‘ลดครั้งยิ่งใหญ่ในรอบปี ครั้งนี้ครั้งเดียวกับ 5.5 Shopping Day!’
‘นาทีนี้ ไม่มีไม่ได้แล้ว! รีสต็อกน้องลาบูบู้ กดใส่ตะกร้าพร้อมกัน 00:00 น. ไม่ซื้อตอนนี้ ระวังไม่มีเหมือนเพื่อน’
ทั้งๆ ที่รู้ว่าสินค้าไม่ได้มีจำนวนจำกัด ทั้งๆ ที่รู้ว่ายังไงแบรนด์ก็ไม่เลิกผลิต ทั้งๆ ที่รู้ว่าแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ทั้งหลายก็โฆษณาโปรโมชันแบบนี้เป็นประจำ
แต่ทำไม..เราก็ยังพ่ายแพ้ให้กับสิ่งเหล่านี้กันอยู่ดีนะ 😮💨
นั่นก็เพราะในสมองของเรา เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Scarcity Mindset’ นั่นเอง แต่ว่า Scarcity Mindset เนี่ย มันคืออะไรกันนะ วันนี้ Future Trends จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเอง ถ้าพร้อมแล้ว ไปอ่านกันเลย!
‘Scarcity Mindset’ คือ หลักการทางจิตวิทยาว่าด้วยเรื่องของ ‘ความกลัวที่จะไม่มี’ ในสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลา โอกาส เงิน หรืออะไรก็ตาม หรือเรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกของการกลัวที่จะพลาดสิ่งที่ ‘พิเศษ’ ไปก็ได้
โดยอ้างอิงหลักการทางจิตวิทยาหนึ่งที่ว่า สิ่งที่มีจำนวนจำกัด ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสิ่งนั้นๆ มีความน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะใช้ FOMO ที่มาจากคำว่า Fear of Missing Out แปลว่า ความกลัวที่จะพลาดบางสิ่งบางอย่างร่วมด้วย
หลายๆ แบรนด์ก็มีการนำความรู้สึกกลัวของผู้บริโภคมาปรับใช้เป็นหลักทางการตลาดด้วยนะ เรียกว่า ‘Scarcity Marketing’ โดยเป็นการ ‘ทำให้’ ผู้บริโภครู้สึกกลัวที่จะไม่มีในสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตนเอง ผ่านการโฆษณาที่ชวนให้เชื่อว่าสินค้ามีความ ‘พิเศษ’ กว่าสินค้าของเจ้าอื่นๆ
ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ในวัน Shopping Day ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะทำให้ทุกคนนึกภาพตามได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดพิเศษ การลดราคาครั้งใหญ่ การเปิดตัวครั้งแรก การรีสต็อกสินค้า หรือจะเป็นการจำกัดจำนวนสินค้า ไม่ก็เวลาในการซื้อ
การนำเสนอโปรโมชันที่แสนเย้ายวนใจเหล่านี้ ล้วนกระตุ้นให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ให้รู้สึกถึงความอยากได้อยากมี และเกิดความกลัวที่ว่า หากไม่รีบซื้อในตอนนี้ ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ซื้อสินค้าที่ราคาถูก สินค้าที่มีจำนวนจำกัด หรือสินค้าที่กำลังอยู่ในเทรนด์แบบนี้อีกแล้วนั่นเอง 😣
Scarcity Mindset นั้นทำให้หลายๆ คนยอมเสียเงินในจำนวนที่มากกว่าปกติ เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้านั้นๆ เช่น Labubu, Rally Movement, Carlyn, Nike Dunk Low, New Balance 530, Omega X Swatch หรือจะเป็น iPhone รุ่นต่างๆ ก็ตาม
.
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Scarcity Mindset สามารถสร้างความสุขให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้ การเติมเต็มในส่วนที่รู้สึกขาดหาย หรือการได้มาซึ่งสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นทำให้เกิดความรู้สึกดีอย่างมาก
แต่ในอีกแง่มุม Scarcity Mindset ก็อาจนำมาซึ่งความทุกข์และปัญหาหนี้สินได้เช่นกัน หากตัวของเรานั้นไม่สามารถยับยั้งความต้องการได้อย่างเหมาะสม อย่าปล่อยให้ ‘ความกลัวที่จะไม่มี’ ครอบงำความรู้สึก
ก่อนตัดสินใจที่จะซื้อ อย่าลืมที่จำถามคำถามกับตัวเองว่า เราต้องการสินค้าชิ้นนั้นจริงๆ หรือไม่ และโปรโมชันที่ได้รับนั้นดีจริงเปล่า ก่อนที่จะกดปุ่ม ‘ซื้อสินค้า’ กันนะ 🤑
เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย
Sources: