ทำไมการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว แต่ธุรกิจสายการบินยังขาดทุนต่อเนื่อง

Share

หากใครชอบติดตามความเป็นไปในโลกธุรกิจและการลงทุน คงเห็นว่าช่วงนี้มีข่าวการเปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2/2565 รวมถึงผลประกอบการครึ่งปีแรกของภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปกติที่แต่ละบริษัทจะต้องแสดงผลประกอบการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน

ผลประกอบการของหลายๆ บริษัทค่อนข้างสดใส มีรายได้มากขึ้น เริ่มฟื้นตัวจากความบอบช้ำจากภัยทางเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังมีธุรกิจบางกลุ่มที่ผลประกอบการยังคงติดลบ และไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวในเร็ววัน นั่นก็คือ ‘ธุรกิจสายการบิน’ หัวเรือใหญ่ด้านการคมนาคมระหว่างประเทศ

จริงๆ แล้ว ธุรกิจสายการบินเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะผู้คนไม่สามารถเดินทางได้ตามใจต้องการในช่วงที่มีการปิดประเทศ ทำให้เครื่องบินของแต่ละสายการบินถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆ และไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัท อีกทั้งยังต้องจ่ายต้นทุนเบื้องหลังมากมาย นับวันจะยิ่งมีแต่ทำให้บริษัทขาดทุนไปเรื่อยๆ

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ธุรกิจสายการบินก็น่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับประโยชน์และสามารถพลิกทำกำไรจากเม็ดเงินของนักท่องเที่ยว แต่ในความเป็นจริง เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการในไตรมาส 2/2565 ของ 3 สายการบินรายใหญ่ที่ประกอบกิจการในไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น

การบินไทย (Thai Airways) สายการบินแห่งชาติ ขาดทุน 3,220 ล้านบาท
แอร์เอเชีย (AirAsia) สายการบินสมญานาม ‘หางแดง’ ขาดทุน 4,724 ล้านบาท
บางกอกแอร์เวย์ส (Bangkok Airways) สายการบินความประทับใจแห่งเอเชีย ขาดทุน 847 ล้านบาท

การที่ธุรกิจสายการบินขาดทุนเป็นมูลค่ามหาศาลเช่นนี้ ช่างสวนทางกับผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมและที่พักอยู่มาก เพราะตามหลักการในอุดมคติ ทั้งสองธุรกิจถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น ทิศทางของผลประกอบการก็ควรจะสอดคล้องกัน แต่ธุรกิจโรงแรมและที่พักกลับพลิกสถานการณ์ทำกำไรได้แล้ว โดยเฉพาะรายใหญ่ของไทยอย่าง ‘เครือเซ็นทารา’ ที่ทำกำไรได้ถึง 992 ล้านบาท

ทำไมธุรกิจสายการบินและธุรกิจโรงแรมที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ถึงมีทิศทางของผลประกอบการต่างกัน? อะไรเป็นปัจจัยแฝงที่อยู่เบื้องหลังกันแน่? เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

สาเหตุที่ทำให้ ‘ธุรกิจสายการบิน’ ยังไม่สามารถพลิกทำกำไรได้

“ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก”

ไม่มีสุภาษิตใดที่จะเหมาะสมไปกับสถานการณ์ของธุรกิจสายการบินไปมากกว่าสุภาษิตนี้อีกแล้ว เพราะหลังจากที่มรสุมจากโควิด-19 พัดผ่านไปให้พอชุ่มชื้นหัวใจได้ไม่นาน วิกฤตการณ์ใหญ่ของโลกอย่าง ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ และ ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ก็เป็นมรสุมลูกใหม่ที่พัดผ่านเข้ามา ทำให้ผู้ประกอบการต้องตกที่นั่งลำบากอีกครั้ง

แล้วผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงบาดแผลจากโควิด-19 ที่กลายเป็นสาเหตุทำให้ธุรกิจสายการบินยังไม่สามารถพลิกทำกำไรได้มีอะไรบ้าง?

1. ต้นทุนของ ‘น้ำมัน’ เชื้อเพลิงที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

ต้องยอมรับว่า ประเด็นราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นสิ่งที่ทำให้เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าจริงๆ ในมุมของคนธรรมดาว่าแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้หนักแล้ว แต่สำหรับภาคธุรกิจหนักกว่าหลายเท่า โดยปกติราคาน้ำมันเครื่องบินจะอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ตอนนี้พุ่งเป็น 170 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถือเป็นต้นทุนส่วนสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับกันอีกเท่าตัว

2. ค่าเงินบาทอ่อนตัวสุดในรอบ 16 ปี

การที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวจนมีมูลค่าแตะที่ 35-36 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการดำเนินนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อต้านอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ ‘เฟด’ (Fed) ยิ่งเฟดปรับอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นเท่าไร ค่าเงินดอลลาร์ก็จะยิ่งแข็งค่าขึ้นเท่านั้น อีกทั้งในช่วงที่เฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่บ่อยครั้ง นโยบายการเงินของไทยไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยให้สัมพันธ์ตาม ทำให้ช่องว่างระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินบาทไทยต่างกันมากขึ้น

เมื่อผู้ประกอบการต้องใช้เงินบาทไทยจำนวนมากขึ้นในการแปลงให้เป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงในการทำธุรกิจ มิหนำซ้ำ ราคาน้ำมันยังสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เราคงไม่ต้องบอกว่า ต้นทุนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องแบกรับคิดเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเท่าใด

3. นักท่องเที่ยวจีน (ที่ยังออกจากจีนไม่ได้) = ขุมทรัพย์การท่องเที่ยวไทย

ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจะเห็น ‘ทัวร์จีน’ หรือนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในไทยกันบ่อยๆ ซึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท แต่ด้วยการบังคับใช้นโยบายซีโร่ โควิด (Zero COVID) อย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีน ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ เม็ดเงินที่ธุรกิจสายการบินได้รับน้อยลง และไม่เพียงพอกับต้นทุนที่เสียไป

‘ธุรกิจสายการบิน’ อาจจะเป็นกลุ่มธุรกิจสุดท้ายที่พลิกทำกำไรได้

ถึงแม้ว่า การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวและมีเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ แต่จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ระดับ 53 สะท้อนว่า การท่องเที่ยวของไทยดีขึ้นจากไตรมาสแรก แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากเมื่อเทียบกับปี 2562

ดังนั้น กว่าที่การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มธุรกิจสายการบินก็ต้องอยู่ในสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันต่อไป เพราะนอกจากวิกฤตการณ์ใหญ่ของโลกที่ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจสูงขึ้นยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายแล้ว การขึ้นบินแต่ละครั้งก็ไม่ได้สร้างรายได้ที่ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดอีกด้วย

ซึ่งปัจจัยที่เรากล่าวมานั้น เป็นเพียงปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของกลุ่มธุรกิจสายการบิน แต่การบาดเจ็บของผู้ประกอบการแต่ละรายย่อมไม่เท่ากันอยู่แล้ว ด้วยปัจจัยภายในบริษัทที่ต่างกัน เช่น การบริหารงาน การวางกลยุทธ์ให้ขาดทุนน้อยที่สุด การรับมือกับวิกฤตและสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น

อย่างการบินไทยเองก็กำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่เคยได้รับคำสั่งศาลให้อยู่สถานะล้มละลายมาก่อน ดังนั้น สถานการณ์ของการบินไทยในตอนนี้ ไม่ใช่แค่การรับมือกับภาวะขาดทุนจากรายได้ที่น้อยลงและต้นทุนที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ต้องรับมือกับการชำระหนี้ของบริษัทด้วย ทำให้การบินไทยดูจะเจ็บหนักกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ

นอกจากที่สายการบินแต่ละแห่งจะปรับขึ้นราคาตั๋วเครื่องบินเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อผลักภาระต้นทุนบางส่วนให้ลูกค้ารับผิดชอบแล้ว เราอาจจะได้เห็นการเดินเกมกลยุทธ์ เพื่อเอาชนะใจลูกค้ามากขึ้น อย่างการออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ การจับมือกับพันธมิตรที่เป็นธุรกิจโรงแรม เพื่อออกโปรโมชันสุดคุ้ม หรือโฟกัสที่ธุรกิจประเภทอื่นแทนอย่างที่บางรายจำหน่ายพายและปาท่องโก๋จนโด่งดัง

แล้วทุกคนคิดว่า อนาคตของกลุ่มธุรกิจสายการบินจะเป็นอย่างไรต่อไป จะยังขาดทุนต่อเนื่อง หรือพลิกทำกำไรได้ในเร็วๆ นี้?

Sources: https://bit.ly/3CmQ6lO

https://bit.ly/3POgkkw

https://bit.ly/3wnTPMd

https://bit.ly/3T9fu4E

https://bit.ly/3AhAygN

https://bit.ly/3wlP45H