ลาออกเพราะคน ไม่ใช่เพราะบริษัท ถ้าไม่อยากเสียคนเก่งไป หัวหน้าจะรักษายังไงดี?

Share

“คนลาออกเพราะคน ไม่ใช่เพราะบริษัท”

นี่คือตลกร้ายอย่างหนึ่งของโลกการทำงาน แม้หลายๆ ครั้งพนักงานจะกรอกในใบลาออกหรือบอกใน Exit Interview ว่า เพราะไปเรียนต่อ เพราะโอกาสที่ดีกว่า เพราะการเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ เพราะเนื้องานที่ไม่ Match หรือเพราะแอร์ออฟฟิศที่เย็นเกินไป

ทว่า ลึกๆ แล้ว มนุษย์ออฟฟิศทุกคนต่างก็รู้กันเป็นอย่างดีว่า สาเหตุที่แท้จริงมักมาจากปัญหาเรื่องคนต่างหาก แต่ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ บางครั้งอาจจะเป็นเพราะหัวหน้าอย่างเราๆ โดยไม่รู้ตัวด้วย

เหมือนกับที่จอห์น แมกซ์เวลล์ (John Maxwell) เคยกล่าวในหนังสือ Leadership Gold ว่า “พนักงานลาออกเพราะ Manager ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ชอบบริษัทหรืองานที่ทำอยู่ แต่จริงๆ แล้ว แค่ต้องการหนีจากหัวหน้าก็เท่านั้น”

Image by rawpixel.com on Freepik

บี-อภิชาติ ขันธวิธิ Managing Director บริษัท QGEN Consultant และเจ้าของเพจ HR – The Next Gen เคยอธิบายในงาน Creative Talk Conference 2022 ไว้ว่า Manager ทำได้ 2 ฝั่ง ทั้งให้พนักงานลาออก และรักองค์กร เรามักจะได้ยินเสมอว่า คนเลือกเพราะองค์กร แต่จะลาออกเพราะ Manager ซึ่งอาจจะถูกหรือผิด แต่สิ่งนี้ทำให้คนที่ขึ้นมาเป็น Manager รู้สึกกลัวมากๆ

นอกจากนี้ การลาออกของพนักงานก็ยังเต็มไปด้วยต้นทุนแฝงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายการหาคนใหม่ การสัมภาษณ์ การ Onboarding และ Productivity ที่สูญเสียไปก็เช่นกัน ดังนั้น เรื่อง Employee Retention หรือการรักษาพนักงานเก่งๆ จึงสำคัญมาก

แล้วถ้าไม่อยากเสียคนเก่งไป หัวหน้าจะรักษามือซ้าย มือขวาชั้นดีให้อยู่คู่องค์กรไปนานๆ ได้อย่างไรบ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดู 5 คาถามัดใจลูกน้องกัน

Image by tirachardz on Freepik

1. คุยบ่อยๆ ฟังมากกว่าสั่ง

นอกเหนือจากงานแล้ว สำหรับคนเป็นหัวหน้า การดูแลทีม ทำให้พวกเขารู้สึกว่า กำลังได้รับการเอาใจใส่ก็เป็นเรื่องที่ควรทำพอๆ กัน โดยผลสำรวจหนึ่งของแกลแลป (Gallup) ชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกสบายใจของทีมเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญของการมีส่วนร่วม เพราะยิ่งมี Engage มากเท่าไร กล้าเดินเข้าหา สบายใจจะเดินไปหาหัวหน้ามากแค่ไหน โอกาสที่พวกเขาจะจากไปก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น

แต่ว่ากันตามตรง ในสังคมการทำงานจริง ลูกน้องหลายๆ คนกลับกลัวการเข้าหาหัวหน้าด้วยซ้ำ แอนดรูว์ โกรฟ (Andy Grove) อดีตผู้ก่อตั้งอินเทล (Intel) แนะนำว่า “หนทางที่ดีที่สุดในการจัดลำดับความสำคัญของการสื่อสาร คือการกำหนดตารางให้กับการคุยแบบ 1 on 1 อยู่เสมอ และเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย”

2. ​​ถ้าพลาด อย่าเพิ่งโบ้ยกัน

ถ้าเราเอาขยะใส่ลงไป ก็คงไม่แปลกที่จะได้ขยะกลับมา เวลาบรีฟ สั่งงานลูกน้องก็เช่นกัน หากงานออกมาไม่ดี อย่าเพิ่งตีโพยตีพายว่า เป็นความผิดของลูกน้องทั้งหมด หรือดุ ต่อว่าลูกน้องต่อหน้าลูกค้ากับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ลองหาเวลาหันกลับมาสำรวจตัวเองว่า จริงๆ แล้ว เป็นเพราะเรารึเปล่า เราบรีฟโอเค สั่งงานดีไหม มีตรงไหนตกหล่นหรือไม่?

3. ให้อิสระ ไม่จู้จี้จุกจิก

ทำความเข้าใจลูกน้องที่มีสไตล์ไม่เหมือนกัน ต่างวัยกัน เพราะหลายๆ ครั้งความหวังดี ความกลัวงานพัง การยื่นมือเข้าไปช่วย คอยสอดส่องอยู่บ่อยๆ ก็อาจกลายเป็นการ Micromanagement และกดดันทีมโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าเกิดใครบางคนรู้สึกถูก Force อึดอัดแบบนี้นานๆ เข้า ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะทนไม่ไหวจนลาออกไปอยู่ในที่ที่สบายใจกว่านี้นั่นเอง

Image by master1305 on Freepik

4. อย่าลืมให้ฟีดแบ็ก ให้ Recognition เป็นอันขาด

เวลาที่พนักงานทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ ไม่ว่างานนั้นจะออกมาสำเร็จ ออกมาดีตามคาดหรือไม่? สิ่งที่ควรตอบแทนพวกเขากลับในทุกครั้งคือ ‘การมอบฟีดแบ็ก และ Recognition’ เนื่องจาก บางขั้นตอนการทำงานอาจมีตัวแปรหรือปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาเกี่ยวด้วย

แมรี เคย์ แอช (Mary Kay Ash) ผู้ก่อตั้งแมรี เคย์ คอสเมติกส์ (Mary Kay Cosmetics) อธิบายว่า “คำชมส่งผลอย่างมากต่อความรู้สึกของคนที่มีกับงาน ให้ลองนึกถึงครั้งสุดท้ายที่คุณได้รับคำชมจากใครบางคนว่าทำงานได้ดีเยี่ยมดู”

อารมณ์เดียวกับเวลาเราทำงานหนัก ทุกคนล้วนอยากเดินไปข้างหน้า ไม่มีใครอยากย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลังลงคลองอย่างแน่นอน ถ้าสมมติหัวหน้ารักนะแต่ไม่แสดงออก แอบเก็บซ่อนความในใจไว้คนเดียว พวกเขาก็อาจจะรู้สึกน้อยอกน้อยใจ ตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำเอาได้

5. เติบโต เติบโต และเติบโต

ผลการศึกษาของดีลอยต์ (Deloitte) ระบุว่า โอกาสในการเติบโต และการพัฒนาตัวเองคือ 2 ใน 5 เหตุผลที่จูงใจให้คนมิลเลนเนียลส่วนใหญ่เลือกทำงานกับองค์กร เช่นเดียวกัน หากวันหนึ่งองค์กรไม่มีสิ่งนี้ พวกเขาก็อาจจะโบยบินออกไปเติบโตที่อื่น

จัดสรรเวลาว่าง กระชับความสัมพันธ์กับลูกน้อง ติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ แสดงให้พวกเขาเห็นว่า เราให้ความสำคัญกับการเติบโต มีแผนที่ชัดเจน หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ทำยังไงก็ได้ให้พวกเขารู้สึกว่าเราทั้งคู่ยังมีอนาคตร่วมกัน’

อ่านจบแล้ว ลองกลับไปทบทวนตัวเองดู ทั้ง 5 ข้อนี้เราทำแล้วหรือยัง ตลอดช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา เราเคยเจอหัวหน้าแบบไหนที่ชอบ และไม่ชอบบ้าง? ถ้ารู้แล้วว่า ตึงเกินไป หย่อนเกินไป การเปลี่ยนเกียร์เดินหน้าใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรหรอกนะ 🙂

Sources: https://bit.ly/3BLse9B

https://bit.ly/3CcBk0K

https://bit.ly/3UELEWo

https://bit.ly/3DUzRx1

https://bit.ly/3flwBRl

งาน Creative Talk Conference 2022 เซสชัน The Secret Recipe of Be-Loved Company โดย อภิชาติ ขันวิธิ