ยึดติดแต่แบบเดิมๆ จนตัดสินใจพลาด 5 วิธีคิดช่วยตัดสินใจให้ดีแบบ ‘นักวิทยาศาสตร์’

Share

ในโลกของการทำงาน คนที่เป็นหัวหน้านั้นจะต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทรัพยากร การมอบหมาย กระจายงาน และอื่นๆ อีกเพียบ ซึ่งก็นับว่า เป็นหน้าที่สำคัญมากสำหรับองค์กร แต่ปัญหาที่สามารถพบได้บ่อย และนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดคือ ‘การยึดติดอยู่กับแนวคิด ชุดความรู้ ประสบการณ์ หรือเรียกรวมๆ ว่า ‘สมมติฐาน’ แบบเดิมๆ’ โดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างมีวิจารณญาณ

เมื่อถูกถามว่า ทำไมถึงไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนว่าสมมติฐานดังกล่าวถูกต้องหรือไม่? คำตอบที่ได้ก็มักจะกลับมาทำนองว่า “ก็ทำแบบนี้แล้วมันได้ผลมาตลอด” ที่เป็นคำตอบคล้ายกำปั้นทุบดิน นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่าย ดังนั้น การตรวจสอบสมมติฐานของตนเอง ก่อนจะนำไปใช้ในตัดสินใจเรื่องใดจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และถึงจะเป็นลักษณะนิสัย และวิธีคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญในองค์กรควรจะนำมาปรับใช้เช่นกัน

วิธีคิดแบบนักวิทยาศาสตร์จะโฟกัสที่การตั้งคำถาม และตรวจสอบสมมติฐานไปเรื่อยๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล สามารถวัด หรือตรวจสอบผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน หากใช้แนวทางแบบนี้ เราก็จะไม่ตกหลุมกับดักที่เรียกว่า ‘ก็มันเคยได้ผล’ อีกต่อไป! และทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้นนั่นเอง

แล้ววิธีคิดแบบนักวิทยาศาสตร์มีหลักการอะไรบ้าง ถ้าอยากทำ ต้องเริ่มจากตรงไหน? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

จริงๆ แล้ว นักวิทยาศาสตร์มีรายละเอียดด้านหลักการ และวิธีคิดมากมาย แต่โดยหลักๆ แล้ว ก็มีอยู่ 5 ขั้นตอนที่คนทั่วไปสามารถนำไปปรับใช้โดยที่ไม่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย หรืออาจเรียกได้ว่า ‘เป็นวิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์’ ก็ว่าได้

1. ขี้สงสัย ตั้งคำถามอยู่ตลอด

เพื่อป้องกันไม่ให้สมมติฐานแบบเดิมที่มีอยู่กลายเป็นอคติโดยไม่รู้ตัว ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามกับสมมติฐานนั้นๆ อยู่เสมอ อย่างเช่น แนวคิดแบบนี้จะได้ผลจริงหรือ หากมันเคยใช้ได้ในอดีต แล้วปัจจุบันจะยังใช้ได้ผลอยู่อีกหรือเปล่า? โดยการตั้งคำถามแบบนี้จะช่วยพาเราไปสู่การหาคำตอบที่จะกลายเป็นการตรวจสอบสมมติฐานไปในตัว เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งปรัชญา และนวัตกรรมที่สำคัญของโลกก็ล้วนเริ่มต้นจากการตั้งคำถามด้วยกันทั้งสิ้น

2. หมั่นตรวจสอบความผิดปกติอยู่เสมอ

ในทางวิทยาศาสตร์ การตรวจสอบความผิดปกติเป็นเครื่องมือที่ใช้หาว่า สมมติฐานนั้นน่าสงสัย หรือมีจุดอ่อนหรือไม่? ความผิดปกติที่ว่านี้ก็คือ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่คาดคิด’ ดูไม่ถูกต้อง หรือผิดแปลกไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการที่สิ่งนั้นไม่สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่เราต้องการ การตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็สามารถนำไปสู่ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ที่สำคัญในการทำงาน หรือประกอบธุรกิจได้นั่นเอง

3. ตั้งสมมติฐานที่สามารถทดสอบได้อย่างชัดเจน

เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบสมมติฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมมติฐานที่ตั้งขึ้นมาจะต้องทดสอบ ยืนยัน หรือพิสูจน์หักล้างในเชิงปริมาณได้ กล่าวคือ สามารถวัดผลได้นั่นเอง การมีสมมติฐานที่ทดสอบได้อย่างชัดเจนนี้จะทำให้เราตรวจหาข้อผิดพลาด และหาวิธิแก้ไขได้ง่ายขึ้น ในณะเดียวกัน เมื่อเราตรวจสอบ แก้ไขแบบนี้ไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดแล้ว เราก็จะได้สมมติฐานที่แข็งแรงที่สุดมาใช้ในการตัดสินใจ

4. หาหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่น

ทุกสมมติฐานที่จะนำไปสรุปเป็นความรู้ หรือใช้ตัดสินใจเรื่องไหน จะต้องมีหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่นมากพอ ‘ทำไมถึงคิดว่ามันถูกต้อง ทำไมถึงคิดว่ามันจะได้ผล ทำไมถึงคิดว่านี่คือคำตอบที่ดีที่สุด?’ เพราะคำถามเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่เราควรตอบให้ได้ การตัดสินใจแต่ละครั้งของผู้นำองค์กรจะต้องเกิดจากการหาข้อสรุปโดยมีเหตุผลที่ ‘หนักแน่น’ ไม่ใช่แค่ตัดสินจากประสบการณ์ ความรู้สึก หรือการคาดเดาเพียงอย่างเดียว

5. อย่าลืมเช็กความเป็นเหตุเป็นผล

ในความเป็นจริง การพยายามหาเหตุผลมาเป็นหลักฐานสนับสนุนก็ยังคงสิ่งที่ไม่เพียงพอจะนำไปสู่สมมติฐานที่แข็งแรงได้ เหตุผลสนับสนุน หรือหลักฐานเหล่าก็จำเป็นที่ต้องตรวจสอบเช่นกันว่า เป็นเหตุเป็นผลกันไหม นำไปสู่ข้อสรุปอย่างที่ได้มาจริงๆ หรือเปล่า? เนื่องจาก หลายๆ ครั้ง เราก็สนใจแค่เหตุผลที่เป็นไปในทางเดียวกับสมมติฐานของเราเท่านั้น แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า มันเชื่อมโยงกันจริงหรือไม่? ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้นั่นเอง

ในอดีต มีคนกลุ่มหนึ่งที่ฝึกฝนวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จนสามารถคิดค้นการรักษาทางการแพทย์ที่สำคัญให้กับเรา ค้นพบวิธีการทำอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์อย่างมาก ค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และอื่นๆ อีกเพียบ โดยสิ่งเหล่านี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับโลกธุรกิจ และการทำงานอยู่ไม่น้อย ดังนั้น การนำวิธีของคนเหล่านี้มาปรับใช้ก็ย่อมต้องมีประโยชน์ในการทำงาน และทำธุรกิจของเราได้อย่างแน่นอน!

Source: https://bit.ly/3PHWkkj