LOADING

Type to search

คุยรู้เรื่องจู่ ๆ ก็ไม่รู้เรื่อง : 6 ขั้นตอนของการคุยกันไม่รู้เรื่อง

คุยรู้เรื่องจู่ ๆ ก็ไม่รู้เรื่อง : 6 ขั้นตอนของการคุยกันไม่รู้เรื่อง
Share

คอลัมน์ : OF-FIT สู่ชีวิตลงตัว
เขียน : ดร. เดชรัต สุขกำเนิด

ผมเกิดมาและมีชีวิตอยู่ในสังคมที่หลายๆ ครั้งเราคุยกันไม่รู้เรื่องในเรื่องที่มีความสำคัญต่อตัวเรา ต่อคนที่เราคุยด้วย และต่อสังคมของเราเอง

หลายครั้ง เพื่อนๆ ที่คุยกันไม่รู้เรื่อง  ก็เป็นคนเดียวกับที่เราเคยคุยกันรู้เรื่องในเรื่องอื่นๆ นั่นแหละ แต่เป็นเรื่องน่าประหลาดที่เมื่อเราเริ่มคุยกันไม่รู้เรื่อง (ในเรื่องนั้น) ก็เหมือนเราจะคุยกันไม่รู้เรื่องในเรื่องอื่นๆ ตามมาด้วย หรืออาจจะยังคุยกันได้อยู่แต่ไม่อินหรือไม่สนิทกันเท่าเดิม

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เราทำกันในสังคมนี้ คือ หลีกเลี่ยงการคุยเรื่องที่เห็นต่างนั้นไป เสมือนว่าเรื่องนั้นไม่สำคัญสำหรับเรา และเราก็อยู่ด้วยกันต่อไป เสมือนว่า ไม่ต้องแคร์ในเรื่องนั้นอีก

ผมเฝ้าสังเกตการณ์การคุยกันไม่รู้เรื่องของผมและเพื่อนๆ ผมคิดว่าภาวะการณ์คุยกันไม่รู้เรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายในครอบครัว/องค์กร หรือเรื่องระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งข้ามประเทศ (เช่น การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง) มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอยๆ (คือ จู่ๆ ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง) แต่มันเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นแบบเป็นแผน ที่อาจไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็ใกล้เคียงกันมาก

ผมจึงเลยขอสรุปประสบการณ์การคุยกันไม่รู้เรื่อง (ของตัวผมเอง) มาเป็น 6 ขั้นตอนของการคุยกันไม่รู้เรื่อง ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การตั้งเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจงในเรื่องนั้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ภาวการณ์คุยกันไม่รู้เรื่องมักจะเกิดขึ้น เมื่อผม (และเพื่อนบางคน) เริ่มตั้ง “เป้าหมาย” ที่ “จำเพาะเจาะจง” ว่าเรื่องนั้น จะต้องจบแบบนั้นแบบนี้เท่านั้น ซึ่งมันแปลว่า ผมไม่อยากให้จบแบบอื่นๆ และผมไม่อยากได้ยินผู้ที่คิดเห็นเป็นอย่างอื่น ซึ่งอาจสั่นคลอนต่อเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจงของผม ผมจึง “ตั้งป้อม” ในการ “ปกป้อง” สิ่งที่เป็นเป้าหมายของผม ยิ่งถ้าผมประกาศออกไปดัง กว้างขวาง และ (ดู) ทรงพลังมาเท่าไร? (เช่น …คือการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของชีวิตผม ผมจะตายตาหลับถ้า…) ประตูของการคุยกันไม่รู้เรื่อง ยิ่งเปิดกว้างสำหรับผมมากขึ้นเท่านั้น

ขั้นตอนที่ 2 การตั้งชื่อฝ่ายที่คิดต่าง

ถึงแม้เราจะก้าวข้ามสู่ประตูบานแรกเรื่อง “การตั้งเป้าหมาย” มาแล้ว แต่ในความเป็นจริง เราก็ยังสามารถกลับไปคุยกับเพื่อนๆ ที่เห็นต่างให้พอเข้าใจและยอมรับความต่างกันได้ หากยังไม่ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ซึ่งในสังคมที่ผมอยู่ พวกเราเก่งในเรื่องนี้กันมาก นั่นคือ การตั้งชื่อฝ่ายคิดต่าง ให้ดูไม่ดี และให้อยู่ตรงข้ามกับความคิดหรือเป้าหมายของเราให้มากที่สุด (ขออนุญาตไม่ยกตัวอย่างในกรณีนี้) สำหรับผม การตั้งชื่อเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้การก้าวเข้าสู่การคุยกันไม่รู้เรื่องในขั้นตอนที่ 3 และ 4 ทำได้ง่ายและบ่อยครั้งขึ้น รวมถึงสนุกปากมากขึ้นด้วย

อนึ่ง ในบางกรณี การตั้งชื่ออาจไม่ใช่การเรียกชื่อใหม่ แต่อาจยกองค์กร/กลุ่มคนที่ดูจะได้รับการยอมรับน้อยที่สุดของอีกฝ่ายหนึ่ง มาเป็นชื่อเรียกฝ่ายนั้นแทน เช่น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสารพาราควอทจะเรียกฝ่ายที่ต้องการให้แบนสารพารควอทว่า ฝ่าย NGO ไม่ใช่ “ฝ่ายผู้บริโภค” (บางกลุ่มที่ไม่อยากให้มีสารพาราควอทตกค้าง) ส่วนฝ่ายที่อยากให้ยกเลิกสารพารควอทก็จะเรียกฝ่ายตรงข้ามว่า ฝ่ายบริษัทสารเคมี ไม่ใช่ “ฝ่ายเกษตรกร” (บางกลุ่มที่ยังต้องการใช้สารพาราควอท)

ขั้นตอนที่ 3 การขยายความความคิดของฝ่ายตรงข้ามให้เกินกว่าที่เสนอจริง

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ผมปวดใจมากที่สุด เพราะเป็นขั้นตอนที่แสดงให้เห็นว่าทักษะการฟังและจับใจความของเรานั้นแย่มาก เราจึงสรุปในสิ่งที่เขาเสนอมาเกินจริง (หมายความว่า เกินกว่าที่เขาเสนอมา) ไป เช่น ฝ่ายหนึ่งเสนอว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ยังไม่ทันได้บอกว่าจะแก้อย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งก็จะสรุปและขยายความไปว่า นั่นแปลว่า ฝ่ายนั้นต้องการแก้เป็นแบบ….

ผมคิดว่า นอกเหนือจากทักษะในการฟังและจับใจความที่ไม่ค่อยดีแล้ว การขยายความให้เกินจริงอาจเกิดขึ้นจาก ความกังวลที่ว่า สิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งนำเสนอยังอยู่ในวิสัยที่หารือหรือตกลงกันได้ ซึ่งอาจทำให้เป้าหมายที่จำเพาะเจาะจงของเราไม่บรรลุผลสมบูรณ์ เราจึงพยายามขยายความข้อเสนอของเขาให้อยู่นอกเขตการตกลงกันได้ไปเสียเลย

ขั้นตอนที่ 4 การตอกย้ำความผิดพลาดของฝ่ายตรงข้าม

ขั้นตอนนี้ ไม่ต้องพูดมาก บอกได้เลยว่า เวลาใช้ร่วมกันกับขั้นตอนที่ 2 นั้นจะสนุกปากมากๆ และหากใช้ร่วมกันกับขั้นตอนที่ 5 (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) ยิ่งสนุกปากเข้าไปใหญ่ เพราะไม่ต้องระมัดระวังการสวนกลับ (หากเราเป็นฝ่ายที่เข้าใจผิดเสียเอง)

จริงๆ แล้ว ขั้นตอนนี้ อาจดูเหมือนไม่สำคัญ แต่ขั้นตอนนี้จะมีผลมากในการทำให้ความนับถือและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันค่อยๆ น้อยลงไปเรื่อย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการดำเนินการตามขั้นตอนที่ 5 และ 6 ต่อไป ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เรารู้สึกว่า ไม่ต้องคุยกับฝ่ายอื่นๆ อีกต่อไปแล้ว

ทั้งนี้ ผมมิได้หมายความว่า หากเราพบความผิดพลาดของฝ่ายเห็นต่างแล้วให้เราเพิกเฉยหรือข้ามไปนะครับ

เราสามารถแย้งหรือโต้เถียงได้ แต่ไม่ใช่มุ่งกระทำเพื่อลดทอนความไว้ใจหรือความนับถือระหว่างกัน

แต่มันยากมากเลย ตัวผมเองก็มักจะก้าวข้ามเส้นตรงนี้ไปแสดงความขำขันหรือเยาะเย้ยในความผิดพลาดของผู้ที่เห็นต่างอยู่เสมอ

ขั้นตอนที่ 5 การคุยเฉพาะฝ่ายที่คิดเหมือนกัน (มันส์กว่า??)

เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ ประตูที่เราจะคุยกันรู้เรื่องนั้นแทบจะปิดตายลงแล้วครับ แต่แน่นอนว่า ด้วยความที่เรื่องนั้นยังเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเรา เป็นเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจงสำหรับเรา เราย่อมอยากคุยเรื่องนั้นต่อ แต่เราจะทำอย่างไร ในเมื่อเพื่อนบางส่วนไม่อยากคุยกับเราแล้ว เราก็เลยคุยกับคนที่คิดเหมือนกันซะเลย

การคุยกับคนที่คิดเหมือนกันกับเราทำให้เราไม่ต้องใช้ความระมัดระวังมากนัก เพราะฉะนั้น การตั้งชื่อในขั้นตอนที่ 2 และการขยายความผิดพลาดของผู้ที่คิดต่างในขั้นตอนที่ 4 จึงกระทำด้วยความสนุกปาก ขณะเดียวกัน การตรวจสอบความถูกต้องของการสรุปความและการขยายความของเรา ในขั้นตอนที่ 3 ก็จะกระทำได้โดยสะดวก เพราะมีการตรวจสอบจากผู้ที่คิดต่างน้อยลงไปด้วย

นอกจากนั้น การคุยกันเฉพาะผู้ที่เห็นตรงกัน ยังมีส่วนช่วยให้การกระทำในขั้นตอนที่ 1 หรือการกำหนดเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจงดูสมเหตุสมผล ดูเปี่ยมพลัง และดูสำคัญสำหรับ “แผ่นดิน” มากขึ้นด้วย

ขั้นตอนที่ 6 หลีกเลี่ยงพื้นที่หรือกระบวนการที่เราจะสามารถ “เรียนรู้ร่วมกัน”

อย่างที่กล่าวไว้ว่า จริงๆ แล้วเมื่อมาถึงขั้นตอนที่ 5 โอกาสเลี้ยวกลับไปสู่การคุยกันให้รู้เรื่องก็แทบไม่มีอยู่แล้ว แต่ประตูนั้นจะถูกปิดกั้นสมบูรณ์เมื่อเราหลีกเลี่ยง “กระบวนการ” ที่เราจะ “เรียนรู้ร่วมกัน” ได้ เช่น การทดลองทำอะไรบางอย่างร่วมกัน การทดลองรับฟัง/เยี่ยมชม “ชีวิต” และ “บริบท” ของเพื่อนๆ ที่เห็นต่างจากเรา เพราะเราอาจไม่ค่อยมั่นใจในตัวเขาแล้ว หรือ เราอาจเห็นว่า เป้าหมายของเราสำคัญเกินกว่าที่จะมาเสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเราเอง

แน่นอนว่า กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ต้องการการลงทุนที่สูงไม่ใช่ในแง่ตัวเงิน แต่ในแง่ความไว้วางใจ ในแง่การวางแผน/ออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่ลำเอียง (แบบตั้งใจ) ในแง่ระยะเวลาที่ต้องรอคอยผล และในแง่ที่ที่คนที่มาร่วมเรียนรู้จะต้องกลับไปคุยกับคนที่มิได้มาร่วมเรียนรู้ (และเคยคิดเหมือนตน) กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจึงเกิดขึ้นได้น้อยครั้งมากในสังคมที่ผมอยู่

เมื่อเป็นเช่นนี้ เรา (โดยเฉพาะผม) จึงค่อนข้างมั่นใจว่า เมื่อผมมาถึงขั้นตอนที่ 5 แล้ว ผมและเพื่อนมักจะคุยกันไม่รู้เรื่องอีกแล้ว และหากผมจะรักษาเพื่อน (และ/หรือ เพื่อนจะรักษาผม) เราก็จะกลบเกลื่อนด้วยการคุยกันเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ค่อยสำคัญแทน

นั่นเป็นวิธีที่ผมใช้ในสังคมที่ผมอยู่ และผมก็เป็นหนึ่งในการทำให้มันจบลงแบบนั้นด้วย

ถ้าผมจะเปลี่ยนแปลงตัวผมเองบ้าง ผมคิดว่า การเลิกตั้งชื่อฝ่ายที่คิดต่างให้ดูแย่ (ขั้นตอนที่ 2) น่าจะทำได้ง่ายที่สุด

แต่การไม่ตั้งเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจงเกินไป (ขั้นตอนที่ 1) น่าจะสำคัญที่สุด (เพราะเป็นจุดเริ่มต้น) และการฝึกหรือทนคุยกับเพื่อนที่คิดต่างกันบ้าง (ตรงข้ามกับขั้นตอนที่ 5) น่าจะยากที่สุด และหากมีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่ปลอดภัย (ในแง่ความคิดและทัศนคติ) ผมก็น่าจะเข้าร่วมให้มากขึ้นครับ

เพราะผมก็อึดอัดใจกับตัวผมเองและสังคมที่ผมอยู่มาก เช่นกันครับ

Tags::

You Might also Like