10 ความเสี่ยงทางธุรกิจ ที่ต้องหาทางรับมือให้ได้ในปี 2024

Share

ความเสี่ยง หมายถึง ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นและมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ 

ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ในการดำเนินธุรกิจก็เช่นเดียวกัน กลายเป็นเรื่องที่ต้องคอยเฝ้าดูและบริหารจัดการตลอดเวลา โดยเฉพาะปัจจัยที่เกิดผลเชิงลบที่จะขัดขวางไม่ให้ธุรกิจไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

ปัจจุบันการคาดการณ์ว่าอะไรจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำได้ยากกว่าที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะยากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความเสี่ยงกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าที่เป็นมา ตัวอย่างเช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ทั้งยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกๆ ด้านทั่วโลก 

[ ความเสี่ยงต่อธุรกิจ 10 อันดับแรก ปี 2024 จากการประเมินของ ALLIANZ COMMERCIAL ]

ในปี 2024 นี้ ALLIANZ COMMERCIAL ได้ทำการสำรวจและศึกษาข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงกว่า 3,069 ราย ใน 92 ประเทศ 24 กลุ่มอุตสาหกรรม จนออกมาเป็นรายงาน ‘Allianz Risk Barometer Identifying the major business risk for 2024’ 

ในรายงานได้ระบุถึงความเสี่ยงสำคัญ 10 อันดับแรก ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ประกอบไปด้วย

1. เหตุการณ์ทางไซเบอร์ (Cyber incidents) 

36% (เพิ่มขึ้นจากปี 2023: 34%) เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ การดิสรัปชันส์ทางไอที มัลแวร์ แรนซัมแวร์ เป็นต้น

2. ธุรกิจหยุดชะงัก (Business interruption) 

31% (ลดลงจากปี 2023: 34%) เช่น การดิสรัปชันส์ของซัพพลายเชน เป็นต้น

3. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural catastrophes) 

26% (เพิ่มขึ้นจากปี 2023: 19%) เช่น พายุ แผ่นดินไหว ไฟป่า สภาวะอากาศสุดขั้ว เป็นต้น

4. การเปลี่ยนแปลงกฎหมายและข้อบังคับ (Changes in legislation and regulation) 

19% (เท่ากับปี2023: 19%) เช่น ภาษี การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การกีดกันทางการค้า การล่มสลายของสหภาพยุโรป เป็นต้น

5. การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic developments) 

19% (ลดลงจากปี 2023: 25%) เช่น อัตราเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืด นโยบายทางการเงินหรือมาตรการต่างๆ ที่เข้มงวด

6. ไฟไหม้ การระเบิด (Fire, explosion) 

19% (ลดลงจากปี 2023: 14%)

7. การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate change) 

18% (เพิ่มขึ้นจากปี 2023: 17%) เช่น ความเสี่ยงทั้งทางกายภาพ การดำเนินงาน และการเงิน ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

8. ความเสี่ยงทางการเมืองและความรุนแรง (Political risks and violence) 

14% (ลดลงจากปี 2023: 13%) เช่น ความไม่มั่นคงทางการเมือง สงคราม การก่อการร้าย รัฐประหาร นัดหยุดงาน จราจล การปล้นสะดม เป็นต้น

9. การพัฒนาตลาด (Market developments) 

13% (เป็นความเสี่ยง Top 10 ใหม่ในปี 2024) เช่น การแข่งขันที่รุนแรง การเข้ามาของผู้เล่นใหม่ ตลาดซบเซา ความผันผวนของตลาด เป็นต้น

10. การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (Shortage of skilled workforce) 

12% (ลดลงจากปี 2023: 14%)

[ รับมืออย่างไรในวันที่เสี่ยง ]

การจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือ ทักษะการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ซึ่งเป็นงานที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องมี ซึ่งหมายถึง กระบวนการวางแผนการบริหารและการจัดการความเสี่ยง เพื่อช่วยในการตัดสินใจและหาวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งที่การลดความเสียหายให้น้อยที่สุด ด้วยการใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ประกอบด้วย 4 กระบวนการหลัก ดังต่อไปนี้

1. การระบุความเสี่ยง (Risk Identification) : ควรมีการระดมความคิดร่วมกันของคนที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยทำการระบุความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นออกมาให้มากที่สุด

2. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) : หรือเป็นขั้นตอนที่เรียกว่า การวิเคราะห์และเรียงลำดับความสำคัญ (Analyze and Prioritize Risk) เป็นการวิเคราะห์ ประเมินโอกาสในการเกิดความเสี่ยงนั้นๆ (Likelihood) และความรุนแรงของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น (Severity) แล้วเรียงลำดับความสำคัญของความเสี่ยงทั้งหมด เพื่อเลือกเฉพาะความเสี่ยงที่สำคัญกับงาน โดยใช้ตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Matrix) 

3. การวางแผนรับมือความเสี่ยง (Risk Response Planning) : ในการตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสมเพื่อรับมือความเสี่ยง ประกอบด้วย 4 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

– การลดความเสี่ยง (Risk Reduction) 

– การโอนความเสี่ยง (Risk Transfer) 

– การเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Avoidance)

– การรับความเสี่ยงไว้ (Risk Acceptance/Retention)

4. การทบทวนและควบคุมความเสี่ยง (Risk Implement and Control) : ขั้นตอนนี้เป็นการทบทวนและความคุมความเสี่ยง จากที่ได้ดำเนินการที่ได้กระทำไป ซึ่งแม้จะมีการจัดการความเสี่ยงที่ระบุไว้อย่างดีแล้ว แต่องค์กรไม่ควรหยุดเพราะความเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ จึงจำเป็นต้องมีการประเมินความเสี่ยงใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อหาทางรับมือและบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมต่อไป

[ การบริหารจัดการความเสี่ยง เป็นงานที่ทุกองค์กรต้องมี ]

การบริหารจัดการความเสี่ยง เป็นงานที่ทุกองค์กรต้องมี แม้จะไม่มีตำแหน่งนี้โดยเฉพาะก็ตาม งานดังกล่าวจะกลายเป็นภาระหน้าที่ของคณะผู้บริหารที่ต้องเข้ามาดูแล จึงเป็นความจำเป็นที่ผู้บริหารระดับสูงต้องเรียนรู้ทักษะการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อนำธุรกิจฝ่าปัญหาและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล

Sources:

Allianz Risk Barometer Identifying the major business risk for 2024

Risk Management การจัดการความเสี่ยง