ถอดเคล็ดลับ Servant Leader ผู้นำแบบ ‘ผู้รับใช้’ ที่ทำให้ Google กับ Starbucks ทรงพลังในทุกวันนี้

Share

บนโลกใบนี้ เคยมีใครสักคนบอกไว้ว่า “ผู้นำคือกุญแจความสำเร็จขององค์กร”

เพราะงานจะล่มหรือไม่ล่ม บริษัทจะพังหรือปังนั้น ก็ย่อมขึ้นอยู่กับผู้นำที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นำทางทีมไปสู่เป้าหมายล้วนๆ แถมก็ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้บางคนอยู่ทน ทำงานที่ใดที่หนึ่งได้นานแบบคนอื่น หรืออยู่ไม่ทน ยอมตายเอาดาบหน้า ยื่นใบลาออกทั้งที่ยังไม่ได้งานใหม่ด้วยซ้ำ

ถึงแม้ทีมที่ดีจะมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ถ้ามีผู้นำดีด้วย ก็ย่อมมีแต้มต่อมากกว่า ซึ่งพอพูดถึงทีมที่ดี ทีมที่เก่งแล้ว แน่นอนว่า ผู้นำไม่ว่าจะองค์กรไหนต่างก็อยากมีไว้ในครอบครอง ฮั่นแน่! คุณเป็นหนึ่งในนี้ด้วยรึเปล่าคะ? ทว่า หากพูดกันตามตรง นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะทีมที่ดี ทีมที่เก่งก็ล้วนแต่อยากอยู่กับผู้นำที่ดีด้วยเช่นกัน

เราเลยอยากชวนทุกคนย้อนกลับมาสำรวจตัวเองว่า ในวันนี้ที่เราอยากให้เขารักเรา เราเองสมควรถูกรักแล้วรึยัง?

ในบทความนี้ Future Trends จะพามาแนะนำเคล็ดลับ Servant Leader ผู้นำแบบ ‘ผู้รับใช้’ ที่จะช่วยเปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ให้ใครๆ ก็อยากรักแบบเดียวกับกูเกิล (Google) และสตาร์บัคส์​ (Starbucks) ที่ทรงพลังในทุกวันนี้กัน

รู้จัก Servant Leader ผู้นำแบบ ‘ผู้รับใช้’ ที่ใครๆ ก็รัก

ถ้าไล่เรียงจากฐานพีระมิดแห่งการบริหารแล้ว ตามปกติ ผู้นำจะอยู่ชั้นบนสุด มีหน้าที่อำนาจสูงสุดในการคิดกลยุทธ์ ควบคุมภาพรวมต่างๆ ให้ออกมาราบรื่น ส่วนทีมก็จะอยู่ชั้นล่างสุด มีหน้าที่รับคำสั่ง และปฏิบัติตาม

ทว่า ในยุคนี้แนวคิดแบบเดิมๆ ลักษณะนี้ก็ดูจะคร่ำครึไปหน่อย เพราะการออกคำสั่ง ชี้นิ้วก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า จะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้แน่ๆ อีกทั้งก็อาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้เช่นกัน เหมือนกับที่ประวัติศาสตร์เคยจารึกไว้ว่า ผู้นำที่ล้มเหลวที่สุดคือผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุด

ในทางตรงกันข้าม ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือผู้นำสายสนับสนุนที่ทำตัวเป็น ‘ผู้รับใช้’ ช่วยเหลือ ผลักดันทีม หรือที่เราเรียกว่า ‘Servant Leader’ โดยก็เป็นการกลับหัวฐานพีระมิดอำนาจการบริหารกันอย่างสิ้นเชิง

โรเบิร์ต กรีนลีฟ (Robert K. Greenleaf) ผู้บัญญัติคำว่าผู้นำแบบรับใช้ในปี 1970 ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า Servant Leader จะเริ่มต้นจากความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้อื่นก่อน จากนั้น ถึงจะก้าวสู่บันไดของการเป็นผู้นำ ซึ่งก็มีลักษณะเด่นคือ อยากพัฒนา อยากช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ ความสามารถ หรือจิตใจก็ตาม

โดยการบริหารของผู้นำประเภทนี้ก็จะเน้นทีมเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ยึดโยงที่ความเห็นอกเห็นใจ การมอบโอกาสให้ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการเติบโต พัฒนาเป็นหลัก ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมองว่า ตัวเองเป็นตัวท็อป มีอำนาจสูงสุด แต่เป็นการวางตัวเองเอาไว้ทีหลัง เป็นผู้รับฟังที่ดี ให้ความสำคัญกับทีมก่อนเสมอ หรือสรุปง่ายๆ ว่า ‘Team is always first’ ส่วน ‘Me is always last.’ นั่นเอง

ทำไม Servant Leader ถึงกลายเป็น ‘ผู้นำดาวรุ่ง’ มาแรงในอนาคต?

บางคนอาจคิดว่า ผู้นำที่มีกรอบความคิด วิธีการแบบนี้แสดงถึงความอ่อนแอ ความไม่เด็ดขาดของการบริหาร อาจทำให้องค์กรสั่นคลอนรึเปล่า? แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้เป็นแบบนั้น แถมยังเวิร์กมากๆ ด้วย

อย่างที่ทราบกันว่า ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ บนโลกตลอดเวลา เราอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน งานในวันนี้ก็อาจหายไปในวันพรุ่งนี้ เช่นเดียวกัน องค์กรในวันนี้ก็อาจหายไปในวันข้างหน้า การพัฒนาตัวเองด้วยการ Reskill และ Upskill เลยเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น Servant Leader ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ผลักดันทีมให้พัฒนาองค์กรไปสู่เป้าหมายนั้นจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากนับตั้งแต่นี้

เพราะยิ่งทีมเก่งมากเท่าไร องค์กรก็ยิ่งมีแต้มต่อมากขึ้นด้วย ทำนองเดียวกับที่เล่าตอนแรกว่า มีทีมที่ดีเป็นเรื่องเจ๋งแล้ว แต่ถ้ามีผู้นำที่ดี ยังไงก็ได้เปรียบกว่าเห็นๆ นั่นเอง รวมไปถึงผู้นำประเภทนี้ก็ช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่เฮลตี้ สบายใจกับทุกฝ่าย ส่งเสริมให้เกิดทีมเวิร์ก กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และยังเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่น่าอยู่จากรุ่นสู่รุ่นควบคู่กันไป

นอกจากนี้ ในห้วงสถานการณ์แบบนี้ที่สิ่งต่างๆ รอบตัวค่อนข้างแย่ สุขภาพจิตของทีมก็เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการมีผู้นำแบบผู้รับใช้ที่พร้อมจะรับฟัง เห็นอกเห็นใจทีม ก็ไม่ต่างอะไรกับการมีจิตแพทย์เก่งๆ มาคอยเยียวยาให้ใจฟูฟ่อง หรือคนที่เรารักมาช่วยประคับประคองความรู้สึกพร้อมกับเชียร์อัปให้ก้าวต่อไปอย่างสวยงาม

องค์กรไหนใช้เคล็ดลับ Servant Leader นำทีมไปแล้วบ้าง?

ที่จริงแล้ว ก็เคยมีหลายองค์กรนำไปใช้แล้วมากพอสมควร แต่ในที่นี้ เราจะขอยกตัวอย่างให้ฟังกันแค่ 2 องค์กรคือ ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง ‘กูเกิล’ และ ‘สตาร์บัคส์’

กูเกิล หนึ่งในองค์กรที่โด่งดังทั่วโลก ขึ้นชื่อว่าน่าทำงานด้วย มีชื่อเสียงในเรื่องนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ล้ำยุค ก็มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมการทำงานที่แข็งแกร่งมาจากการปรับใช้ 4 หลักการของ Servant Leader ดังนี้

1. ใส่ใจดูแลทีม ทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึก และความเป็นอยู่ที่ดี

2. สื่อสารกันแบบใส่ใจ ตรงไปตรงมา

3. ประเมินการทำงานอยู่เสมอ สนับสนุนทีมมากกว่าการลงโทษ

4. สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี

ส่วนสตาร์บัคส์ ร้านกาแฟเงือกเขียวที่สร้างความสำเร็จน่าทึ่ง ยืนเด่นอยู่เหนือคู่แข่งทั่วโลกก็มีปัจจัยความสำเร็จมาจากการปรับใช้ 3 หลักการของ Servant Leader เช่นกัน

1. สร้างวัฒนธรรมการเป็นเจ้าของ (Culture of belonging) ด้วยการวางทีมหรือพนักงานทุกคนเป็น ‘คู่คิด (Partner)’

2. เปิดกว้าง ให้โอกาสทีมพัฒนาตัวเอง และใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่

3. สนับสนุนกันและกัน คอยผลักดัน พัฒนา

ถ้าอยากให้ทีมที่ดี ทีมที่เก่งมารับใช้ อยู่กับเราไปนานๆ อย่างแรกเลย ต้องรู้จักรับใช้ทีมให้เป็นก่อน แทนที่ผู้นำที่คอย ‘สั่ง’ ลองเปลี่ยนมาเป็นผู้นำที่คอย ‘รับใช้’ เพื่อที่เราจะได้เหนื่อยน้อยลง ส่วนทีมเองก็จะได้เติบโตด้วย เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ทีมในวันนี้ก็คือผู้นำในวันหน้าไม่ต่างกัน

ลองนำเคล็ดลับนี้ไปปรับใช้ให้ตัวเองควรค่าแก่การถูกรักดู จะว่าไปการสวมตัวเองเป็นหัวหน้าผู้รับใช้ก็เป็นไอเดียที่ไม่เลวเลยนะ

Sources: https://bit.ly/3LpNDsw

https://bit.ly/38AiGDC

https://bit.ly/3LqSXfb

https://bit.ly/38A5s9C

https://bit.ly/38DbgQ4

https://bit.ly/3vnopWg