LOADING

Type to search

เจาะลึกเศรษฐกิจ CLMV ปี 2023 ชาติเพื่อนบ้านมีแนวโน้มเติบโตสวนกระแสโลก

เจาะลึกเศรษฐกิจ CLMV ปี 2023 ชาติเพื่อนบ้านมีแนวโน้มเติบโตสวนกระแสโลก
Share

นักวิเคราะห์ประเมินทิศทางเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) คาด ปีนี้ขยายตัวแกร่งสวนทางภาวะเศรษฐกิจโลก จากอานิสงส์กำลังซื้อในประเทศและการท่องเที่ยวฟื้น ‘เวียดนาม’ ยังเป็นชาติเติบโตสูงสุด พร้อมแนะนำนักลงทุนไทย ได้เวลากลับเข้าไปรอบใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยบทวิเคราะห์คาดการณ์เศรษฐกิจ CLMV ปี 2023 ระบุว่า ชาติเพื่อนบ้านในอาเซียนกลุ่มนี้ มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ยังคงต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

โดยอัตราการเติบโตแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ ประเมินว่า กัมพูชาจะขยายตัว 5.5 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าลาว และเมียนมา ที่จะโต 3 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน

ส่วนเวียดนามเป็นประเทศที่มีการเติบโตดีที่สุดในกลุ่ม คาดว่าจะโตได้ 6.2 เปอร์เซ็นต์

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโต คือ การบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงาน เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนาม ไตรมาส 4 ปี 2022 ที่เพิ่มแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ภาคบริการก็ได้รับอานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีความสำคัญและคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30 – 35 เปอร์เซ็นต์ ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2019 หลังรัฐบาลจีน อนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางไปกัมพูชา และลาว ได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023

การเติบโตนี้คาดว่า จะสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในฝั่งโลกตะวันตก และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของกลุ่ม CLMV ทำให้มีการขยายตัวต่ำ โดยเวียดนาม จะเป็นชาติที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ยังรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่ำกว่าคาด ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูง รวมถึงการเมืองภายในประเทศและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก

สรุปข้อมูลการวิเคราะห์รายประเทศ มีดังต่อไปนี้

1. กัมพูชา

เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวแกร่งที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง (มีสัดส่วน 18.2 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ก่อนโควิด-19) ส่งผลให้ตลาดแรงงานและอุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัวตาม เงินเฟ้อทยอยลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก

อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ ซึ่งจะกระทบการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แม้การเปิดประเทศของจีน จะช่วยลดทอนผลกระทบได้บ้าง รวมถึงหนี้ภาคเอกชนสูง ท่ามกลางภาวะการเงินตึงตัวเป็นความเสี่ยงที่น่าจับตา

2. ลาว

เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปที่ 3 เปอร์เซ็นต์ จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย และการเปิดประเทศของจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นทั้งด้านการค้าและการลงทุน รถไฟความเร็วสูงจีน – ลาว จะช่วยให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศแข็งแกร่งขึ้น

ทั้งนี้ เศรษฐกิจลาวจะยังขยายตัวต่ำ เนื่องจากเงินเฟ้อสูงขึ้นมากตามการอ่อนค่ารุนแรงของเงินกีบ ซึ่งกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค และทำให้หนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศสูงขึ้น เมื่อเทียบกับระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีไม่มากนัก

3. เมียนมา

เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ หลังความไม่แน่นอนทางการเมืองทยอยลดลง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากการบริการพื้นฐานต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ยังคงหยุดชะงัก

ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะกระทบภาคการผลิตและส่งออกในระยะปานกลาง เศรษฐกิจเมียนมามีศักยภาพในการขยายตัวต่ำ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายช้า ส่งผลให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตรต่อเนื่อง การเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในปีนี้ จะมีผลจำกัดต่อการฟื้นความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

4. เวียดนาม

เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงที่ 6.2 เปอร์เซ็นต์ หลังขยายตัวสูง 8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2022 โดยมีปัจจัยกดดันหลักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กระทบการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เวียดนามพึ่งพาสูง และจะกระทบภาคการผลิตและการจ้างงานตามมา 

ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้นจะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันอุปสงค์ในประเทศ และอาจทำให้บางบริษัทเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องหลังภาวะการเงินตึงตัวขึ้นมาก ในระยะปานกลางเวียดนามจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนของบริษัทข้ามชาติ เพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก

การลงทุนของไทยใน CLMV

นักลงทุนจากไทยเข้าไปใน CLMV ซบเซาในปี 2022 แต่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับต่ำในปีนี้ ปัจจัยกดดันช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง เงินเฟ้อสูงขึ้นซึ่งเพิ่มต้นทุนต่อธุรกิจ และความเสี่ยงรายประเทศ เช่น สถานการณ์การเมืองในเมียนมาไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน 

นอกจากนี้ การลงทุนในต่างประเทศจำเป็นต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อมค่อนข้างนาน และสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้โครงการต่างๆ ถูกเลื่อนออกไป 

ปัจจัยกดดันเหล่านี้จะยังคงอยู่ แต่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง ตลอดจนข้อจำกัดการเดินทางภายในภูมิภาคที่หมดไป จะกระตุ้นให้การลงทุนสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะปานกลาง

SCB EIC มองว่า CLMV ยังเป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจต่อนักลงทุนไทยและต่างชาติ เนื่องจากมีค่าแรงค่อนข้างต่ำ ตลาดในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง และมีสนธิสัญญาการค้าเสรีต่างๆ กับประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นฐานการผลิตไปตลาดใหญ่ เช่น จีน และอินเดีย ได้อีกด้วย

Source: SCB EIC

Tags::