“ระบบแย่แบบนี้ ขยันทั้งปีก็ไม่มีวันโต” ‘Matrix Structure’ กับดักของการใช้ความทุ่มเทผิดที่ ผิดองค์กร

Share

“ทุกครั้งที่ลืมตาตื่นขึ้นมาเพื่อไปทำงาน พอไปถึง นั่งลงปุ๊บ หายใจเข้า หายใจออกก็รู้สึกอยากลาออกไปหมด ทำไมมันถึงเหนื่อยใจขนาดนี้ด้วย?”

ในวันที่เพื่อนสนิท รุ่นพี่ รุ่นน้องรอบตัวไปถึงเป้าหมาย ได้ทำงานในเนื้องานที่ชอบ ได้ทำงานในองค์กรที่ใช่ ได้เลื่อนขั้น โปรโมตตำแหน่ง ได้เจอเพื่อนร่วมงานที่น่ารัก โชคชะตา ฟ้าฝนที่เป็นใจไปหมด แต่พอหันกลับมามองตัวเอง ปีที่ 1 ก็แล้ว ปีที่ 2 ก็แล้ว ปีที่ 3 ก็แล้ว ก็ยังคงย่ำอยู่ที่เดิม ติดลูปวังวนซ้ำซากจนบางครั้งมีคำถามผุดขึ้นมาในหัวว่า หรือที่ไปไม่ถึงไหนอาจเป็นเพราะเราทำตัวเองกันแน่?

หากคุณกำลังซัฟเฟอร์ รู้สึกท้อกับ Career Path การทำงานอยู่ อย่าเพิ่งรีบตัดสินตัวเองไป เพราะจริงๆ แล้ว คุณอาจกำลังติดกับดักในองค์กรที่เติบโต ‘ยาก’ หรือที่เรียกว่า ‘Matrix Structure’ อยู่ก็ได้

ทิม เดนนิงส์ (Tim Denning) นักเขียนชาวต่างประเทศของสำนักข่าวชื่อดัง ทั้งซีเอ็นบีซี (CNBC) และบิสซิเนสอินไซต์เดอร์ (Business Insider) ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติการบริษัทแอดมิกซ์ (Admix) ในสหรัฐอเมริกาได้เล่าเรื่องราวบนเว็บไซต์มีเดียม (Medium) ไว้ว่า ในอดีตตัวเขาเองก็เคยติดอยู่ในองค์กรแบบ Matrix Structure เช่นกัน

เขาเล่าว่า เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาคลาสสิกในโลกการทำงาน ที่บางองค์กรนั้นมีโครงสร้างที่ ‘ไม่เปิดโอกาส’ ให้คนทำงานได้เติบโต โดยหลักๆ แล้วประกอบไปด้วย 5 จุดเด่นด้วยกัน อย่างแรกคือ ‘การไม่มีเวทีให้เติบโต’ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่คนที่มีตำแหน่งเล็กๆ เสนอไอเดียอะไรออกไปก็มักจะโดนมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญอยู่เสมอ

ซึ่งก็เปรียบเสมือน ‘ดาบสองคม’ ที่ปิดปาก ปิดความเฉิดฉาย ทั้ง High Performer และ High Potential โดยปริยาย เพราะอย่างที่รู้กันว่า เสนอไปก็เท่านั้น สู้นั่งเงียบๆ ไม่เปลืองน้ำลายดีกว่า Transform ตัวเราเป็นคนใหม่ที่ ‘ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น’ แม้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าจะค้านสายตา และความเป็นจริงก็ตาม

แต่นอกเหนือจากการไม่มีเวทีแล้ว ทิมยังเสริมอีกข้อด้วยว่า บางทีลำดับขั้นที่เยอะ จำกัดอำนาจแค่คนบางกลุ่ม ก็ทำให้คนตัวเล็กๆ ต้อง ‘ทำตามคำสั่งเจ้านายทุกอย่าง’ ไม่ต่างจากหุ่นยนต์หรืออย่างเวลาที่สั่งอาหารตามสั่ง คนขายก็ต้องทำตามลูกค้าเพียงอย่างเดียว ก่อเกิดเป็นความรู้สึกไม่แฮปปี้ทุกครั้งที่ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่า วันนี้ต้องไปทำงาน…

ถัดมาคือ ‘การไม่ได้เลื่อนขั้น’ ที่ต่อให้ทำงานที่องค์กรแห่งนี้มาร่วมหลายปีแล้ว แต่ก็ยัง ‘ถูกชะลอ’ ก้าวขึ้นสู่บันไดแห่งความก้าวหน้าด้วยตำแหน่งเดิมๆ แต่ถ้าใครเป็นคนวงใน จะรู้กันเป็นอย่างดีว่า ต่อให้พยายามให้ตายยังไงก็ยังคงติดแหง็ก เนื่องจาก องค์กร ‘ไม่มีขั้นบันได’ ที่ว่านั่นเอง

อีกทั้ง ประเด็นอย่างตัวเลขเงินเดือนที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงว่า ยิ่งทำงานนาน ค่าประสบการณ์ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็ด้วย แต่ที่หนักที่สุดก็คือ ‘เกิดความกลัวการลาออกขึ้นมา’ รู้สึกว่า หนทางข้างหน้าอาจแย่กว่าสิ่งที่กำลังซัฟเฟอร์อยู่ก็ได้

ทิมบอกว่า ในเมื่อเราแก้ที่โครงสร้างกับระบบไม่ได้ แถมการยื่นซองขาว ใบลาออกนั้นก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเช่นเดียวกับบางคน การ ‘Step Back’ ออกมาแล้วปรับเปลี่ยน Mindset ตัวเองในฐานะคนทำงานคนที่ทุ่มเท และอยากจะเติบโตก็เป็นทางเลือกการอยู่ด้วยความแฮปปี้ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

เขาแนะนำว่า ‘ให้กลับมาวางแผน Career Path ใหม่’ ทบทวนว่า ตอนนี้กำลังทำอะไร มีสกิลอะไร มี Connection รู้จักใครไหม ตำแหน่งเดิมเป็นสิ่งที่ใช่รึเปล่า และนับจากนี้ เรามีทางเลือกไหน เติบโตไปสายไหนต่อได้บ้าง?

อันที่จริงวิธีนี้ก็คล้ายกับการมองหา ‘แง่งามหรือโอกาส’ ในสิ่งที่เจออยู่ เพื่อหวังว่า สักวันประสบการณ์ตรงนี้จะไป Connecting the dots กับอนาคตที่สดใสในวันข้างหน้าได้นั่นเอง ส่วนวิธีรับมือถัดมา เขาบอกว่า ‘ให้หากิจกรรมที่อยากทำหรือที่ชุบชูจิตใจจากความอัดอั้น’ ทั้งนี้  อาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถ Fulfill ความสุขที่หายไปใน 8 ชั่วโมงของการทำงาน เสริมพลังให้พร้อมสู้กับกองงานอีกครั้ง รวมไปถึงกิจกรรมดังกล่าวอาจสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองอีกทางก็ได้

อย่างสุดท้าย ทิมแนะนำว่า ‘ให้เดินไปคุยกับหัวหน้าตรงๆ’ เพื่อพัฒนา และส่งเสริมกันและกันเท่าที่จะทำได้ บอก และถามพวกเขาว่า เรากำลังมองหาเติบโต ตอนนี้ติดปัญหาไหน ที่ยังไม่โตเป็นเพราะอะไร ความรู้สึกซัฟเฟอร์เป็นแค่สิ่งที่เรามโนไปเองรึเปล่า และเรายังสำคัญกับองค์กรอีกไหม? 

ท้ายที่สุดแล้ว ใครที่กำลังเจอกับระบบแย่ๆ แบบนี้อยู่ รู้สึกว่า ขยันทั้งปีก็ไม่มีวันโต อาจจะลองกลับมากำหนดเวลากับตัวเอง เพราะองค์กรแต่ละแห่งนั้นมีระยะเวลา และเกณฑ์การโปรโมตคนที่ต่างกัน บ้างอาจจะนาน บ้างอาจจะเร็ว บ้างอาจจะรอให้คุณพร้อมที่สุด ฉะนั้น การเอา Timeline ไปเปรียบเทียบกับเพื่อน และบั่นทอนตัวเองว่า ไม่เก่ง ไม่ดีพอจึงไม่ใช่เรื่องที่ถูก ที่ควรเท่าไร

Timing ของคนเราต่างกัน Timing ขององค์กรก็เช่นกัน

แต่ถ้าครบกำหนดที่ตั้งไว้ คำตอบในใจชัดเจนแล้ว ก็ถึงเวลาก้าวออกมาแล้วล่ะ! สุดท้ายปลายทาง การที่ทำงานที่ใดที่หนึ่งนั้นคือ ‘Win-win situation’ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การรักอีกฝ่ายข้างเดียวโดยที่เขาไม่รักตอบ ถ้าไม่ใช่ ก็ก้าวออกมา ตบบ่าตัวเองแล้วเริ่มต้นใหม่ องค์กรแห่งนี้ ‘ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของโลก’ สักหน่อย มุ่งไปที่อนาคตที่สดใสดีกว่า เชื่อเถอะ แล้ววันหนึ่ง คุณจะรู้สึกขอบคุณตัวเองมากๆ 🙂

Source: https://bit.ly/3xJhsyP