ธรรมชาติต้องมาก่อน! รู้จัก Nature Positive Tourism การท่องเที่ยว ‘สีเขียว’ เชิงรุก

Share

ในยุคหลังโควิด-19 ทั่วโลกทยอยยุติมาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ ทำให้การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่การท่องเที่ยวยุคใหม่หลังโรคระบาดจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council หรือ W.T.T.C.) นำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ ซึ่งตอบโจทย์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยใช้ชื่อว่า ‘Nature Positive Tourism’

การท่องเที่ยวเชิงบวกต่อธรรมชาติ หรือ ‘Nature Positive Tourism’ คืออะไร Future Trends จะพาไปทำความรู้จักกัน

ที่มาของคำว่า Nature Positive Tourism

Nature Positive Tourism คือศัพท์ใหม่ที่เพิ่งถูกบัญญัติขึ้นโดย W.T.T.C. องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านธุรกิจการท่องเที่ยวในการประชุมว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งสหประชาชาติ โดยใช้อธิบายถึงการเดินทางท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ไม่เพียงหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย

คำๆ นี้ปรากฏอยู่ในรายงานของ W.T.T.C ซึ่งนำเสนอ ‘โรดแมป’ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ก่อนขยับเป้าหมายไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ ‘ศูนย์’ ในอีก 20 ปีถัดไป (2050)

กำหนดมาตรฐานใหม่ให้การท่องเที่ยวโลก

จูเลีย ซิมป์สัน (Julia Simpson) ประธาน และซีอีโอของ W.T.T.C. บอกว่า วิถี Nature Positive Tourism จะกลายเป็น “คำแนะนำในทางปฏิบัติของอุตสาหกรรม (ท่องเที่ยวโลก)” เพื่อปกป้องธรรมชาติ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ระหว่างที่ทุกฝ่ายยังคงรอให้มีวิธีแก้ไขที่ทรงอานุภาพมากกว่า มาทำให้การเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเดินทางด้วยเครื่องบิน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้หมดไป

ประธาน W.T.T.C. ระบุว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทางท่องเที่ยวทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการเข้าไปในธรรมชาติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชายหาด ป่าชายเลน ไปเล่นสกี หรือเดินป่าปีนเขา ก่อนหน้านี้ คนมักพูดถึงเรื่องการทิ้ง ‘คาร์บอนฟุตปรินต์’ ให้น้อยที่สุด แต่ปัจจุบัน เธอมองว่า นอกจากไม่ทิ้งคาร์บอนฟุตปรินต์แล้ว ยังต้องสร้างประโยชน์ให้ธรรมชาติเป็นมุมบวกเพิ่มเข้าไปด้วย

เราจะ Nature Positive Tourism ได้อย่างไร?

การท่องเที่ยวเชิงบวกต่อธรรมชาติที่ว่า สามารถกระทำได้ตั้งแต่ระดับบุคคลทั่วไป จนถึงผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก และผู้นำชุมชน

จูเลีย ซิมป์สัน ยกตัวอย่างวิถี Nature Positive Tourism ในระดับบุคคลว่า นักท่องเที่ยวนอกจากจะเดินทางไปพักผ่อนและสัมผัสธรรมชาติตามสถานที่ต่างๆ แล้ว ยังสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับการฟื้นฟูธรรมชาติ ด้วยการช่วยเก็บขยะตามชายหาด ลดการเปลี่ยนผ้าปูที่นอนและผ้าเช็ดตัวของโรงแรมทุกวัน ตลอดจนส่งข้อความแจ้งให้โรงแรมรับทราบ หากที่พักมีการบริหารจัดการที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในมุมผู้ประกอบการและโรงแรมต่างๆ สามารถช่วยปกป้องธรรมชาติเชิงรุก ด้วยการเป็นตัวกลางเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคกับธรรมชาติรอบตัว เช่น การเสิร์ฟอาหารที่มาจากวัตถุดิบในพื้นที่ สนับสนุนการปลูกป่า และจ้างพนักงานจากคนในชุมชนท้องถิ่น

ประธาน W.T.T.C. ยกตัวอย่างวิถี Nature Positive Tourism ในโคลอมเบีย ซึ่งพยายามนำการท่องเที่ยวมาช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดและความรุนแรง ด้วยการจ้างอดีตนักรบกองโจรกลุ่ม FARC เป็นไกด์นำเที่ยว

ส่วนที่แอฟริกาใต้ ซึ่งมีปัญหาการล่าแรด องค์กรท้องถิ่นทั้งฝ่ายรัฐบาลและภาคเอกชน พยายามชักจูงให้ชาวบ้านหันมาทำงานด้านการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้พวกเขามากกว่าการเป็นนายพราน ทำให้ชาวบ้านลดการล่าสัตว์ลง

การลงทุนของภาครัฐและเอกชนในการปลูกป่าและฟื้นฟูธรรมชาติที่ถูกทำลายจากโครงการพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง ก็เป็นอีกวิถีที่เรียกว่า Nature Positive Tourism โดยจูเลีย ซิมป์สัน ยกตัวอย่างรีสอร์ทแห่งหนึ่งบนเกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย พยายามฟื้นฟูแนวปะการังและปกป้องพันธุ์ปลา ด้วยการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ สร้างแนวปะการังเทียมขึ้นมาเป็นแม่แบบ

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ หนึ่งในสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมมาจากน้ำมือมนุษย์ ดังนั้น ถ้าอยากโลกใบนี้น่าอยู่ และอยู่กับเราไปนานๆ วิถีการท่องเที่ยวแบบ Nature Positive Tourism อาจเป็นคำตอบในยุคที่ทั่วโลกกลับมาเปิดประเทศไปมาหาสู่กันแบบเต็มตัวอีกครั้ง

Source: https://nyti.ms/3VHLCwn