“ฉันในวันนี้ไม่เหมือนวันแรกที่เริ่มงานเลย” เมื่อหน้าที่การงานค่อยๆ เปลี่ยนตัวตนของเรา

Share

โรงเรียนคือสถานที่ที่บ่มเพาะความฝัน บ่มเพาะเด็กน้อยให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ มีคุณครู เพื่อนร่วมชั้นเป็นเหมือน ‘พิมพ์เขียว’ ที่คอย Shape พัฒนาการแต่ละวัน แน่นอนว่า ตัวตนของทุกคนในวันแรกที่ตบเท้าก้าวเข้าไปเรียนก็คงจะแตกต่างจากตัวตนในวันสุดท้ายที่จบการศึกษาออกมา

การทำงานก็เช่นกัน ทว่า เพียงแค่เปลี่ยนจากโรงเรียนเป็นออฟฟิศที่ไหนสักแห่ง เปลี่ยนจากคุณครูกลายเป็นหัวหน้า เปลี่ยนจากเพื่อนร่วมชั้นกลายเป็นเพื่อนร่วมงาน เปลี่ยนจากวันเปิดเทอมใหญ่วัยเรียนกลายเป็นเปิดเทอมใหญ่วัยทำงานก็เท่านั้น

จากวันแรกที่เป็นสายซอฟต์ พูดน้อย เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ เต็มไปด้วยพลังบวก แต่เมื่อทำงานไปสักพัก ผ่านสมรภูมิงานอันหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นรอบวงที่ 1 2 3 หรือ 10 ปีก็ตาม เราต่างก็ Level Up ขึ้น ทั้งความชำนาญหรือแม้กระทั่งพลังบวก ซึ่งในที่นี้คือ ก็ยังคงเป็นพลังบวกอยู่ แต่เปลี่ยนเป็นบวกแบบพร้อมฟาดทุกแผนกนั่นเอง

เพราะอะไรตัวตนของเราถึงค่อยๆ เปลี่ยนไป การทำงานมีอิทธิพลกับตัวตนจริงไหม?

ซาฮิล บลูม (Sahil Bloom) นักลงทุน ครีเอเตอร์ และเจ้าของธุรกิจแห่งหนึ่งได้เปิดเผยกราฟข้อมูลคนที่เราใช้เวลาด้วยตลอดหนึ่งช่วงชีวิต โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data และ American Time Use Survey เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ช่วงวัยทำงานอายุ 20-60 ปี เรามักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเพื่อนร่วมงานอย่างต่อเนื่อง ราว 2-3 ชั่วโมงต่อวัน แต่พอก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ หรืออายุ 60 ปีขึ้นไป เวลาเหล่านี้จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด

งานวิจัยเรื่อง ‘Work and Personality Change: What We Do Makes Who We Are’ ของหยิง หวัง (​​Ying Wang) และเจีย ฮุย (Chia-Huei) ระบุว่า ถึงบุคลิกจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างตายตัว ถ้าเป็นแบบไหนก็มีแนวโน้มว่า จะเป็นแบบนั้นตลอดไป แต่จากการศึกษาพบว่า ไม่จริงเสมอไป บุคลิกของคนเราสามารถแปรเปลี่ยนตามประสบการณ์การทำงาน ลักษณะการจ้างงาน บทบาทหน้าที่ ลักษณะงาน และการ Training ต่างๆ ขององค์กร

คนเราพัฒนา เติบโตขึ้นจากวุฒิภาวะหรือประสบการณ์ที่มากขึ้น อย่างเวลาเป็นผู้ใหญ่ที่อายุมากขึ้น หลายๆ คนก็มีแนวโน้มจะควบคุมตัวเอง รู้จักตัวเอง และมีความรับผิดชอบมากกว่าเดิม อีกทั้ง บทบาทหน้าที่ทางสังคมก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกับสมการความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย ยกอย่างเช่น บทบาทพ่อ-แม่ มนุษย์ออฟฟิศ หัวหน้าที่ทำให้เราต้องทำตัวตามความคาดหวังนั้นๆ

นอกจากนี้ งานวิจัยเรื่อง ‘Personality change via work: A job demand–control model of Big-five personality changes’ และ ‘Developing agency through good work: Longitudinal effects of job autonomy and skill utilization on locus of control’ ก็ยังเสนอมุมมองที่น่าสนใจด้วยว่า ลักษณะสภาพแวดล้อมในที่ทำงานถือเป็นสิ่งสำคัญ

เนื้องานที่มีความอิสระสูง ให้อิสระกับพนักงานในการตัดสินใจว่า อยากจะทำงานอะไร เมื่อไร และอย่างไร ย่อมช่วยพัฒนาบุคลิกของพวกเขาในการควบคุมสิ่งต่างๆ ในทางกลับกัน งานที่มีเวลาจำกัด และงานที่ไม่มั่นคง ไม่แน่นอนสูง เมื่อเวลาผ่านไปก็มีแนวโน้มจะหล่อหลอมบุคลิกพนักงานให้ไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism) หรือควบคุม รับมือกับอารมณ์ได้ไม่ค่อยดีนัก การเป็นหัวหน้าเชื่อมโยงกับบุคลิกในการใช้วิจารณญาณของคนคนหนึ่ง แต่ก็อาจส่งผลลบอย่างบุคลิกของการหลงตัวเองได้ด้วย

ถ้าการทำงานทำให้เราเติบโตขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นนี้ อาจนำมาซึ่งคำถามสำคัญของการเติบโตที่ว่า แล้วการทำงานทุกวันนี้กำลังทำให้เรากลายเป็นคนแบบไหน ใช่คนที่อยากเป็นรึเปล่า หรือเป็นผู้ใหญ่แบบที่ตอนเด็กๆ เคยเกลียดกันแน่? 

ลองกลับไปทบทวนการเติบโตของตัวเองกันดู แล้วงานทุกวันนี้ล่ะ Shape คุณไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bit.ly/3EndLSv

https://bit.ly/3XjNzAP

https://bit.ly/3XcvwwF

https://bit.ly/3XvC9KL

https://bit.ly/3XhJ21W