LOADING

Type to search

นักเศรษฐศาสตร์โนเบลเผยเหตุผล ทำไม ‘SVB’ ล้มละลาย ไม่น่ากลัวเหมือน ‘เลห์แมน บราเธอร์ส’ ในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

นักเศรษฐศาสตร์โนเบลเผยเหตุผล ทำไม ‘SVB’ ล้มละลาย ไม่น่ากลัวเหมือน ‘เลห์แมน บราเธอร์ส’ ในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
Share

ข่าวการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ (SVB) ในสหรัฐอเมริกา ช่วงสุดสัปดาห​์ที่ผ่านมา สร้างความวิตกไปทั่วโลกเพราะเกรงว่า เหตุการณ์นี้อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ คล้ายการล่มสลายของ ‘เลห์แมน บราเธอร์ส’ ในวิกฤต ‘แฮมเบอร์เกอร์’ เมื่อปี 2008

พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และคอลัมนิสต์ของ The New York Times เขียนบทความล่าสุด ระบุว่า ความวิตกดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นจริง โดยใช้ชื่อบทความว่า Silicon Valley Bank Isn’t Leman (ธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ ไม่ใช่เลห์แมน)

เหตุผลสำคัญที่ พอล ครุกแมน ยกขึ้นมาอธิบายเปรียบเทียบการล่มสลายของ SVB ในปี 2023 กับเลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 2008 เพื่อยืนยันว่า ทั้งสองเหตุการณ์แตกต่างกันสามารถสรุปได้ ดังนี้

1. แม้ทั้ง SVB และเลห์แมนฯ ไม่ใช่หนึ่งในสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่สุดของอเมริกาเหมือนๆ กัน แต่ SVB มีความเฉพาะทางมากกว่า เพราะพยายามสร้างภาพตัวเองเป็น “ธนาคารเพื่อเศรษฐกิจนวัตกรรมระดับโลก”

แต่ความจริงก็คือ ขณะ SVB ให้บริการทางการเงินกับบรรดาสตาร์ตอัป แบงก์เจ้านี้ไม่ได้ปล่อยกู้ให้ธุรกิจกลุ่มนี้มากนัก เพราะสตาร์ตอัปส่วนใหญ่มักใช้เงินทุนจากบริษัทร่วมทุน หรือ venture capital (VC)

2. เส้นทางการไหลของเงินในระบบของ SVB เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ เพราะบริษัทเทคฯ มักเป็นผู้นำเงินมาฝากไว้กับ SVB แทนที่จะเป็นฝ่ายกู้จากแบงก์นี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนในวงการเทคฯ กลุ่มนี้ มองว่า SVB คือธนาคารของพวกเขา (เพราะใช้ชื่อ ‘ซิลิคอน แวลลีย์’)

3. เมื่อธนาคารได้เงินมาจากสตาร์ตอัป จะนำเงินจำนวนมากไปเก็บไว้ในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ส่วนใหญ่คือการซื้อพันธบัตรรัฐบาลแบบระยะยาว ซึ่งเป็นการลงทุนที่น่าเบื่อ แต่ความปลอดภัยสูง

SVB ทำเงินจากการลงทุนลักษณะนี้ได้ระยะหนึ่ง เพราะในโลกที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ พันธบัตรระยะยาวมักจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าการถือพันธบัตรระยะสั้น และแน่นอนว่าได้ดอกเบี้ยดีกว่าการฝากเงินกับแบงก์ทั่วไป

4. กลยุทธ์นี้ของ SVB มีความเสี่ยงใหญ่ๆ 2 ด้าน คือ

4.1. หากมีการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น กำไรที่ SVB เคยได้จะหายไป และหากดอกเบี้ยระยะยาวเพิ่มขึ้นด้วย มูลค่าตลาดของพันธบัตรที่ SVB ถือไว้ ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าพันธบัตรออกใหม่ จะมีมูลค่าลดลง ทำให้ขาดทุนหนัก และแน่นอน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน

4.2. ขณะที่รัฐบาลคำ้ประกันเงินฝากไม่เกิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อบัญชี แต่ลูกค้าเงินฝากของ SVB ส่วนใหญ่ ออมเงินบัญชีละหลายล้านดอลลาร์ โดยมีอย่างน้อย 1 ราย ซึ่งเป็นบริษัทคริปโต ฝากถึง 3,300 ล้านดอลลาร์

เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของ SVB มีเงินฝากเกินวงเงินที่รัฐค้ำประกัน ทำให้ SVB เสี่ยงต่อการเกิด ‘bank run’ หรือคนแห่ไปถอนเงินพร้อมกัน เมื่อรู้สึกว่าธนาคารไม่มั่นคง

5. ในปี 2008 สินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบกระจายอยู่ในทุกประเภท โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) แต่การลงทุนของ SVB ไม่ได้หวือหวาเหมือนเลห์แมนฯ ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่น่าจะรุนแรงเท่าในอดีต

6. ความเสียหายจากการล้มละลายของ SVB หลักๆ จะเป็นผลกระทบทางธุรกิจสำหรับบริษัทที่เป็นลูกค้า โดยบริษัทต่างๆ จะไม่สามารถเข้าถึงเงินสดที่ฝากไว้ และอาจเลวร้ายมากขึ้น หากการล้มละลายของ SVB นำไปสู่การแห่ถอนเงินในธนาคารขนาดกลางเจ้าอื่นๆ ด้วย

7. รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจถูกต้องที่เข้าไปช่วยรับประกันเงินฝากให้กับบัญชีเงินฝากทั้งหมดของ SVB แม้เกินวงเงินค้ำประกัน 250,000 ดอลลาร์ มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องเข้าใจว่า การเข้ามาอุ้มบัญชีเงินฝากของรัฐบาล ไม่ใช่การอุ้มผู้ถือหุ้น รัฐบาลเข้ามายึด SVB และมูลค่าของมันก็หายไป

8. สิ่งนี้คือการช่วยรักษาธุรกิจของบางบริษัทจากผลพวงของความผิดพลาดของบริษัทเอง ที่นำเงินจำนวนมากไปฝากไว้กับธนาคารเดียว ซึ่งเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดมาก (สำหรับพอล) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่า บริษัทเทคฯ จำนวนมากเคยออกมาเรียกร้องต่อต้านการแทรกแซงของรัฐ จนกระทั่งเมื่อพวกเขาเองต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยโอบอุ้ม

9. พอล เชื่อว่า เรื่องทั้งหมดนี้อาจไม่เกิดขึ้น หาก SVB และสถาบันการเงินอื่นๆ ไม่ออกมาวิ่งเต้นให้รัฐบาลยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสภาคองเกรส ผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถาบันการเงิน

แต่ข่าวดีก็คือ ประชาชนผู้จ่ายภาษีทั่วไปจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากความช่วยเหลือนี้ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่า SVB จะผิดนัดชำระหนี้จริงๆ สิ่งที่ SVB ไม่สามารถทำได้ คือ การหาเงินสดมาจ่ายให้กับลูกค้าที่แห่มาถอนเงิน

ทันทีที่สิ่งนี้กลับสู่ภาวะปกติ พอล ระบุว่า สินทรัพย์ทั้งหมดของ SVB น่าจะพอ หรือเกือบเพียงพอชดใช้ให้ลูกค้าผู้ฝากเงินทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องหาทุนจากข้างนอกมาเพิ่ม จากนั้น SVB ก็แค่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

โดยพอล ครุกแมน เชื่อมั่นว่า การล้มละลายของ SVB จะไม่ซ้ำรอยเลห์แมน บราเธอร์ส ในแง่ที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่อีกครั้งอย่างที่หลายคนหวาดวิตก

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: http://bit.ly/400s1d2

Tags::