LOADING

Type to search

จาก ‘Squid Game’ สู่ ‘Money Heist: Korea’ ‘Netflix’ ปั้นอัลกอริทึมอย่างไร ให้มี ‘Netflix Original’ ที่โดนใจเราเสมอ

จาก ‘Squid Game’ สู่ ‘Money Heist: Korea’ ‘Netflix’ ปั้นอัลกอริทึมอย่างไร ให้มี ‘Netflix Original’ ที่โดนใจเราเสมอ
Share

‘ป้ายนี้เราปล้นแล้ว!’

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายๆ คนคงเห็นข้อความนี้ ไวรัลอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อความจากแคมเปญ ‘ขโมยป้ายโฆษณาทั่วกรุงเทพฯ’ ที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ซีรีส์เรื่อง ‘Money Heist: Korea – Joint Economic Area’ ที่มีฤกษ์ลงฉายบนเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ในวันนี้ (24 มิถุนายน)

ช่วงกลางปี 2021 เน็ตฟลิกซ์ สตรีมมิงชื่อดังระดับโลกประกาศว่า จะมีการรีเมกซีรีส์สัญชาติสเปนอันดับหนึ่งในดวงใจของใครหลายๆ คนอย่าง ‘ทรชนคนปล้นโลก’ (Money Heist) มาเป็น Netflix Original ฉบับ ‘เกาหลี’ ที่ใช้การถ่ายทอดเรื่องราวในบริบทและสภาพสังคมของเกาหลีทั้งหมด

หลังจากที่มีการประกาศรีเมกซีรีส์เรื่องนี้ ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างล้นหลาม ทั้งในแง่มุมที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ฟากฝั่งของคนที่ไม่เห็นด้วยให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ซีรีส์เรื่องนี้ มันมีความเป็น ‘one and only’ ที่ขึ้นหิ้งไปแล้ว ไม่ควรนำกลับมารีเมกอีก ส่วนฟากฝั่งของคนที่เห็นด้วย ล้วนแต่แสดงความตื่นเต้น และเชื่อมั่นว่า คุณภาพการสร้าง ‘K-Content’ ของเกาหลี ต้องทำให้ซีรีส์รีเมกมีความน่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กับต้นฉบับอย่างแน่นอน

ต้องบอกว่า เน็ตฟลิกซ์ จริงจังกับการรีเมกซีรีส์เรื่องนี้มากจริงๆ ถึงจะไม่เห็นตัวเลขของทุนในการสร้าง แต่จากตัวอย่างที่ปล่อยออกมาให้รับชม ก็เห็นถึงความอลังการทั้งฉาก แสง สี เสียง และการฟาดฟันบทบาทของนักแสดงชั้นนำมากมาย และเราคงต้องมารอลุ้นกันว่า กระแสตอบรับของซีรีส์รีเมกเรื่องนี้ จะเป็นอย่างที่เน็ตฟลิกซ์คาดหวังไว้หรือไม่?

ย้อนรอยความสำเร็จของ Netflix Original เรื่องอื่นๆ

หากพูดถึง Netflix Original ชื่อแรกที่คุณจะนึกถึงคืออะไร?

‘Stranger Things’

‘Bridgerton’

‘Squid Game’

รวมถึงชื่ออื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย ล้วนแต่เป็นชื่อของซีรีส์ชื่อดังที่ออกฉายเมื่อไร ต้องเป็นกระแสที่ถูกพูดบนโลกออนไลน์ทุกที และชื่อของซีรีส์เหล่านี้ กลายเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่ทำให้เน็ตฟลิกซ์สามารถยืนหยัดเป็นสตรีมมิงระดับโลกมาได้จนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางการรับมือกับมรสุมลูกแล้วลูกเล่าที่พัดผ่านเข้ามา

อย่างในตอนนี้ เน็ตฟลิกซ์เองก็กำลังประสบปัญหาจากการสูญเสียผู้ใช้งานมากเป็นประวัติการณ์ และหนึ่งตัวเลือกที่เน็ตฟลิกซ์ใช้ในการกอบกู้สถานการณ์ ก็คือการประกาศสร้างภาคต่อของ Netflix Original ที่โด่งดัง เพื่อหวังเรียกฐานแฟนคลับของซีรีส์แต่ละเรื่องกลับเข้าแพลตฟอร์มโดยเร็วที่สุด แสดงให้เห็นว่า ความมั่นคงของเน็ตฟลิกซ์ถูกผูกติดไว้กับชื่อเสียงของ Netflix Original เช่นกัน

แล้วทุกคนเคยสงสัยไหมว่า ทำไมเน็ตฟลิกซ์ทำ Netflix Original เรื่องไหนออกมา ก็ถูกพูดถึงจนเป็นกระแสเสมอ รวมถึงเป็นซีรีส์ขึ้นแท่นหนึ่งในดวงใจของใครหลายๆ คน?

ทำไมถึงมี ‘Netflix Original’ ที่โดนใจเราเสมอ?

อย่างแรก คงต้องยอมรับว่า เป็นเพราะ ‘ความทุนหนา’ ในการทุ่มงบอัดฉีดการผลิต และ ‘ความกล้า’ ในการให้โอกาสผู้ผลิตหน้าใหม่ ทำให้คอนเทนต์มีความหลากหลาย และเป็นสิ่งที่ตลาดไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงการจับมือเป็นพันธมิตรกับค่ายผู้ผลิตคอนเทนต์มากความสามารถ โดยเฉพาะ K-Content หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ซีรีส์เกาหลี’ ทำให้เน็ตฟลิกซ์ได้ฐานแฟนคลับขนาดใหญ่ของคอนเทนต์กลุ่มนี้ตามมาด้วย

แต่มีเพียงคอนเทนต์ที่ดีอย่างเดียวคงไม่พอ หากสตรีมมิงที่นำคอนเทนต์ไปเผยแพร่ ไม่มีการพัฒนาระบบหลังบ้านหรืออัลกอริทึมให้โดดเด่นขึ้นมาได้ คอนเทนต์เหล่านั้น ก็คงไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของผู้คนอย่างแน่นอน และนี่จึงเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่ทำให้ Netflix Original สามารถช่วงชิงพื้นที่สื่อได้ผ่านการบอกเล่าแบบปากต่อปาก แม้จะเผยแพร่คอนเทนต์แค่ในแพลตฟอร์มของตัวเองก็ตาม

ดังนั้น Netflix Original เป็นเหมือนผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และการใช้เทคโนโลยีได้อย่างลงตัว ทำให้มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง หากเปรียบกับกลยุทธ์ในการทำศึกสงคราม คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ คงเป็นสายบู๊ที่เข้าบุกยึดพื้นที่ในใจคน ส่วนอัลกอริทึมที่ดี ก็เป็นเหมือนสายบุ๋นที่ผลักดันให้คอนเทนต์ เข้าสู่สายตาผู้คนมากขึ้น

‘Netflix’ ปั้นอัลกอริทึมเพื่อผลักดัน Netflix Original อย่างไร?

ย้อนกลับไปในอดีต ยุคที่เน็ตฟลิกซ์ เป็นเพียงธุรกิจเช่าหนังแบบออนไลน์ที่หมายมั่นจะเข้ามาดิสรัปต์เจ้าตลาดรายใหญ่อย่าง ‘บล็อกบัสเตอร์’ (Blockbuster) ลองคิดภาพตามเล่นๆ ว่า ธุรกิจเล็กๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน เงินทุนก็มีไม่เท่าเขา จะเอาอะไรไปสู้ได้?

แต่ ‘รีด ฮาสติงส์’ (Reed Hasting) พิสูจน์แล้วว่า ‘เขาทำได้’ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เขาสามารถเอาชนะ และแซงหน้าบล็อกบัสเตอร์ไปได้ ก็คือ ‘ข้อมูลและสถิติ’ ที่เป็นรากฐานในการพัฒนาอัลกอริทึมของเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง และสิ่งนี้ ก็ทำให้เน็ตฟลิกซ์รอดตายมาได้นับครั้งไม่ถ้วน

ในช่วงที่ธุรกิจการเช่าหนังกำลังไปได้สวย เน็ตฟลิกซ์ก็ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการสต็อกแผ่นดีวีดี (DVD) ของหนังแต่ละเรื่องที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ทำให้ลูกค้าค่อยๆ ออกจากการเป็นสมาชิกไป เพราะจะเช่าเรื่องที่ต้องการจะดูทีไร ก็มาเช่าไม่ทันคนอื่นสักที และกว่าที่จะได้เช่าหนังที่ต้องการจะดู ต้องรอคิวนานมาก

รีดจึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการปรับอัลกอริทึมบนหน้าเว็บไซต์ให้แนะนำแต่เรื่องที่มีในสต็อก โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ว่า คนที่มาเช่าหนังเรื่อง A มักจะเช่าหนังเรื่อง B ที่มีพล็อตเรื่องคล้ายๆ กันต่อด้วย ทำให้คนที่ต้องการจะเช่าเรื่อง A ไปเช่าเรื่อง B ที่มีในสต็อกเพื่อดูฆ่าเวลาก่อน พอดูเรื่อง B จบ เรื่อง A ก็ว่างให้เช่าพอดี ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด และยังเป็นโมเดลต้นแบบของอัลกอริทึมในปัจจุบันด้วย

ในปัจจุบัน เน็ตฟลิกซ์ใช้อัลกอริทึมที่ผ่านการพัฒนาจากทีมวิศวกรมากความสามารถที่มีชื่อว่า ‘Recommendation Algorithms’ เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) และ Machine Learning หรือการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) จนเกิดเป็นการคัดสรรคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับแต่ละคน รวมถึงผลักดันคอนเทนต์ที่ต้องการจะขายให้ขึ้นมาอยู่ในจุดที่สะดุดตาที่สุด

ถามว่า อัลกอริทึมของเน็ตฟลิกซ์เริ่มเรียนรู้ความชอบของเราตั้งแต่เมื่อไร?

ก็ต้องบอกว่า ตั้งแต่จังหวะที่เราทำการสมัครสมาชิกเสร็จสิ้น และมีหน้าต่างขึ้นมาให้เราเลือกคอนเทนต์ที่ชอบสูงสุด 3 อันดับ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ Machine Learning กำลังเรียนรู้ความชอบของเราแล้ว หลังจากนั้น อัลกอริทึมจะทำการเก็บข้อมูลจากสิ่งที่เราชอบไปเรื่อยๆ จนเริ่มแนะนำคอนเทนต์อื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ก็คือ ‘ภาพปก’ อันโดดเด่นที่เราเห็นกันก่อนจะคลิกเข้าไปชมคอนเทนต์ สิ่งนี้ ก็เกิดมาจากการทำนายของอัลกอริทึมเช่นกันว่า เราจะเลือกคลิกคอนเทนต์ที่มีหน้าปกแบบใด หรือต้องใช้ภาพของนักแสดงคนใดมาดึงดูดเราให้เข้ามาชมคอนเทนต์

ถึงแม้ว่า ช่วงนี้ กระแสความนิยมของเน็ตฟลิกซ์อาจจะลดลงไปบ้าง จากการดิสรัปต์ของผู้เล่นในตลาดสตรีมมิงรายใหม่ และข่าวการสูญเสียผู้ใช้งานจำนวนมากที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ก็ต้องยอมรับว่า เน็ตฟลิกซ์เป็นบริษัทที่มีการพัฒนาในด้านของคน ระบบ และทรัพยากรอยู่ตลอด รวมถึงเป็นบริษัทที่ยึดมั่นในการใช้ข้อมูลทางสถิติ ซึ่งนี่อาจจะเป็นหนึ่งในหมัดเด็ดที่ทำให้เน็ตฟลิกซ์สามารถกลับมาผงาดอีกครั้งก็เป็นได้

แล้วสำหรับทุกคน Netflix Original เรื่องโปรดที่เป็นอันดับหนึ่งในดวงใจที่สุดคือเรื่องอะไร?

Sources: https://bit.ly/3u1WFFE

https://bit.ly/3HSFagK

https://bit.ly/3HQlHNJ

https://bit.ly/3OCxKQS

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1