“แอบหลับ แอบงีบในเวลางาน นอกจากจะมีสิทธิ์โดนเลิกจ้างแล้ว ยังต้องจ่ายค่าชดเชยด้วย!”
ประโยคข้างบนทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่นั่งเทียนเขียนขึ้นมาแต่อย่างใด แต่คือความจริงของกฎหมายแรงงานไทยที่ทุกคนต่างทราบเป็นอย่างดี และถึงแม้จะเป็นการงีบเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ร้ายแรงถึงขั้นหลับแบบจริงจัง ทว่า ท้ายที่สุดแล้ว ก็ต้องได้รับโทษอย่างการจ่ายค่าชดเชยแทบไม่ต่างกันอยู่ดี
หากพูดกันตามตรง ความรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างเวลาที่เรากินอิ่ม ท้องตึง หนังตาก็หย่อน หรือเวลาที่พยายามคิดงานให้ออก จ้องอยู่แต่กับเอกสารต่างๆ ในบางครั้งนอกจากจะหัวไม่แล่นแล้ว ยังทำให้รู้สึกเพลียอีกด้วย
จากผลการศึกษาของสถาบันเวอร์จินพัลส์ (Virgin Pulse Institute) ชี้ให้เห็นว่า 76 เปอร์เซ็นต์ของคนทำงานรู้สึกเหนื่อยล้า ง่วงนอนระหว่างเวลาทำงาน และ 15 เปอร์เซ็นต์ยังบอกด้วยว่า มักงีบระหว่างวันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะไม่ใช่แค่คุณ แต่ส่วนใหญ่คนทำงานคนอื่นก็รู้สึกแบบนี้ แม้กระทั่งทีมของคุณก็เช่นกัน
แต่รู้หรือไม่ว่า นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกมากที่สุด โดยผลสำรวจของแมคคินซีย์ (McKinsey) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกเผยว่า บริษัทที่ขาดความยืดหยุ่น ขาดอิสระในการทำงาน (Lack of workplace flexiblility) เป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 4 ในการโบกมือลาของพนักงานเก่งๆ
เช่นเดียวกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างกูเกิล (Google) ที่ติด Top List บริษัทในฝันของใครหลายคนว่า ต้องทำงานที่นี่ให้ได้ก่อนตาย ดินแดนที่ว่ากันว่า เป็นสวรรค์ของคนทำงานก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกัน แต่สวรรค์ในที่นี้ไม่ใช่แค่เนื้องานในฝันเท่านั้น ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมการทำงานในฝันที่ทีมทุกคนสามารถพักงีบโดยที่ไม่ต้องมานั่งระแวงว่า จะโดนจับผิด เลิกจ้าง หรือให้จ่ายค่าชดเชยเลย
แล้วสวรรค์แบบกูเกิลเป็นยังไง บริหารงานกันด้วยกฎแบบไหน? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
หมดยุคนั่งนับเวลาเข้า-ออก สิ่งที่ทำให้กูเกิลเป็นบริษัทที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมก้องโลกและคนรุ่นใหม่นั้น มีองค์ประกอบมาจากวิธีการบริหารแบบคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจทุกคน ซึ่งบรรยากาศภายในบริษัทก็จะส่งเสริมอิสระให้กับคนทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ได้มีการมานั่งดูว่า ทำงานเมื่อไร กลับตอนไหน แอบกระซิบว่า ที่เจ๋งกว่านี้ก็คือ เขามีที่นอนให้ด้วย
โดยทั้งหมดก็ตั้งอยู่บนกฎเหล็กการทำงานของบริษัท 10 ข้อ แต่เราจะขอยกมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ที่กูเกิลจะไว้ใจพนักงานอย่างมาก โดยมีการยึดโมเดลการทำงานแบบ 70-20-10 (70 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมดให้ทำงานหลัก, 20 เปอร์เซ็นต์ให้ทำโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องหรือทำอะไรก็ได้ของตัวเอง ส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ให้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ)
ซึ่งโมเดลดังกล่าวไม่ใช่แค่ลดต้นเหตุอัตราการลาออก (Turnover Rate) อย่างงานที่ขาดความยืดหยุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ถ้ามองกันลึกๆ แล้ว นี่ก็เป็นการลดต้นเหตุอย่างประเด็นเรื่องงานที่ขาดความหมาย (Lack of meaningful work) ที่ติดอันดับ 2 เหตุผลที่ทำให้พนักงานเก่งๆ ตัดสินใจลาออก และช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้วย
เพราะบางทีไอเดียสุดบรรเจิดก็มากันแบบปุบปับรับโชค นอนตื่นหนึ่งแล้วปิ๊งขึ้นมาก็มีบ้างใช่ไหม? ทั้งนี้ ก็เป็นผลมาจากเวลาที่เราได้ถอยออกมาจากสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ พอสมองได้ผ่อนคลายก็เลยเห็นภาพรวมต่างๆ ได้ดีขึ้นนั่นเอง
ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของกูเกิลมีพื้นฐานมาจาก ‘คน’ งานสร้างคน คนก็สร้างงาน อย่าลืมที่จะสร้างคนให้แข็งแรงมั่นคง ก่อนไปสร้างงานด้วยนะ
Sources: https://bit.ly/3yyynGq
หนังสือ Work Rules เขียนโดย Laszlo Bock