“ทำไมบางคนที่ไม่เอาใคร และไม่มีใครเอาถึงได้โตเอาๆ?”
“ทั้งที่รู้ๆ กันอยู่ว่า เขาเป็นยังไง แต่เพราะอะไรองค์กรถึงให้ค่า ให้รางวัลกับคนแบบนั้น?”
“ตั้งใจทำงานแทบตาย ยังไม่เคยได้รางวัลสักที ทำไมคนนิสัยแย่ๆ ถึงเจริญในหน้าที่การงานกว่าเราด้วย?”
ไม่ต้องอธิบายอะไรเยอะ แต่คิดว่า หลายคนน่าจะเคยได้ยิน ได้ฟังจากเพื่อนหรือมีประสบการณ์ร่วมด้วยตัวเองอยู่บ้าง ฮั่นแน่! ไม่ทราบว่า คุณกำลังยิ้มอ่อนๆ แล้วนึกถึงหน้าใครบางคนอยู่รึเปล่าคะ?
ว่ากันด้วยเรื่องของผลงาน ผลงานที่โดดเด่นมักเป็นสิ่งที่ถูกให้ค่าอยู่เสมอ เช่นเดียวกัน คนที่ทำงานดี ทำงานเด่น ก้าวไปอยู่ในจุดที่เรียกว่า ‘Top Performance’ ก็เป็นสิ่งที่หลายองค์กรมักจะให้คุณค่ามากกว่าคนอื่นอย่างแน่นอน
มีบทความหนึ่งบนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่องค์กรยึดโยงผลงานระดับท็อป ความเก่งกาจของพนักงานบางคนที่มีนิสัยแย่ๆ เหนือทุกเรื่อง ให้รางวัล ปูนบำเน็จกับกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘Toxic Superstar’ เป็นเรื่องที่ควรเลิกทำได้แล้ว!
เพราะถึงแม้พวกเขาจะทำงานได้ ‘ยอดเยี่ยม’ ประสิทธิภาพสูงมากเท่าไร ในทางกลับกัน พฤติกรรมของพวกเขาก็สร้างความรู้สึก ‘ยอดแย่’ ทำร้ายคนอื่นในทีมอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ไม่แคร์ใคร การพูด การจา เข้าทำนองขวานผ่าซาก หรือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างก็ตาม
ทว่า หากพูดกันตามตรง การมีอยู่ของ Toxic Superstar เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสกว่า Toxic Employee ทั่วไปด้วยซ้ำ อย่างที่รู้กันว่า คนประเภทนี้มักจะเป็น ‘นางกวัก’ ที่สามารถเรียก และทำเงินให้องค์กรได้ทีละมากๆ ทีนี้ ถ้าขาดพวกเขาที่เป็นกำลังสำคัญไป บางองค์กรก็อาจเสียศูนย์เอาได้ และที่แน่ๆ ต่อให้ถึงคราววิกฤต ก็อาจจะยังเลือกเก็บคนประเภทนี้ที่เป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ไว้อยู่ดี
รวมไปถึงก็เป็นตลกร้ายในโลกของการทำงานว่า บางทีบรรดาเจ้าของหรือฝ่ายบุคคลก็รับรู้ถึงการมีอยู่นี้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะจัดการอะไร เนื่องจาก มองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า เนื้องอกชิ้นนี้กำลังจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งร้ายส่วนอื่น แต่ก็ยังยอมให้มันอยู่ในร่างกาย ไม่ตัดทิ้ง
แถมนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ (Toxic Culture) ด้วย สร้างความอึดอัดใจจนบางคนตัดสินใจโบกมือลา ขอไปมีชีวิตที่สดใสกว่านี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘กลัวจะถูกกลืน’ เหมือนกับที่มีคนเคยบอกไว้ว่า สังคมที่เราเลือกอยู่จะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สังคมในที่ทำงานก็ไม่ต่างกัน สิ่งนี้ก็เป็นเสมือนแม่พิมพ์ที่หล่อหลอมนิสัยใจคอ พฤติกรรมคนทำงานโดยไม่รู้ตัว
ไซมอน ซิเน็ก (Simon Sinek) นักพูดที่โด่งดังในเวทีเท็ดทอล์ก (TED Talks) และผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง Start With Why เคยเล่าเรื่องราวในอดีตที่เคยคุยกับหน่วยซีล (SEAL) สุดยอดทหารที่ขึ้นชื่อ ‘เรื่องความอึดถึกทน’ เกี่ยวกับหลักการเลือกทีมที่ปฏิบัติภารกิจไว้ว่า มีการใช้ ‘Performance VS Trust Matrix’ เข้ามาเป็นเกณฑ์ โดยแกน x คือ ‘ความเชื่อใจ’ ส่วนแกน y คือ ‘ประสิทธิภาพ’
ถึงแม้คนเก่งที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่นั่นไม่ใช่หลักใหญ่ใจความทั้งหมด หากพวกเขามีความเชื่อใจที่ต่ำ เช่นนี้การมีอยู่ของคนกลางๆ ที่มีประสิทธิภาพการทำงานกลางๆ แต่มีความเชื่อใจที่สูงก็อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าคนเก่งตัวท็อปที่ว่านี้ เนื่องจาก ทีมไม่ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลังตลอดเวลา ไม่ได้ฉุดรั้งความก้าวหน้าแต่อย่างใด
ฉะนั้น องค์กรจึงไม่ควรมองข้าม Toxic Superstar ควรรีบหาทางจัดการ ไม่ Over appreciate พวกเขาเป็น Role model หรือ Hero เพราะการสร้างทีมให้ประสบความสำเร็จไม่ได้มีแค่เรื่องความเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความเชื่อใจด้วย
ถึงเวลาหยุดให้ค่ากับพวกเขา ได้เวลาจับเข่าคุยกัน ผ่าตัดเนื้องอกนี้ออก! แต่ถ้ามันถึงขีดสุดแล้วจริงๆ การยื่นซองขาวก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเหมือนกัน สุดท้ายแล้ว ถ้าเราไม่กล้าไล่ Toxic Superstar ออก สักวันหนึ่ง Superstar หรือคนทำงานดีคนอื่นก็จะไม่อยู่กับเราแม้แต่คนเดียวเลยก็ได้…
สำหรับใครที่กำลังเจอเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายแบบนี้อยู่ การ Toxic มา Toxic กลับไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด หายใจเข้าลึกๆ นิ่งๆ เข้าไว้ ทำให้หน้าที่ของเราให้ดี ปล่อยให้องค์กรจัดการไป และก็อย่าลืมย้อนกลับมาทบทวนด้วยว่า ความ Toxic ได้เกิดขึ้นในตัวเราด้วยรึเปล่า ถ้าเกิดแล้ว มันมีมาก-น้อยแค่ไหนกันนะ?
‘จงเติบโตไปเป็นคนแบบที่เราอยากจะเป็น ไม่ใช่คนแบบที่เราเกลียด’ ยังไงล่ะ
Sources: https://bit.ly/3NJbB2I