ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของวันนี้ เราอยากชวนทุกคนมาลองจินตนาการภาพตัวเองในวัยเด็ก แล้วนึกถึงความทรงจำสมัยที่เรียนวิชาดาราศาสตร์กัน!
หนึ่งในความทรงจำที่ทุกคนน่าจะมีร่วมกันเกี่ยวกับการเรียนในวิชาดาราศาสตร์ คงเป็นการที่คุณครูเปิดภาพ ‘กาแล็กซี’ (Galaxy) สวยๆ ให้ดูบนจอโปรเจกเตอร์ หรือไม่ก็สั่งงานให้ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับกาแล็กซีแต่ละประเภทมานำเสนอหน้าชั้นเรียน และในขณะที่กำลังค้นหาข้อมูลอยู่นั้น ก็เกิดความสงสัยว่า ภาพกาแล็กซีสวยๆ พวกนี้ ถ่ายมาจากของจริงหรือเปล่า? แล้วอะไรที่ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบความจริงเกี่ยวกับกาแล็กซีกันแน่?
จริงๆ แล้ว เรื่องราวของกาแล็กซีก็มีความลึกลับซับซ้อนไม่แพ้กับเรื่องราวของเอเลียน หรือปริศนาอื่นๆ ในเอกภพที่นักดาราศาสตร์กำลังค้นหาความจริงกันอยู่ ถึงแม้จะรู้ว่า โลกที่เราอาศัยอยู่เป็นส่วนหนึ่งของกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy) แต่ก็ไม่มีใครเคยเห็นหน้าตาหรือรูปทรงของมันจริงๆ นอกจากจะเห็นจากภาพถ่ายของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ และภาพจำลองที่มาจากการวิเคราะห์ของนักดาราศาสตร์เท่านั้น
แต่ในปัจจุบัน ต้องขอบคุณความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสำรวจทางอวกาศ ที่ทำให้ค้นพบความลับมากมายที่ยังซ่อนอยู่ในเอกภพ และหนึ่งในความลับที่เราอยากพาให้ทุกคนไปรู้จักกันก็คือ ‘กาแล็กซีที่ไกลที่สุดตั้งแต่เคยค้นพบมา’
เราขอแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับตัวละครของเรื่องนี้กันก่อน เริ่มกันที่พระเอกของเรื่องอย่าง ‘HD1’ กาแล็กซีที่ถูกค้นพบว่า อยู่ไกลที่สุดตั้งแต่มีการค้นพบมา ซึ่งมีระยะทางที่อยู่ห่างออกไปจากโลกถึง 13.5 พันล้านปีแสง (1 ปีแสง เท่ากับ 9,460 ล้านล้านเมตร) แค่คิดจะลองคำนวณเป็นตัวเลขคร่าวๆ ออกมาก็ท้อแล้ว แต่ถ้าใครอยากรู้ว่า HD1 อยู่ไกลขนาดไหน สามารถคำนวณต่อในเครื่องคิดเลขเองได้เลย
แต่การค้นพบพระเอกอย่างกาแล็กซี HD1 จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีความสามารถสูง และทีมนักดาราศาสตร์ที่ทุ่มเทกับการค้นหาความจริง โดยฟาบิโอ ปาคุชชี (Fabio Pacucci) หนึ่งในทีมนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบกาแล็กซี HD1 กล่าวว่า “การค้นหาคำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติ อย่างการค้นพบกาแล็กซีนี้ ในที่ที่ไกลแสนไกลมีความท้าทายรออยู่เสมอ
ซึ่งไม่แปลกที่เขาจะพูดออกมาเช่นนั้น เพราะการค้นหาในครั้งนี้ ต้องใช้การสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศถึง 4 ตัว รวมถึงใช้เวลาในการสังเกตการณ์มากกว่า 1,200 ชั่วโมง ยังไม่รวมเวลาที่พวกเขาต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ลักษณะของสิ่งที่ค้นพบ และสรุปว่า มันคือกาแล็กซีที่อยู่ไกลที่สุดจริงๆ
ส่วนการที่ทีมนักดาราศาสตร์ตั้งชื่อให้กาแล็กซีนี้ว่า HD1 ก็เป็นผลมาจากงานวิจัยของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) เกี่ยวกับความยาวคลื่นแสงที่เกิดจากเคลื่อนที่ของวัตถุในอวกาศ (ซึ่งจะไม่ขอลงรายละเอียดของงานวิจัยในบทความนี้)
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงอยากรู้แล้วว่า กาแล็กซี HD1 มีลักษณะอย่างไร และจะเหมือนกับภาพกาแล็กซีสวยๆ ที่คุณครูเคยเปิดภาพให้ดูในชั้นเรียนหรือเปล่า?
ฟาบิโอ ได้อธิบายลักษณะของกาแล็กซี HD1 ในวารสาร Astrophysical Journal ว่า เป็นกาแล็กซีที่เปล่งแสงสีแดง ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘เรดชิฟท์’ (redshifting) หรือปรากฏการณ์ที่วัตถุเคลื่อนที่ จนทำให้ความยาวคลื่นแสงยืดตัวไปทางฝั่งแสงสีแดง อีกทั้ง HD1 ยังเป็นกาแล็กซีที่มีความสว่างมากในช่วงแสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเกิดกระบวนการบางอย่างที่มีพลังงานสูงภายในกาแล็กซี
นอกจากนี้ ทีมนักดาราศาสตร์ยังคาดการณ์ว่า HD1 เป็นกาแล็กซีเก่าแก่ที่ถือกำเนิด หลังจากที่เกิด ‘บิกแบง’ (Big Bang) หรือการกำเนิดเอกภพจากการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ ไปอีกประมาณ 330 ล้านปี และยังมีหลักฐานที่สนับสนุนว่า HD1 อาจจะเป็นที่อยู่ของดาวฤกษ์ยุคแรก (Population III) อย่างการที่มีแสงส่องสว่าง และมีการปล่อยรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นจำนวนมากอีกด้วย
แต่ในว่าตอนนี้ การศึกษาเกี่ยวกับกาแล็กซี HD1 ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ทีมนักดาราศาสตร์ยังต้องการคำตอบอีกว่า ลักษณะรูปทรงของกาแล็กซีนี้ จะเป็นแบบดาวกระจาย (Starburst Galaxy) อย่างที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ รวมถึงต้องการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยอื่นๆ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope) ที่เริ่มมีการใช้งานเมื่อช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา
(หากใครสนใจเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ อย่างการที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้ ค้นพบเบาะแสของ ‘เอเลียน’ Future Trends ก็เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ https://bit.ly/3L5N6Mc)
ทั้งนี้ หากทีมนักดาราศาสตร์สามารถไขคำตอบเกี่ยวกับกาแล็กซี HD1 ได้อย่างกระจ่างแล้ว คงเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านดาราศาสตร์ และการเกิดบิกแบงในอนาคตได้อย่างแน่นอน หรืออาจกลายเป็นหลักฐานชิ้นใหม่ในการศึกษา และหาคำตอบเกี่ยวกับปริศนาอื่นๆ ในเอกภพ อย่าง ‘เอเลียน’ สิ่งมีชีวิตนอกโลกที่เป็นปริศนามาอย่างยาวนานก็เป็นได้
Sources: https://bit.ly/3OwVgj1
https://go.nasa.gov/3MtjOYp
https://bit.ly/3xNlrvW