“Microsoft ประกาศจัดตั้ง ‘Data Center’ แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี”
ผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินผ่านๆ จากข่าว หรือ อ่านเจอจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ติดตามอยู่ ถึงการประกาศสำคัญที่ไมโครซอฟต์ ได้จับมือกับประเทศไทยในการตั้งศูนย์ Data Center แห่งแรกในประเทศไทยเพื่อหวังจะให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
ความน่ายินดีนั้นมาพร้อมกับคำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยกันอยู่ “Data Center คืออะไร?” แล้วมันมีบทบาทอย่างไรที่จะทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีประเทศไทยขับเคลื่อนไปได้อย่างก้าวหน้า
วันนี้ Future Trends จะพาผู้อ่านทุกคนไปไขข้อสงสัยที่มีอยู่ในตัว Data Center กัน ถ้าพร้อมแล้วตามมาเลย
[ Data Center คืออะไรกัน? ]
คำว่า ‘Data Center’ จะใช้เรียก ‘ศูนย์ข้อมูล’ โดยจะอยู่ในรูปแบบที่สามารถจับต้องได้ กล่าวคือเป็นอุปกรณ์ที่ตั้งอยู่ภายในองค์กร จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีความสามารถในการจัดเก็บ การประมวนผล และการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งการใช้ภายในองค์กรจะสร้างการเข้าถึงที่ไร้ขีดจำกัดให้ ไม่มีกำแพงทางด้านการสื่อสาร และการเรียกใช้ข้อมูลใดๆ
องค์ประกอบหลักของ Data Center จะประกอบไปด้วย เซิร์ฟเวอร์ ระบบเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ อุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่าย และระบบควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น เครื่องปรับอากาศ ระบบป้องกันไฟไหม / ระบบดับเพลิง ซึ่งแต่ละส่วนจะมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่ก็ต้องทำงานร่วมกันเพื่อประสิทธิภาพที่มากที่สุดในการใช้งาน
[ ความแตกต่างระหว่าง ‘Data Center’ และ ‘Cloud’ ]
ความแตกต่างของเทคโนโลยีทั้งสองนั้นมีความชัดเจนมาก เพราะแตกต่างกันทั้งโครงสร้าง วิธีการทำงาน รวมไปถึงการให้บริการ
สำหรับ Data Center มีโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ เป็นกายภาพ โดยประกอบด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์เครือข่าย ระบบจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น ในส่วนของวิธีการทำงานจะถูกควบคุมด้วยองค์กรที่ใช้บริการอย่างอิสระทั้งการดูแลรักษาและการอัปเดตระบบ สำหรับการให้บริการจะเจาะกลุ่มไปที่องค์กรใหญ่เป็นหลัก
สำหรับเทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud) จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ภายใต้ระบบดิจิทัล ไม่มีกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ เก็บข้อมูล ใดๆ ก็ตามล้วนอยู่ในระบบดิจิทัล การให้บริการของคลาวด์จะจัดหาองค์ประกอบต่างๆ ให้ผู้ใช้งาน โดยผู้ใช้งานมีหน้าที่แค่เก็บข้อมูลตามข้อตกลงเท่านั้น แต่แลกมาด้วยความยืดหยุ่นสูงสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ที่มีอินเตอร์เน็ต
ดังนั้น เทคโนโลยีทั้งสองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในทุกๆ ด้าน ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน
[ หลักการทำงานของ Data Center เป็นอย่างไร? ]
หลังจากที่เรารู้จักกับ Data Center และองค์ประกอบหลักกันแล้ว คงจะเกิดความสงสัยตามมาว่ามันจะใช้งานอย่างไร?
เนื่องจาก Data Center เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ ผู้อ่านหลายๆ คนยังไม่รู้วิธีการทำงานมากนัก เราจึงขอยกสถานการณ์มาเป็นตัวอย่างให้เข้าใจง่าย “ให้ผู้อ่านทุกคนสมมติว่า Data Center คือ ห้องสมุดแห่งหนึ่ง”
Example : ห้องสมุดแห่งหนึ่งที่มีหนังสือจำนวนมาก 📚อ้างอิงจากข้างบนที่เรากล่าวถึงองค์ประกอบของ Data Center เราจะตั้งให้ห้องสมุดแห่งนี้มีองค์ประกอบ 5 อย่าง คือ เซิรฟ์เวอร์ ระบบเครือข่าย ระบบเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ระบบความปลอดภัย และระบบควบคุมสภาพแวดล้อม
เริ่มต้นจาก เซิร์ฟเวอร์ (Servers) เปรียบเสมือนชั้นวางหนังสือในห้องสมุดที่มีมากมาย โดยแบ่งแยกตามหมวดหมู่ ในประเทศไทยมักจะแบ่งด้วยตัวอักษร ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก ตามด้วยตัวเลข ในบริบทของ Data Center ก็เป็นเช่นนั้น เซิร์ฟเวอร์จะเปรียบเสมือนหน่วยเก็บข้อมูลต่างๆ ขององค์กรที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านเครือข่าย
ต่อมาระบบเครือข่าย (Networking) เปรียบเสมือนแคตตาล็อกเลือกหนังสือ ในไทยก็จะมีที่ผู้คนนิยมใช้กันคือ TU Library ที่คุณสามารถเข้าไปค้นหาหนังสือที่ต้องการได้ และมันจะบอกแหล่งที่อยู่ให้พร้อมเลย ซึ่งในบริบทของ Data Center ระบบเครือข่ายก็เหมือนกับแคตตาล็อกที่เชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์อีกทีเพื่อที่จะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายดาย
มากันที่ส่วนของระบบจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Storage Systems) เปรียบเสมือนห้องจัดเก็บหนังสือสำรองที่ไม่ค่อยมีคนอ่าน นานๆ ทีจะมีคนมายืมสักครั้ง ในบริบทของ Data Center ก็เป็นเช่นนั้นเป็นระบบเก็บข้อมูลที่มีมากมายขององค์กร (โดยไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ใช้บ่อย หรือ ไม่บ่อยแต่อย่างใด)
ต่อมาเป็นส่วนของระบบความปลอดภัย (Security Systems) เปรียบเสมือนระบบเฝ้าระวังของห้องสมุด อย่าง ระบบกันขโมย ระบบการป้องกันการเข้าถึงหนังสือจากผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต ในบริบทของ Data Center ก็อาจจะเป็นระบบการเข้าถึงที่ต้องทำการเข้าสู่บัญชีก่อน ถึงจะสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้
สุดท้ายระบบควบคุมสภาพแวดล้อม (Environmental Control Systems) เปรียบเสมือนระบบเครื่องปรับอากาศในห้องสมุดที่ส่งผลต่อการจัดเก็บหนังสือบางประเภทที่ไวต่ออุณหภูมิ หรือ จะเป็นระบบไฟที่ส่งผลต่อการอ่านหนังสือของผู้ใช้งานห้องสมุด เป็นต้น ในบริบทของ Data Center ระบบควมคุมสภาพแวดล้อมค่อนข้างจำเป็น มันเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การจัดการด้านพลังงาน อุณหภูมิ และความชื้นได้อย่างเหมาะสม
ด้วยการทำงานผ่านองค์ประกอบเหล่านี้ หวังว่าการเปรียบเทียบกับห้องสมุดจะสร้างความเข้าใจในหลักการทำงานของ Data Center มากขึ้นนะครับ (สำหรับใครที่เชี่ยวชาญแล้วอยากจะช่วยทาง Future Trends อธิบายเพิ่มเติมก็ยินดีมากๆ เลยนะครับ)
[ “Microsoft ประกาศจัดตั้ง ‘Data Center’ แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี” ]
ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ทางไมโครซอฟต์ได้จัดงาน ‘Microsoft Build: AI Day’ ซึ่งมีการประกาศสำคัญอย่าง “จัดตั้ง Data Center แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี” เราจะพาผู้อ่านทุกคนไปดูความเป็นไปได้ของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการจัดตั้งในครั้งนี้
(Fun Fact: ในระดับโลกนั้น Data Center ของ Microsoft ค่อนข้างจะมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีความซับซ้อนมากที่สุด ทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย มีนวัตกรรมที่ทันสมัย มีความน่าเชื่อถือ และมีความยืดหยุ่นมอบอิสระในการปรับการใช้งานให้กับลูกค้า ทำให้เป็นหนึ่งใน Data Center ชั้นนำของโลก ซึ่งการมาของบริการนี้ในประเทศไทยอาจจะส่งผลโดยตรงต่อการลงทุนในอนาคต)
ผลกระทบเชิงบวก
1. ยกระดับความรวดเร็วของการเข้าถึงข้อมูล : การมี Data Center ในประเทศจะช่วยลดความล่าช้า (Latency) และเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงบริการคลาวด์ของผู้ใช้บริการ
2. สร้างโอกาสในการลงทุนที่มากยิ่งขึ้น : ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาของ Microsoft เปรียบเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดองค์กรชั้นนำจากต่างประเทศ และช่วยยกระดับองค์กรชั้นนำในประเทศ ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนที่มากยิ่งขึ้น
3. สร้างตำแหน่งงาน : สำหรับ Data Center เป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้ง ต้องมีคนคอยดูแลความเรียบร้อย จึงเป็นโอกาสในการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ เช่น ช่างเทคนิค ผู้จัดการ และผู้บำรุงรักษา
4. การพัฒนาทักษะคนในท้องถิ่น : เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาตั้งในพื้นที่ คนท้องถิ่นจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้และคลุกคลีกับเทคโนโลยีเหล่านั้น สร้างทักษะที่ทันสมัยกว่ากลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี
5. เพิ่มความปลอดภัย : การจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลขององค์กรมากยิ่งขึ้น
ผลกระทบเชิงลบ
1. ความกังวลด้านความปลอดภัย : ถึงแม้เราจะบอกว่าการมี Data Center ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับข้อมูลมากยิ่งขึ้นก็ตาม แต่หากการจัดการด้านความปลอดภัยหละหลวม ไม่มีระบบการรักษาที่ดีพร้อม อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
2. การใช้พลังงาน : พลังงานมหาศาลจะถูกใช้งานรองรับการทำงานตลอดเวลาของ Data Center ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมแน่นอนถ้าไม่มีการจัดการที่ดี
3. ความเสี่ยงต่อการผูกขาดตลาด : ว่ากันตามตรง Data Center เป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ยาก จำเป็นจะต้องมีทุนหนามากๆ เพื่อเข้าถึงการใช้งาน ซึ่งตรงนี้เป็นช่องว่างที่อาจจะมีนายทุนใหญ่มาครอบครองส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้และสร้างตลาดผูกขาดได้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ ล้วนแล้วมีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอนท่ามกลางการประกาศเป็นทางการของ Microsoft ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของประเทศไทย มีหน้าที่ในการทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต หรือ สร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นให้กับเศรษฐกิจของเรา
ท้ายที่สุดนี้ “ความพร้อมคือสิ่งที่จำเป็นที่สุดในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หากเราไม่พร้อมจะมีคนอื่นอีกมากมายที่เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
แน่นอน”
Sources:
Microsoft – Microsoft datacenters Illuminating the unseen power of the cloud : https://datacenters.microsoft.com/
.
CISCO – What Is a Data Center?
: https://www.cisco.com/c/en/us/solutions/data-center-virtualization/what-is-a-data-center.html
.
IBM – What is a data center? : https://www.ibm.com/topics/data-centers
.
Tech Target – Data Center : https://www.techtarget.com/searchdatacenter/definition/data-center