื้อหาในส่วนการพัฒนาคน ยังมีแนวคิดและวิธีการอื่นๆ ที่น่านำมาปรับใช้กับธุรกิจได้อีก ซึ่งคุณสามารถรับชมเนื้อหาเต็มได้ที่ : https://fb.watch/cm3ic8ykNd/

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่เราได้คัดมาฝากจากรายการ LiVE Guru Sharing ที่ผู้บริหารทั้ง 5 ท่าน จาก AIS ได้นำมาแบ่งปัน จากความท้าทายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เราเชื่อว่าการเตรียมพร้อมทั้ง 3 มิตินี้จะช่วยให้เหล่า SMEs และ Startups พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจในยุคดิจิทัลได้แน่นอน

Tags::

You Might also Like