รับปากทั้งที่ไม่ว่าง กลัวคนอื่นรู้สึกไม่ดี 4 วิธีปฏิเสธ say ‘NO’ ยังไงให้โปร ไม่ทำร้ายใจกัน

Share

การถูกขอ หรือไหว้วานให้ช่วยทำงานเพิ่มเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ออฟฟิศแทบทุกคนในโลกของการทำงาน ตามปกติแล้ว หากเราสะดวกจริงๆ และไม่ติดขัดอะไร เราก็มีแนวโน้มที่จะตอบตกลงอย่างแน่นอน ว่ากันตามตรง แม้การปฏิเสธจะเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆ แล้ว มันกลับเป็นเรื่องยากต่างหาก เพราะการปฏิเสธนั้นไม่ใช่นิสัยพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ แถมลึกๆ แล้ว ทุกคนล้วนอยากได้รับการยอมรับจากกลุ่ม หรือส่วนรวมโดยธรรมชาติ

ซึ่งด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างจึงทำให้บางครั้งแม้จะอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่สะดวกช่วยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีงานเยอะอยู่แล้ว หรืออะไรก็ตาม แต่เราก็มักจะปฏิเสธไม่ค่อยได้ อีกทั้ง ก็ยังรู้อยู่แก่ใจด้วยว่า การรับงานมาในมือที่เยอะก็ทำให้เกิดความเครียดได้

แล้วเราจะปฏิเสธให้เวิร์ก ไม่ดูแย่ ไม่หักหาญใจคนอื่น และไม่ถูกมองว่า ‘เป็นคนที่เข้ากับคนอื่นไม่ได้’ หรือ ‘ทำงานด้วยยาก’ ได้ยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

1. ลองประเมินคำขอก่อน

ก่อนจะพูดปฏิเสธไป ให้ประเมินก่อนว่า งานที่ถูกขอให้ช่วยนั้นน่าสนใจอย่างไร และมีโอกาสอะไรที่ได้จากการทำงานนี้บ้าง? หลังจากนั้น เพื่อให้แน่ใจว่า เราไม่สะดวกที่จะตอบรับคำขอจริงๆ ให้เรานึกถึงงานที่กำลังรับผิดชอบอยู่ ลองดู Capacity ว่า ถ้ารับเข้ามา ลำดับความสำคัญงานเดิมจะเปลี่ยนไปไหม มีคนที่สามารถช่วยเราได้รึเปล่า? โดยก็ควรให้ความสำคัญกับงานที่เรารับผิดชอบอยู่แล้วเป็นหลัก

2. อธิบายเหตุผลตรงๆ

หากชัวร์แล้วว่า ไม่สามารถตอบรับงานที่ถุกขอให้ช่วยได้ ต้องปฏิเสธกลับ อย่างแรกที่ควรทำคือ ‘ให้พยายามอธิบายเหตุผลตรงๆ’ บอกความจริงไปว่า เพราะอะไรเพื่อโน้มน้าวใจอีกฝ่ายให้เชื่อ และเข้าใจว่า เราไม่สะดวกจริงๆ พยายามชี้ให้เห็นว่า ถ้าเรารับงานนี้แล้ว จะมีผลกระทบกับทั้งภาระงานที่รับผิดชอบอยู่ยังไง? ทำให้อีกฝ่ายเข้าใจตรงกัน ลดอคติที่มีต่อตัวเราลงไปนั่นเอง

3. เสนอทางเลือกอื่นให้

เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดี สิ่งสำคัญเลยคือ ‘เราต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจอีกฝ่าย’ ด้วย เพราะเมื่อเราปฏิเสธงานนี้ไป ภาระก็อาจจะตกไปอยู่กับคนที่มาขอให้ช่วยก็ได้ ดังนั้น การเสนอทางเลือกอื่น อย่างการถามว่า มีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้ช่วยแทนไหม? หรืออาจจะลองเสนอตัวเป็นผู้คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานนั้นๆ เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ และยอมรับคำปฏิเสธของเราง่ายขึ้นก็ได้

4. อย่าใจร้ายเกิน อย่าใจดีเกิน

การปฏิเสธที่ดีจะต้องไม่ทำร้ายความรู้สึกของใคร ฉะนั้น เราจึงไม่ควรทำสีหน้าหงุดหงิด หรือแสดงความไม่พอใจออกมาให้อีกฝ่ายเห็นว่า เรารู้สึกไม่ดีกับคำไหว้วานของพวกเขา แต่ขณะเดียวกัน ก็อย่าอะลุ่มอล่วยเกินไป เมื่อปฏิเสธแล้ว ก็ต้องใช้เหตุผลที่หนักแน่น ยืนยันให้ ‘เด็ดขาด’ และอธิบายให้เข้าใจ เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเกิดความหวังแบบผิดๆ จนตื๊อไม่เลิก และทำให้ยอมถอยง่ายขึ้น โดยไม่ทิ้งความรู้สึกแย่ๆ เอาไว้

วิธีเหล่านี้เป็นเพียงตัวช่วยให้สามารถพูดปฏิเสธได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงเราอาจจะทำตามวิธีด้านบนหมดแล้ว แต่ถ้าเกิดว่า อีกฝ่ายยังรู้สึกไม่พอใจอีก ก็ควรปรับความคาดหวังใหม่ ให้คิดว่า นี่คือการพยายามประนีประนอมระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายมากกว่า ไม่ใช่การเลือกว่า จะตกลงหรือปฏิเสธอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนก็คงหนีไม่พ้นความจริงที่ว่า ‘เราห้ามความคิดของคนอื่นไม่ได้ และทำให้ทุกคนบนโลกพอใจไม่ได้’ นั่นเอง

Source: https://bit.ly/3b5zZhr