“งานหนักไม่เกี่ยง แต่ปัญหาเรื่องคนต้องขอบาย”
ประโยคระบายความอัดอั้นตันใจของชาวออฟฟิศที่เห็นได้บ่อยในโลกออนไลน์ เพราะการทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ดีเอ็นเอ (DNA) ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดปัญหาการทำงานตามมาอีกมากมาย เช่น ความเครียด การสื่อสารไม่รู้เรื่อง การทำงานล่าช้ากว่ากำหนด เป็นต้น
มิหนำซ้ำ บางคนโชคร้ายกว่านั้น เพราะเจอเพื่อนร่วมงานที่เข้ากันไม่ได้อย่างเดียวไม่พอ ยังเจอเพื่อนร่วมงานที่มีความเป็นพิษอยู่ในตัว และพร้อมที่จะแผ่รัศมีความไม่น่าคบหาออกมาตลอดเวลา
ถึงแม้หลายๆ คนจะบอกว่า ความสัมพันธ์แบบ ‘เพื่อนร่วมงาน’ ไม่ได้มีความลึกซึ้งเท่าความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น ต่างคนต่างมาทำงาน พอเลิกงานก็แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตของตัวเอง แต่ความเป็นจริง คนเราใช้เวลากว่า 1 ใน 3 ของวันอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานภายใต้ห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ที่แสนจะอึดอัด ยิ่งต้องมาเจอเพื่อนร่วมงานที่นิสัยไม่เข้ากัน ยิ่งสร้างความอึดอัดได้มากกว่าปกติหลายเท่า
แล้วคนประเภทใดบ้างที่ทำให้บางคนถึงกับต้องสวดมนต์ และหันหน้าพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ไม่เจอในที่ทำงาน?
นอกจากจะเป็นคนประเภทที่ชอบบังคับความคิดคนอื่น ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือชอบพูดแต่เรื่องของตัวเอง จนไม่ฟังใครแล้ว ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งที่แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็สร้างความน่าปวดหัวอยู่ไม่น้อยเช่นกัน นั่นคือ ‘Drama Queen’ หรือคนที่ชอบแตกตื่นไปกับสถานการณ์บางอย่าง ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ และชอบรับบทเป็น ‘นางเอกเจ้าน้ำตา’ เพื่อเรียกคะแนนสงสารจากคนอื่น
แต่คำนิยามเพียงอย่างเดียวคงไม่พอที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจตัวตนของ Drama Queen ได้อย่างถ่องแท้ เราจึงหยิบยกสถานการณ์ตัวอย่างที่อาจจะพบได้ในที่ทำงานมาสร้างความเข้าใจมากขึ้น
หัวหน้า: “งานชิ้นนี้ พี่จะมอบหมายให้ A ทำนะ นี่คือรายละเอียดทั้งหมดของงาน”
พนักงาน A: “หนูขอไม่ทำงานชิ้นนี้ได้ไหมคะ คราวก่อนมีปัญหาแก้หลายรอบมากเลย หนูรู้สึกไม่โอเค แล้วช่วงนี้งานเยอะมากค่ะ ยุ่งจนหนูไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวแล้ว”
หัวหน้า: “แต่พี่เห็นว่า A ทำงานเสร็จไปหลายชิ้นแล้วนะ และชิ้นนี้ก็เป็นชิ้นที่ตำแหน่งของเราต้องรับผิดชอบโดยตรงด้วย”
พนักงาน A: “พี่ให้คนอื่นทำเถอะค่ะ หนูกลัวว่า ถ้างานออกมาไม่ดีและต้องแก้หลายรอบเหมือนคราวก่อน ทีมเราอาจจะมีปัญหาได้นะคะ”
จากสถานการณ์ตัวอย่าง ไม่ว่าใครที่ได้ทำงานกับ Drama Queen ต้องมีช่วงเวลาที่หนักใจทั้งสิ้น สำหรับหัวหน้าที่มีลูกทีมเป็น Drama Queen ต้องคอยแก้ปัญหาและควบคุมการทำงานของทีมไม่ให้เสียระบบ ส่วนลูกทีมที่มีหัวหน้าเป็น Drama Queen ก็ต้องคอยรองรับอารมณ์และปัญหาหนักอกหนักใจของหัวหน้าตัวเอง จนไม่เป็นอันทำการทำงาน
แล้วถ้ากำลังทำงานกับคนประเภท Drama Queen อยู่ จะมีวิธีการรับมืออย่างไรบ้าง?
Future Trends ได้นำวิธีการรับมือเพื่อนร่วมงานประเภท Drama Queen จาก ‘มาร์ลีน ชิสม์’ (Marlene Chism) ผู้เขียนหนังสือ ‘Stop Workplace Drama: Train Your Team to Have No Complaints, No Excuses and No Regrets.’ มาฝากกันทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
1. ชี้แจงบทบาทและหน้าที่ให้ชัดเจน
การเน้นย้ำบทบาทและหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน จะเป็นการปิดตายข้ออ้างที่ Drama Queen พยายามสรรหามาต่อรองกับเพื่อนร่วมงานของตัวเอง
และหากทำทุกอย่างแล้ว แต่ Drama Queen ยังคงเรียกร้องความสงสารและบ่ายเบี่ยงที่จะไม่ทำงานของตัวเอง อาจจะต้องใช้ไม้แข็งในการพูดคุย เช่น “ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง หากคุณพยายามบ่ายเบี่ยงงานที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ผลกระทบจะตกอยู่ที่ตัวคุณเองทั้งหมด”
2. อย่าให้ Drama Queen เข้ามาล้ำเส้น
Drama Queen อยู่ได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น ยิ่งทุกคนเห็นใจและให้ความช่วยเหลือ Drama Queen จะยิ่งมีข้ออ้างในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนที่ทำงานด้วย ต้องพยายามรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม และกำหนดขอบเขตไม่ให้ Drama Queen เอาเปรียบตัวเองได้
3. ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน
การที่ทีมร่วมมือร่วมใจและช่วยกันทำงานให้เป้าหมายของทีมประสบความสำเร็จ ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ Drama Queen รู้ตัวว่า ถ้าตัวเองยังคงบ่ายเบี่ยงและใช้ความสงสารในการผลักงานออกจากตัว จะทำให้กลายเป็น ‘ตัวถ่วง’ ของทีมในไม่ช้า
ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการรับมือที่ไม่ต้องใช้คำพูดรุนแรงในการตักเตือน และไม่สร้างความขัดแย้งในที่ทำงาน แต่เป็นแสดงตัวอย่างให้ Drama Queen ตระหนักว่า ตัวเองควรทำงานให้ดี และสนับสนุนการทำงานของทีมอย่างไร
ถึงแม้จะไม่มีใครต้องการทำงานกับ Drama Queen หรือคนประเภทอื่นๆ ที่มีความเป็นพิษอยู่ในตัว แต่ความเป็นจริง คนทำงานไม่มีทางเลือกเพื่อนร่วมงานที่ต้องเจอกันทุกวันได้ อย่างน้อยขอให้คุณทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และไม่ต้องเอาความเป็นพิษของเพื่อนร่วมงานมาใส่ใจจนทำให้การทำงานสะดุดลง
Sources: https://cnn.it/3NawNiZ