“กินยาแค่ไหนก็ไม่หาย ถ้ายังเจออะไรแย่ๆ แบบนี้” ว่าด้วยต้นตอของซึมเศร้าที่เกิดจากออฟฟิศและโครงสร้างสังคมห่วยๆ

Share

ใน 8 ชั่วโมงแห่งการทำงาน ทั้งลูกค้าบ่น หรือเพื่อนร่วมงานตำหนิ ไม่ว่าจะรู้สึกแย่มากแค่ไหน สุดท้ายแล้ว ก็ต้องกดมันเอาไว้อยู่ดี บางครั้งหลายๆ คนก็กดสิ่งเหล่านี้ไว้ไม่ไหว เผลอปล่อยน้ำตารินไหลออกมา ซึมเศร้าจนเสียงานเสียการด้วย

หากเราลองเสิร์จโรคซึมเศร้าตามอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ก็มีเว็บไซต์ต่างๆ พูดถึงต้นตอ ฮาวทูไว้มากมายเลยทีเดียว โดยหลักๆ แล้ว ต่างก็มีแก่นแกนเดียวกันนั่นก็คือ การบอกว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากการมีสารเคมีสมองที่ผิดปกติ ความอ่อนแอทางจิตใจ

ซานาห์ อาซัน (Sanah Ahsan) นักจิตวิทยาคลินิกแห่งเนชันเฮลท์เซอร์วิส (Nation Health Service หรือ NHS) ได้พูดถึงเรื่องนี้บนเว็บไซต์สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ตนเชื่อว่าเราเคยถูกโกหกเรื่องสุขภาพจิต โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากปัญหาภายในตัวบุคคลอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้ว อาจเกิดจาก ‘โครงสร้างสังคม และสภาพแวดล้อมห่วยๆ’ ด้วย

Image by creativeart on Freepik

เธอเล่าว่า โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน บรรยากาศที่อึมครึม ชวนหดหู่ สภาพอากาศที่แปรปรวน มลพิษมากมาย ค่าครองชีพที่พุ่งสูง โรคระบาดที่ไม่มีท่าทีจะจบลงง่ายๆ คดีอาชญากรรม ตำรวจที่กลายเป็นผู้ร้ายซะเอง ทำให้ความเชื่อมั่นต่างๆ ถูกทำลายลง

ตามปกติ คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะได้ใบสั่งยากล่อมประสาทที่ใช้ได้ผลดีกับคนส่วนใหญ่อยู่บ่อยๆ แม้จะช่วยให้พวกเขาควบคุมตัวเองได้ แต่ในระยะยาว มันไม่เป็นผลดีเสมอไป ซานาห์เปรียบเทียบว่า เหมือนกับหมอที่ใช้พลาสเตอร์ยารักษาผู้ป่วยจนหมดกล่อง แต่ไม่ได้ลงลึกถึงต้นตอของความทุกข์ที่แท้จริง

อิกนาซิโอ มาร์ติน บาโร (Ignacio Martin Baro) นักเคลื่อนไหวชาวซัลวอดอร์ และนักจิตวิทยาเสนอว่า ปัญหาสุขภาพจิตกับโครงสร้างสังคมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ความทุกข์ ความ Suffer ต่างๆ มักเกิดจากประสบการณ์ และอดีตจากการถูกกดขี่ของผู้คน

ปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนเป็นผลมาจากแรงกดดันของปัจเจกนิยม และทุนนิยม เพราะฉะนั้น ในทางจิตวิทยา จึงไม่ได้มองพวกเขาในฐานะ ‘คนป่วย’ แต่เปลี่ยนเป็นการมองในฐานะ ‘ผู้มีคุณค่า มีบทบาท และควรได้รับเสรีภาพจากสังคม’ แทน

“เมื่อพืชแห้งเหี่ยว เราไม่ควรวินิจฉัยว่า มันเป็น ‘โรคพืชแห้งเหี่ยว’ แต่ควรเลือกเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ และแสงแดด” เช่นกัน หากบางคนต้องทนทุกข์ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย รู้สึกเศร้า ก็ไม่ควรฟันธงทันทีว่า เกิดจากตัวเอง เกิดจากสารเคมีในสมอง ลึกๆ แล้ว มันอาจจะมาจากสภาพแวดล้อมแบบเดียวกับพืชก็ได้

บางทีพวกเขาอาจจะแค่ต้องการความรัก สังคมดีๆ ที่คอยสนับสนุน การจะรักษาด้วยวิธีบำบัดแบบ ‘ตัวต่อตัว’ ให้ได้ผล สิ่งสำคัญเลยก็คือ การเช็กให้แน่ใจว่า ‘ไร้การกดขี่’ อย่างแท้จริง และหนทางที่ดีที่สุดคือ ‘การเปลี่ยนแปลงการกดขี่ทางสังคมที่เป็นบ่อเกิดของความเจ็บปวด’ นั่นเอง

ซึ่งคำอธิบายดังกล่าวก็สอดคล้องกับผลการศึกษาหนึ่งของเดนมาร์กที่เผยว่า โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจาก Workload งานที่ยังทำไม่เสร็จ และแทบจะไม่เกี่ยวกับแรงกดดันเลยด้วยซ้ำ การทำงานหนักไม่ได้มีผลกับโรคนี้ แต่แท้จริงแล้ว มันเกิดจากประสบการณ์ที่ไม่ดีจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างเช่น เจ้านายที่ไม่ยุติธรรม หรือการมีลูกรัก ลูกชังก็ด้วย

มาร์ทิอัส บรอดกาด กรินเดอร์อัป (Matias Brødsgaard Grynderup) หนึ่งในทีมนักวิจัยระบุว่า ความเสี่ยงของโรคซึมเศร้าไม่ได้แปรผันตรงตาม Workload ที่ลดลง เนื่องจาก มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

Image by Freepik

โดยจากการศึกษาผ่านกลุ่มตัวอย่างข้าราชการจำนวน 4,500 คน ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และสำนักงานต่างๆ เกี่ยวกับความเครียด และปริมาณฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ในน้ำลายด้วยการสัมภาษณ์รายบุคคลนั้น ผลปรากฏว่า ความเป็นธรรมในออฟฟิศ ทั้งความรู้สึกที่มีต่อหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ล้วนมีนัยยะสำคัญต่อความเสี่ยงของโรคซึมเศร้ามากกว่าความกดดัน

กล่าวคือ ยิ่งใครสักคนรู้สึกไม่แฟร์มากเท่าไร ก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าสูงตาม นอกจากนี้ การมีฮอร์โมนคอร์ติซอลแห่งความเครียดที่มากเกินก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจผิดกัน แต่จริงๆ แล้ว เป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงต่ำของโรคซึมเศร้าต่างหาก

ต่อให้เราจะกินยามากเท่าไร ไปหานักจิตวิทยาบ่อยแค่ไหน แต่ตราบใดที่เรายังรายล้อมไปด้วยสภาพแวดล้อมออฟฟิศ คนแย่ๆ องค์กรแย่ๆ และโครงสร้างสังคมห่วยๆ อยู่ท่ามกลาง Trigger เดิมๆ โรคนี้ก็ไม่มีวันจางหายไปจากตัวเราอยู่ดี

‘สุขภาพจิตของเราเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด’ จิตใจเรามีดวงเดียว เสียแล้วเสียเลย บางทีเงินเดือนที่ได้มาเมื่อชั่งน้ำหนักกับสิ่งที่ต้องเผชิญแล้วก็อาจจะไม่สอดคล้องกันสักเท่าไร ดูแลจิตใจตัวเองกันให้ดีๆ ถนนข้างหน้ายังอีกยาวไกลมากๆ หากใครที่กำลังเผชิญกับสภาวะแบบนี้ เราขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้แล้วกันนะ 🙂

Sources: https://bit.ly/3M4fxf2

https://bit.ly/3dZejF0

https://bit.ly/3RAQD7I

https://bit.ly/3C9W4Fc