ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าอย่างเราๆ หรือใครก็ตาม เวลาที่มีปัญหา ก็คงอยากจะรีบเคลียร์ให้จบเร็วๆ ทว่า หากมาจับเข่าคุยกันตรงๆ แล้ว ในหลายๆ ครั้ง วิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ก็อาจจะไม่เวิร์กเท่าไร
เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นแล้ว ก็ยังซ้ำเติมต้นตอ ทำให้กลายเป็นยิ่งแก้ก็เลยยิ่งแย่ ยิ่งบานปลายกันเข้าไปใหญ่ ไม่ต่างอะไรจากงูเห่าที่แว้งกลับมากัดเราด้วย
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมยิ่งแก้ก็เลยยิ่งแย่ เราสามารถหยุดเรื่องนี้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะมาเล่าฟังผ่าน ‘Cobra Effect’ ผลจากการแก้ปัญหาแบบ ‘งูเห่า’ ที่ครั้งหนึ่งเคยทำเอารัฐบาลอังกฤษพังไม่เป็นท่ากัน
Cobra Effect คืออะไร?
Cobra Effect คือผลจากการแก้ปัญหาแบบ ‘เส้นตรงเกินไป’ ทำให้เราหลงลืมการมองภาพใหญ่ มีการคิดเหมือนกับ ‘วิสัยทัศน์อุโมงค์ (Tunnel Vision)’ ที่มุ่งโฟกัสไปที่เป้าหมายปลายทาง แต่ละเลยเรื่องพื้นฐาน ปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวไป และแน่นอนว่า พอแก้ด้วยวิธีตื้นๆ ลักษณะนี้ แทนที่จะทำให้ดีขึ้น แต่ทุกอย่างก็ยิ่งแย่ลงกว่าเดิมนั่นเอง
ซึ่งก็เปรียบได้กับเรื่องเล่าสมัยที่อินเดียยังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยครั้งหนึ่งในกรุงเดลี (Delhi) เคยมีการระบาดของงูเห่าจำนวนมาก รัฐบาลมองว่า การระบาดของสัตว์ที่ขึ้นชื่อว่าอสรพิษนั้นอาจทำให้ผู้คนในเมืองไม่ปลอดภัย
ด้วยเหตุนี้ จึงผุดไอเดียแคมเปญให้ชาวเมืองช่วยกันกวาดล้างงูเห่าให้สิ้นซาก ใครก็ตามที่ฆ่างูเห่าแล้วจับตายได้ จะมีการมอบเงินรางวัลเป็นค่าตอบแทนให้ ผลปรากฏว่า ชาวเมืองสนใจแคมเปญนี้เป็นอย่างมาก มีการจับงูเห่ามาส่งมอบให้ทางการเป็นระยะๆ เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในอาชีพเสริมยอดฮิตเลยทีเดียว เพราะยิ่งฆ่าได้มากเท่าไร ก็ยิ่งได้ Active income มากขึ้นเท่านั้น
แม้จะฟังดู Make Sense และ Win-Win Situation กันทั้งสองฝ่าย จำนวนประชากรงูเห่าในเมืองลดลง และไม่ค่อยพบตามท้องถนนก็จริง แต่ลึกๆ แล้ว แคมเปญดังกล่าวกลับทำให้เรื่องราวการระบาดนี้บานปลายขึ้น เนื่องจาก จำนวนงูเห่าที่นักล่านำมาส่งมอบนั้นกลับไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย
ในเวลาต่อมา รัฐบาลไปล่วงรู้ทีหลังว่า ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะมีนักล่าหัวใสเยอะพอสมควรที่เกิดปิ๊งไอเดีย แอบเพาะพันธุ์งูเห่าในบ้านของตัวเอง จากนั้น เมื่อมันโตขึ้น ก็ฆ่าทิ้งแล้วนำมาแลกค่าตอบแทน
พอรู้แบบนี้รัฐบาลก็เลยใช้วิธีดักทางด้วยการยกเลิกแคมเปญดังกล่าว เมื่องูเห่ากลายเป็นสิ่งไร้ค่า ไม่มีราคาแล้ว นักล่าที่แอบเพาะพันธุ์จำนวนมากก็เลยปล่อยงูเห่าคืนสู่ธรรมชาติ หลังจากนั้น ก็กลายเป็นว่า จำนวนงูเห่ามากกว่าก่อนที่พยายามจะแก้ปัญหานี้ซะอีก
Cobra Effect เคยทำใครพังมาอีกบ้าง?
นอกเหนือจากรัฐบาลอังกฤษที่พังไม่เป็นท่าแล้ว ผลจากการแก้ปัญหาแบบงูเห่าก็เคยทำหลายๆ คนพังมานักต่อนักด้วย อย่างเช่น ในเม็กซิโกที่มีการออกนโยบาย ‘Hoy No Circula’ ในการแก้ปัญหามลพิษ โดยก็เป็นการให้คนในประเทศขับรถได้แค่วันคู่กับวันคี่ตามเลขทะเบียนเท่านั้น
ซึ่งก็พลอยทำให้คนแห่กันซื้อรถเพิ่ม ใครที่มีรถเลขทะเบียนคู่ก็ไปซื้ออีกคันที่มีเลขทะเบียนคี่ ส่วนใครที่มีเลขทะเบียนคี่ก็ไปซื้ออีกคันที่มีเลขทะเบียนคู่มา แต่ที่หนักที่สุดคือ รถเหล่านั้นเป็น ‘รถมือสอง’ ที่สร้างมลพิษได้มากกว่ารถมือหนึ่งด้วย
หรืออย่างบริษัทรถแห่งหนึ่งในอินเดียที่เห็นปัญหาว่า รถเป็นสิ่งของราคาแพง เพราะฉะนั้น ก็เลยคิดจะแก้เผ็ดด้วยการเปิดตัวรถทาทา โน (Tata Nano) แล้วโฆษณาว่า ‘เป็นรถที่มีราคาถูกที่สุดในโลก’ ใครๆ ก็เอื้อมถึง และจับจองเป็นเจ้าของได้ง่าย
โดยบริษัทก็ลืมนึกถึงปัจจัยภายนอกอย่างวัฒนธรรมของชาวอินเดียที่มองว่า รถเป็นสิ่งที่แสดงฐานะการเงินของตัวเอง การโฆษณาแบบนี้ทำให้พวกรู้สึกว่า รถทาทา โนไม่คู่ควรกับการลงทุน และการนำมาใช้ เพื่อแสดงถึงฐานะทางสังคมของตน การมองข้ามภาพกว้าง ไม่ดูปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เลยทำให้รถที่มีราคาถูกที่สุดในโลกอย่างทาทา นาโนทำยอดขายไว้ได้ไม่ดีอย่างที่คิดนั่นเอง
รวมไปถึงผู้นำประเทศบางคนก็ด้วย เมื่อหลายปีก่อนเคยเกิดปรากฏการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศจำนวนมาก หากใครยังจำกันได้ ผู้นำท่านนี้ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ ‘ปลายเหตุ’ ด้วยการฉีดน้ำขึ้นไปบนท้องฟ้า
มีนักวิชาการ และคนในประเทศหลายๆ คนออกมาตั้งคำถามถึงประเด็นดังกล่าวว่า ช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่า นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นการทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย สร้างปัญหามากกว่าเดิม และเป็นการใช้ทรัพยากรโดยสิ้นเปลืองต่างหาก
เราสามารถหยุด Cobra Effect ด้วยวิธีไหนได้บ้าง?
หากเราไม่อยากสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมแบบเดียวกับคนอื่นในอดีต จะต้องทำยังไง? ลองไปดู 3 เทคนิคง่ายๆ หยุด Cobra Effect ไม่ให้ย้อนศรกลับมาแว้งกัดเรากัน
1. ถอยออกมาสักก้าว มองจากมุมมอง ‘คนนอก’
เลิกคิดบวก โลกสวยว่า ถ้ามีปัญหา A แก้ด้วย B แล้วทุกอย่างจะจบง่ายๆ เหมือนตอนเด็กที่เราลากเส้นตรงในสมุดวาดรูปทันที อย่ามองว่าถ้าแก้ได้แล้วสิ่งต่างๆ จะกลับมาปกติ เพราะควรคิดถึงผลกระทบที่ตามมา และมิติที่ซับซ้อนเป็นสำคัญด้วย
2. หมั่นท้าทายมุมมอง ความคิด ความเชื่อที่มี
นมเปรี้ยวมีวันหมดอายุฉันท์ใด ความรู้ก็มีวันหมดอายุฉันท์นั้น ลองดูว่า มุมมอง ความคิด ความเชื่อที่มีอยู่หมดอายุแล้วหรือยัง เวลาตัดสินใจ เรามัก Bias คิดเองเออเองรึเปล่า? เอาความเป็นจริงออกมากางแล้วคุยกันตรงๆ แม้เราจะมีประสบการณ์อันโชกโชน แต่บางครั้งหัวหน้าก็ไม่ได้ถูกเสมอ ส่วนลูกน้องก็ไม่ได้แปลว่าจะผิดตลอดเช่นกัน
3. เวลาแก้ปัญหา ให้ใช้คำถามแบบ ‘ปลายเปิด’
ไม่ต้องฟิคแบบข้อสอบปรนัยว่า คำตอบมีแค่ ก. ข. ค. ง. วิธี A หรือ B ขาวหรือดำ ถูกหรือผิด แต่เปลี่ยนเป็นการมองว่า มีผลกระทบอะไรบ้าง สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีไหนได้อีก อาจจะเป็น 2 3 4 หรือมากกว่านั้นก็ได้ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้มองอย่างรอบด้าน อีกทั้ง ก็อาจจะลองขอคอมเมนต์จากลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่อยู่นอกเหนือด้วยก็ได้
‘คนที่เราคิดว่าเรารู้จักเขาดี บางทีเราอาจแค่รู้จักเขาในมุมที่เขาอยากให้เรารู้จักเท่านั้น’ ก็เหมือนกับปัญหา ที่บางทีเราคิดว่า ตัวเองรู้จักดี กำราบได้อยู่หมัดแน่ๆ แต่จริงๆ แล้ว ก็อาจจะทำไม่ได้ดีขนาดนั้น
แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ เคยแก้ปัญหาบางเรื่องแล้วยิ่งแย่ลงไหม เคยเห็น Cobra Effect ซุกซ่อนอยู่ในออฟฟิศหรือบ้านเมืองรึเปล่า? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!
Sources: https://bit.ly/3SOa5ic
https://bit.ly/3SDrfzI
https://bit.ly/3C7KdXT
https://bit.ly/3SM6hhO