คนเก่งคือคนที่พร้อมจะลาออก ถ้าไม่อยากเสียไปจงรักษาไว้ให้ดี ‘Stay Interview’ คำถามเช็กความสุขให้อยู่ด้วยกันนานๆ

Share

ในสายตาของคนเป็นหัวหน้า ‘ลูกน้องที่ทำงานเก่ง ทำงานดี’ ก็ไม่ต่างอะไรจากแขนซ้าย แขนขวา หรืออวัยวะที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของร่างกายที่ขาดไม่ได้

ไม่มีใครอยากสูญเสียแขนสุดที่รักไป อยากให้ลูกน้องที่แสนดีกลุ่มนี้อยู่ด้วยกันไปนานๆ แต่ในความเป็นจริง แขนซ้าย แขนขวาที่ใช้งานได้คล่องแคล่วนี้ก็กลับกลายเป็นแขนที่มีโอกาสดีๆ เข้ามาต่อคิวเป็นขบวน คนอื่น บริษัทอื่นก็มีความต้องการเช่นกัน แถมบางทีพวกเขาก็พร้อมจะ Transform ตัวเองไปเป็น Job Hopper อยู่ตลอดด้วย

บี-อภิชาติ ขันธวิธิ Managing Director บริษัท QGEN Consultant และเจ้าของเพจ HR – The Next Gen เคยกล่าวในงาน Creative Talk Conference 2022 ไว้ว่า “รู้หรือไม่ว่าการลาออกของคนหนึ่งคนจะทำให้บริษัทเกิดต้นทุน 90 ถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนคนที่ลาออก สมมติ 1 ปีลาออกไปแค่ 10 คน แล้วคนที่ลาออกเงินเดือน 20,000 บาท เราอาจจะยังไม่รู้สึกอะไร

“แต่อยากให้ย้อนกลับมาคิดดีๆ ว่า ถึงที่สุดแล้ว ต้นทุนที่เราจะเสียไป 180,000 บาทต่อปี คือต้นทุนที่เราจะเสียทั้งที่ไม่ควรจะเสียรึเปล่า? เราเอาเงิน 180,000 บาท มาจัด Outing ให้พนักงานไม่ดีกว่าเหรอ? ได้ Performance เยอะขึ้น พนักงานรู้สึกดีขึ้นกับบริษัทมากขึ้นด้วย

“ที่จริงต้นทุนที่เราไม่ควรจะเสียไปนั้นเยอะขนาดไหน มันก็ขึ้นอยู่กับว่า คนนั้นสร้าง Impact ให้กับบริษัทยังไงบ้าง? ถ้าเขาเป็น Talent ในหลายๆ ครั้ง มันอาจจะเกิน 200 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ซึ่งหลักๆ แล้ว ต้นทุนเหล่านี้เกิดจากการที่เราต้องไป PR เพื่อรับสมัครคนใหม่ จำนวนชั่วโมงที่ต้องใช้ในการสัมภาษณ์งานทั้งที่ไม่ควรจะทำ ต้นทุนแฝงเพิ่มเติม คือถ้าต้องมาพัฒนาคนใหม่อีก ต้นทุนที่หายไปจากการที่พัฒนาคนเก่าแล้วต้องมาพัฒนาคนใหม่ซ้ำเป็นต้นทุนที่เราจะต้องเสียหายเพิ่มเติม”

แล้วเราจะรักษาแขนซ้าย แขนขวาชั้นดี Talent คนเก่งให้อยู่คู่บริษัทไปนานๆ ได้อย่างไร? จะใช้วิธีไหนทำให้บริษัทดีขึ้น มีกำไรมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคนที่ยังอยู่ก็แฮปปี้ และมี Intend to Stay ที่เต็มเปี่ยม ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ Stay Interview วิธีรักษาพนักงานที่เวิร์กกว่า Exit Interview กัน

ทำไม Exit Interview ถึงไม่เวิร์กอีกต่อไป?

เรามักจะคุ้นชินกับ Exit Interview การสัมภาษณ์พนักงานตอนลาออก เพื่อสอบถามว่า เพราะอะไร ทำไมถึงไป และมีส่วนไหนอยากให้บริษัทปรับปรุง เผื่อจะเป็นประโยชน์ในอนาคตบ้าง? ซึ่งบางครั้ง ก็อาจจะมี Offer แบบจัดหนัก จัดเต็มเข้าไปเสนอเพื่อแลกกับการอยู่ต่อด้วย

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ไม่ได้เวิร์กเสมอไป เพราะว่ากันตามตรงแล้ว ก็ยื้อพวกเขาไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมการถามตอนลาออกก็อาจจะไม่ได้คำตอบที่แท้จริงซะทีเดียว บ้างก็ตอบตรงๆ บ้างก็ตอบเลี่ยง ทำให้คนเป็นหัวหน้าและ HR ต้องมานั่งสงสัยกันต่อ ดังนั้น การให้ค่าพวกเขาตอนหมดเวลาจึงไม่ค่อยเกิดประโยชน์นัก การทำ Stay Interview เลยเป็นวิธีที่เวิร์กกว่านั่นเอง

Stay Interview คืออะไร?

Stay Interview คือหนึ่งในวิธีการรักษาพนักงานที่ยังอยู่ในบริษัทโดยการสัมภาษณ์เป็นระยะๆ ด้วยการสอบถามความรู้สึก และความพึงพอใจ เพราะในความเป็นจริงแล้ว การถามว่า “ทำไมถึงยังอยู่?” ก็สำคัญไม่แพ้การถามว่า “ทำไมถึงลาออก?” สำรวจความผูกพัน และตัวบริษัทว่า มีอะไรดีๆ ที่ดึงดูดให้พวกเขาอยากอยู่ต่อด้วยกันนานๆ เช็กความสุขว่า อยู่ในระดับไหน? อีกทั้งก็ยังเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และหาแนวทางการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อทำให้เกิด ‘Win-win situation’ กันทั้ง 2 ฝ่าย

การทำ Stay Interview ก็คล้ายกับการสัมภาษณ์งานใหม่อีกครั้ง ที่จะมีการเข้ามาพูดคุยกันกับคนที่เป็นหัวหน้า ทำให้พนักงานรับรู้ว่า เขามีตัวตน หัวหน้าเห็นคุณค่า และถูกใส่ใจ ซึ่งเมื่อไรที่พวกเขารู้สึกแบบนี้แล้ว ผลพลอยได้ที่ตามมา ก็คืออัตราการลาออก (Turnover Rate) ที่ลดลง และยังเป็นการบอกสุขภาพของบริษัทด้วยว่า ทุกวันนี้ที่พวกเขาอยู่ อยู่ทนเพราะรักบริษัทจริงๆ หรือแค่อยู่ไปวันๆ เพราะไม่มีที่จะไป

ข้อควรระวังในการทำ Stay Interview มีอะไรบ้าง?

แคทเทอลีน ควิน โบทาร์ (Kathleen Quinn Votaw) ประธานบริหารของ TalenTrust บริษัทที่ปรึกษาด้านการสรรหา และผู้แต่งหนังสือ Dare to Care in the Workplace : A Guide to อธิบายว่า งานประเภทนี้ห้ามให้ HR เป็นคนทำเด็ดขาด! การทำ Stay Interview ควรเป็นการพูดคุยในลักษณะ 1 on 1 meeting กับหัวหน้า เนื่องจาก จุดประสงค์ของการทำนั้นคือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทีมรู้สึกสบายใจ กล้าเปิดเผยความกังวล และสิ่งที่อยู่ในใจออกมา

รวมไปถึงก็ควรแจ้งล่วงหน้าให้พวกเขามีเวลาเตรียมตัวกับประชุมนัดสำคัญครั้งนี้ และเวลาคุยก็ควรเป็นแบบ Face to Face เห็นอารมณ์ความรู้สึกกันและกัน ให้เลี่ยงคำถามแบบ ‘ปลายปิด’ ที่ไม่ได้อะไรขึ้นมา อย่างเช่น คุณมีความสุขที่ได้ทำงานที่นี่หรือไม่? คุณได้เงินเดือนเพียงพอหรือไม่? เป็นต้น

10 คำถามทรงพลังในการทำ Stay Interview

1. ในแต่ละวัน คุณคาดหวังอะไรจากการทำงาน?

2. Feedback ประเภทไหนบ้างที่คุณคาดว่าจะได้รับแล้วยังไม่เคยได้รับ?

3. คุณอยากได้โอกาสในการพัฒนาตัวเองมากกว่าบทบาทตอนนี้ไหม อะไรบ้าง?

4. ความยืดหยุ่นแบบไหนที่จะช่วยให้คุณใช้ชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวได้อย่างแฮปปี้?

5. มีความสามารถ ความสนใจ หรือทักษะที่โดดเด่นอะไรที่คุณยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ไหม?

6. คุณภูมิใจกับผลงานชิ้นไหนของตัวเองบ้าง?

7. ถ้ามีอำนาจเปลี่ยนได้หนึ่งอย่าง คุณจะเปลี่ยนอะไร?

8. ทำไมคุณถึงยังเลือกทำงานอยู่ที่นี่?

9. สมมติว่า ถ้าต้องลาออกไป ครั้งสุดท้ายที่จะจากไปคือเมื่อไร และเพราะอะไร?

10. มีตรงไหนที่คิดว่า เราจะช่วยให้งานของคุณดีขึ้นได้บ้าง?

การทำ Stay Interview นอกจากจะช่วยเช็ก Intend to Stay ความสุขของพนักงานที่ยังอยู่ และสุขภาพของบริษัทแล้ว ก็ยังเป็นการช่วยตรวจหาศาลพระภูมิ เจ้าที่ เจ้าทาง หรือพนักงานประเภท Deadwood ที่ไม่ Perform ผลงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่แย่ยิ่งกว่า Job Hopper ได้ด้วย

Sources: งาน Creative Talk Conference 2022 เซสชัน The Secret Recipe of Be-Loved Company โดย อภิชาติ ขันวิธิ

https://bit.ly/3QphuUk

https://bit.ly/3A9CeKb

https://bit.ly/3zEvYsu

https://bit.ly/3BNGWyC

https://bit.ly/3dipxUD