“เป็นคนกลางๆ บ้างก็ได้ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบหรอก” อยู่ตรงกลางไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และไม่จำเป็นต้องสำเร็จไปทุกเรื่อง

Share

คุณมีเป้าหมายในชีวิตการทำงานอย่างไร วางหมุดหมายที่อยากจะไปให้ถึงไว้แบบไหน? อยากประสบความสำเร็จในระดับ ‘top’ ของออฟฟิศเลยรึเปล่า อยากเป็น ‘the best performance’ ปะจำทีมที่ใครๆ ก็นับหน้าถือตาไหม หรือคุณอยากเป็น ‘ตัวคุณ’ ที่ตั้งใจทำงานด้วยความสม่ำเสมอในทุกทุกวัน ไม่ต้องเป็นที่หนึ่งไปตลอดก็ได้

ในยุคสมัยที่ใครๆ ต่างก็โหยหาความสำเร็จ คำชื่นชม การโปรโมตตำแหน่ง และฐานเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสิ่งที่หลายคนพึงปรารถนา ยิ่งมีผลงานโดดเด่น ศักยภาพเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนก็ไม่ยากเลยที่คุณจะกลายเป็น ‘ซูเปอร์สตาร์’ ในที่ทำงานได้ แต่.. ถ้ามีอันดับหนึ่งก็หมายความว่าต้องมี 2 3 หรือ 4 ตามมา ‘the best performance’ จึงไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของออฟฟิศ และการเป็นคนกลางๆ ที่ทำงานได้ดีในระดับหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร

ไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากไปให้ถึงจุดสูงสุดของความสามารถตรงนั้น

พอล ไวต์ นักจิตวิทยาจากแคนซัส สหรัฐอเมริกา อธิบายความสามารถกลางๆ ไว้อย่างละมุนลไมว่า ให้คุณลองคิดถึงโครงสร้างการทำงานขององค์กรเป็นเส้นโค้ง คนส่วนใหญ่อยู่ตรงไหนสักแห่งตรงกลางของเส้นโค้งนั้น ขอบโค้งมนที่ว่าจะไม่สามารถเชื่อมร้อยไปจนถึงจุดสิ้นสุดได้เลย หากขาดพนักงานที่มีความปกติธรรมดา ไม่โดดเด่น แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับทีมแต่ประการใด

คล้ายกับทีมฟุตบอลที่ทีมเวิร์กจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าขาดตัวโหม่งและบล็อกที่แข็งแกร่ง ก่อนที่ลูกจะถูกส่งไปถึงผู้เล่นหน้าประตู ลูกฟุตบอลกลมๆ ต้องผ่านผู้เล่นฝั่งตรงข้ามมาหนักหนาขนาดไหน ไวต์เสริมว่า อย่างไรก็ตาม ทีมต้องการทุกคนเพื่อความสำเร็จ และคนทำงานที่มีความสามารถระดับกลางๆ ก็คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้ชิ้นส่วนของความสำเร็จทุกประติดประต่อกันได้อย่างกลมกลืน

แต่ข่าวร้ายก็คือ ไม่ใช่ทุกที่ที่จะมองเห็นคนระดับกลางๆ หลายครั้งที่เราทำหน้าที่ของตัวเองไปตามปกติแต่กลับถูกมองข้าม เพราะพวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่คุณต้องทำมันอยู่แล้ว การขาดเสียงชื่นชมและให้เกียรติกันส่งผลให้พนักงานรู้สึกว่า ตนเองถูกประเมินค่าต่ำเกินไป ออฟฟิศหลายแห่งมีรางวัลให้กับพนักงานที่เป็น ‘the best performance’ ในมุมของผู้บริหารหรือหัวหน้าทีมอาจจะรู้สึกว่า การมี ‘reward’ แบบนี้จะช่วยให้คนทำงานแอคทีฟ อยากตะกายดาวมาเป็นของตัวเองบ้าง

ตรงกันข้ามเลยค่ะ มันกลับทำให้คนที่ไม่เคยไปอยู่ในจุดนั้นรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ทำไม่ได้ เริ่มสงสัยในความสามารถที่ผ่านมาว่า เราทำอะไรผิดพลาดไปรึเปล่า ผลงานเราแย่ตรงไหน ทำไมถึงไม่เคยมีชื่อประดับตรงนั้นบ้าง รูปแบบการชื่นชมยกย่องพนักงานในลักษณะนี้จึงอาจเป็นปัญหามากกว่า เพราะมีเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นซูเปอร์สตาร์ในที่ทำงาน และอีก 50-60 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือกลุ่มคนกลางๆ ที่มีแนวโน้มตัดสินใจจะลาออก

มากไปกว่านั้นก็คือ องค์กรเองอาจไม่เคยตระหนักเลยว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์นี้แหละ คือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไม่น้อยไปกว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์เลย ทั้งที่คนระดับกลางๆ มีความสามารถในการทำงานได้ดีไม่น้อยไปกว่ากัน บางคนมีเหตุผลส่วนตัวในการที่ต้องการรักษาความกลางๆ นี้ไว้ และการอยู่ในจุดนี้ก็ไม่ได้ทำให้องค์กรเสียหายอะไร

ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ปรากฏการณ์ดับเบิลดิสรัปชัน หรือกระทั่งการแข่งขันที่ดุเดือดของนายทุนอันทำให้ความทุกข์ทรมานถูกส่งต่อมาที่ ‘คนทำงาน’ อย่างบ้าคลั่ง การฟีดคอนเทนต์ที่ทำให้คนระดับกลางๆ ร้อนๆ หนาวๆ กลัวว่าจะถูกเขี่ยออกจากสนามการทำงานไปคงเหลือไว้เพียงคนเก่งระดับหัวกะทิเท่านั้น ทั้งหมดนี้คือเรื่อง ‘bullsh*t’ และถึงที่สุดคงไม่อาจยอมรับได้เลยว่า นี่คือแนวคิดที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

คุณจะทำยังไงให้องค์กรเหลือไว้เพียง ‘คนเก่ง’ และทิ้งคนระดับกลางๆ ไว้ข้างหลัง องค์กรแบบไหนที่ก่อร่างจนสำเร็จได้ แล้วค่อยๆ ให้ธรรมชาติคัดสรรคนของตัวเองออกเรื่อยๆ คนกลางๆ ไม่ใช่ปัญหา และไม่การมีแต่คนเก่งก็ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าคุณจะสำเร็จไปได้ตลอด

โลกทุกวันนี้โหดร้ายมากพอแล้ว อย่าปล่อยให้ความบ้าคลั่งของใครมาเฆี่ยนตีคุณอีกเลยค่ะ ทำให้ดีแบบที่คุณตั้งใจไว้ตามเป้าได้ในทุกๆ วันก็เพียงพอแล้ว