“ถ้าวันนั้นเลือกอีกทาง ชีวิตจะดีกว่านี้รึเปล่า?“ รู้จัก self-compassion และการใจดีกับตัวเอง

Share

“คนที่มีความมั่นใจในตัวเอง มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่า แต่ถ้าวันไหนที่ความมั่นใจนั้นถูกท้าทายด้วยความผิดหวัง พลาดพลั้ง เราจะเฆี่ยนตีตัวเองแรงพอๆ กับความคาดหวังที่แบกอยู่ไหม เราจะให้อภัยตัวเองและก้าวต่อไปได้รึเปล่า?”

ความมั่นใจในตัวเองหรือ ‘self-esteem’ คือทักษะที่เราต่างพร่ำบอกกันมาตลอดว่า สิ่งนี้จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น เป้าหมายชัดขึ้น ทำให้เรามองเห็นเส้นทางข้างหน้าได้ดีกว่าคนที่มี self-esteem ต่ำ จริงอยู่ที่ความมั่นใจในตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด แน่นอนมันกลับเป็นข้อดีมากๆ ด้วยซ้ำ ในขณะที่หลายคนกว่าพวกเขาจะสร้างความมั่นใจ รัก มองเห็นคุณค่า และความเก่งของตัวเองขึ้นมาได้กลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ทว่า อีกมุมหนึ่งของคนที่มี self-esteem สูงคือ มันมักจะมาพร้อมกับความคาดหวัง และการสร้างมาตรฐานของตัวเองที่มุ่งทำลายกรอบเดิมๆ อยู่เรื่อยๆ เพราะเรามีความมั่นใจว่า ทำได้และเคยทำได้ดีมาโดยตลอด แต่ถึงที่สุดแล้ว คงไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่า สิ่งที่เราทำได้จะคงอยู่ด้วยความแน่นอนตลอดไป เพราะทุกการกระทำไม่ได้มีเราเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังแวดล้อมไปด้วยปัจจัยรอบข้าง ที่บางครั้งการวางแผนรัดกุมก็ยังไม่อาจการันตีความสำเร็จได้ 100%

ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่มี self-esteem ค่อนข้างสูงมาตั้งแต่เด็กๆ เติบโตในครอบครัวที่ชื่นชมเราเสมอเมื่อเราเก่ง หรือทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งนอกจากคำชมแล้ว สิ่งที่เป็นเหมือนกับ ‘reward’ ก็คือ การเซ็ตรางวัลไว้ให้กับทุกๆ เป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น หากเรียนได้เกรด 4 ครบทุกวิชา จะได้ตุ๊กตาบาร์บี้นะ หรือถ้ามีของเล่นที่ราคาสูงขึ้นไปอีกก็อาจจะแลกมาด้วยเป้าหมายที่สูงขึ้น ยากขึ้น และทุกครั้งที่ทำได้เราก็จะยิ่งรู้สึกภูมิใจในความสามารถของตัวเองด้วย

รวมๆ แล้วเลยทำให้เรารู้จักความสามารถตัวเองค่อนข้างดี รู้ว่าเก่งอะไร ถนัดอะไร ข้อดีแน่ๆ คือ ทำให้เราไม่ค่อยยอมแพ้ มุ่งมั่น และมีความทะเยอทะยานเพื่อจะไปให้ถึงตามเป้า แต่สิ่งที่มันแฝงมากับการมี self-esteem ที่สูงเช่นนี้ก็คือ หากไปไม่ถึงเป้าหมายแบบที่คิดไว้ เราจะเกิดความรู้สึกผิดหวังในตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ว่า ทำไมทำไม่ได้ เราไม่เก่งเหรอ เราพลาดตรงไหน ทำไมเราแย่หรือไม่ได้เรื่องแบบนี้ ซึ่งความรู้สึกผิดหวังในตัวเองแบบนี้นี่แหละที่เป็นดาบสองดมของ self-esteem และสิ่งที่จะทำให้เรารู้จักวางความผิดหวัง เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบที่ไม่กล่าวโทษตัวเองจนเกินไปก็คือ การมี ‘self-compassion’ หรือการใจดีกับตัวเองให้มากขึ้น

‘self-compassion’ แปลตรงตัวคือ ความกรุณาเมตตาต่อตนเอง เป็นความสามารถในการรับมือกับความทุกข์หรือความผิดหวังที่เกิดขึ้น ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์และตัวเองได้ดีว่า ทุกปัญหาคือความปกติของชีวิต

อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ความทุกข์หรือความผิดหวังที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างอะไรกับเวลาเราได้รับความสุขนั่นคือ วันหนี่งเกิดขึ้น วันหนึ่งมันก็จะผ่านไป หมายความว่า ทุกเรื่องที่เกิดและตั้งอยู่เป็นปรกติของชีวิต ไม่มีอะไรจีรังไปตลอด วันนี้สุขสุดๆ พรุ่งนี้อาจจะผิดหวังก็ได้ ทำความเข้าใจก่อนว่า ความผิดหวัง ความเสียใจก็แค่ความรู้สึก ณ ชั่วขณะหนึ่งของชีวิตเท่านั้น

และเมื่อเราผิดหวังหรือไม่ได้ดั่งใจสำคัญที่สุดเลยคือ อย่าโบยตีตัวเอง คนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงมักจะถามหาความผิดและจุดบอดจากตัวเองก่อนว่า เราทำอะไรพลาดไป โอเค คุณอาจจะเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้พลาดเป้าหมาย แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด หรือแม้ว่าคุณจะคิดว่าตัวเองเป็นใจกลางของปัญหานี้จริงๆ ก็จงเปลี่ยนมันเป็นความกรุณาต่อตัวเองดีกว่า

ให้คุณลองนึกถึงเวลาที่เพื่อนสนิทสักคนผิดหวังหรือเสียใจ คุณปลอบเพื่อนด้วยวิธีไหน คำพูดแบบไหน ให้ใจดีกับตัวเองเท่านั้น เรารักและอ่อนโยนกับความผิดหวังของคนอื่นแล้ว อย่าลืมที่จะทะนุถนอมความรู้สึกจิตใจของตัวเองกันด้วยล่ะ

สุดท้ายแล้ว บทสรุปของการมีความเมตตากับตัวเองก็คือ ให้มองความล้มเหลวเป็นส่วนประกอบหนึ่งของชีวิตเหมือนกับความสำเร็จ แม้มันจะไม่ได้น่ายินดีเท่าไร แถมยังมาพร้อมกับบทเรียนราคาแพงในบางครั้ง แต่สำคัญที่สุดคือ จงอย่าให้ความล้มเหลวครั้งไหนมากดทับหรือกลืนกินตัวตนของคุณไปได้

การใจดีกับตัวเองไม่ได้แปลว่า เราให้ท้ายตัวเองหรือมองไม่เห็นความผิดนะคะ ตรงกันข้าม คนที่มีความเมตตากับตัวเองนี่แหละที่จะมองความผิดพลาดได้ชัดที่สุด และจะนำความผิดพลาดนั้นมาร่อนตะกอนออก จนเหลือไว้เพียงบทเรียนสำคัญที่จะทำให้เราก้าวต่อไปได้อย่างไม่เจ็บปวด