LOADING

Type to search

“กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิมได้ไหม ไม่เป็นหัวหน้าแล้วได้รึเปล่า?” Managerial Blues คำสารภาพความเศร้าในวันที่การเลื่อนขั้นไม่ดีต่อใจ

“กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิมได้ไหม ไม่เป็นหัวหน้าแล้วได้รึเปล่า?” Managerial Blues คำสารภาพความเศร้าในวันที่การเลื่อนขั้นไม่ดีต่อใจ
Share

คงจะไม่เป็นการพูดเกินจริงไปสักเท่าไร หากจะบอกว่า การได้เติบโต ก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของมนุษย์ออฟฟิศหลายๆ คน เพราะสิ่งนี้ไม่ได้หมายถึงการทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการได้รับการยอมรับจากบริษัท เจ้านายสุดที่รัก และเพื่อนร่วมงานด้วย

ตาม Common Sense แล้ว เรามักจะเข้าใจกันว่า การได้โปรโมตเลื่อนขั้น ถูกสนับสนุนให้ขึ้นไปเป็นหัวหน้าเป็นเรื่องที่ดี เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝัน แต่ว่ากันตามตรง นี่อาจเป็นการ stereotype ใช้ชุดความเชื่อเดียวเหมารวมว่า ทุกคนจะต้องอยากได้ อยากเป็นแบบเดียวกันเกินไปหน่อย

ในความเป็นจริง อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากก้าวไปสู่จุดนั้นเสมอ ถ้าใครกำลังอยู่ในจุดที่ว่าหรือเคยผ่านมาแล้ว จะรู้เป็นอย่างดีว่า ถึงแม้จะเป็นที่นับหน้าถือตาจากบรรดาลูกน้อง และมีฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น แต่อะไรแบบนี้ก็ย่อมต้อง ‘แลก’ กับต้นทุนบางอย่างในชีวิตเช่นกัน

บทบาทที่แปรเปลี่ยน สเกลที่ไม่คุ้นชิน สิ่งรอบตัวที่กลายเป็นเรื่องใหม่ มีหลายชีวิตให้ต้องดูแล ความคาดหวังจากคนรอบข้างที่มากขึ้น ไหนจะบททดสอบ ความท้าทายอีกเพียบที่รอให้เผชิญ สารพัดเรื่องราวที่ถาโถมทำให้บางคนรู้สึกว่า ไม่เก่งพอ ไม่มีความสามารถพอ เนื้องานตำแหน่งเก่าเป็นงานที่มีคุณค่ามากกว่าเนื้องานตำแหน่งใหม่

โดยในทางจิตวิทยา เราเรียกความซัฟเฟอร์ ความรู้สึกไร้ค่าทำนองนี้ว่า ‘ภาวะความเศร้าหลังการได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้า (Managerial Blues)’

มิเชล แอนเทบี (Michel Anteby) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) ได้พูดถึงประเด็นนี้ในงานวิจัยเรื่อง Unpacking the Managerial Blues: How Expectations Formed in the Past Carry into New Jobs ไว้ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างหัวหน้าที่ทำงานในสถานีรถไฟใต้ดินของกรุงปารีส ฝรั่งเศส จำนวน 58 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอดีตพนักงานขับรถไฟใต้ดิน และกลุ่มอดีตพนักงานประจำสถานี (ส่วนใหญ่เป็นพนักงานขายตั๋ว)

ผลปรากฏว่า มีเพียงกลุ่มอดีตพนักงานขับรถไฟใต้ดินเท่านั้นที่ประสบกับภาวะ Managerial Blues ทั้งนี้ ก็ตั้งอยู่บนเหตุผลที่ว่า งานขับรถในอดีตทำให้พวกเขาได้เผชิญกับสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย (Life-And-Death Situations) เป็นประจำ ทุกการกระทำของตนนั้นส่งผลโดยตรงต่อชีวิตผู้โดยสารนับสิบ นับร้อยตลอด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะขยับไปทางไหน พวกเขาเลยต้องเอาใจใส่ ระมัดระวังสิ่งต่างๆ ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดยิ่งขึ้น

ในทางกลับกัน ถึงแม้งานตำแหน่งใหม่จะดูเป็นความก้าวหน้าอันทรงเกียรติ มีความหมาย เป็นที่นับหน้าถือตาจากบรรดาลูกน้อง และฐานเงินเดือนที่สูงในระดับหนึ่ง แต่มันก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบ ความเป็นมืออาชีพ ความท้าทายในการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่มากกว่าเดิมด้วย

โดยมากกว่า 2 ใน 3 ของพนักงานกลุ่มดังกล่าวบอกว่า แม้การได้โปรโมตเลื่อนขั้นจะเป็นเส้นทางที่ดีของชีวิต แต่พวกเขาก็ยังเลือกจะเรียกร้อง คาดหวังจะเปลี่ยนตำแหน่งในอนาคตอยู่ดี เพราะรู้สึกว่า มันไม่ค่อยมีความสำคัญ และคุณค่าที่ลึกซึ้งสักเท่าไร ซึ่งหากเทียบกับงานตำแหน่งเก่าที่อาจไม่ได้ใหญ่มาก มันกลับทำให้พวกเขามีความสำคัญ และคุณค่าที่ลึกซึ้งกว่า เพราะด้วยเนื้องานนั้นทำให้พวกเขาสร้างความแตกต่าง และสิ่งที่สำคัญมากพอสมควร

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มอดีตพนักงานประจำสถานีที่ไม่เคยเผชิญกับสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ที่ผ่านมา แทบไม่ค่อยได้ทำงานคนเดียว ถูกคาดหวัง และรับผิดชอบหน้าเช่นนี้กลับมองว่า การได้โปรโมตเลื่อนขั้นนั้นเป็นเรื่องที่ดี เป็นจุดที่พวกเขาอยากก้าวไปให้ถึง และการมีความรับผิดชอบมากขึ้นจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถให้ดีกว่าเดิมได้

มีบทความหนึ่งจากเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ได้ขยายความเกี่ยวกับภาวะ Managerial Blues เพิ่มเติมไว้อย่างน่าสนใจว่า แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ภาวะที่พบได้แค่กลุ่มอดีตพนักงานขับรถไฟใต้ดินแบบที่งานวิจัยของมิเชลบอกไว้ แต่จากผลการศึกษาอื่นชี้ให้เห็นว่า ภาวะ Managerial Blues สามารถพบในอาชีพอื่นได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หมอบางคนในนอร์เวย์ และสหราชอาณาจักรที่รู้สึกว่า หน้าที่การบริหารทำให้พวกเขาพอใจในตัวเอง ‘น้อยกว่า’ การเป็นแนวหน้า ลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยจริง

ซึ่งจากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ประสบการณ์ที่ต่างกันออกไปก็ล้วนแต่ส่งผลต่อความคิด ความเชื่อ ทัศนคติที่มีในปัจจุบัน และอนาคตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เหมือนอย่างที่กลุ่มอดีตพนักงานขับรถไฟใต้ดินรู้สึกถูกลดทอนความสำคัญ คุณค่าในตัวเองลง ท้อแท้ในงานตำแหน่งใหม่

เอาเข้าจริงแล้ว ความรู้สึกเปลี่ยนผ่านเป็นสิ่งที่เราต้องพบเจอทุกช่วงชีวิต ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่ง First Jobber ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรหากวันหนึ่งคุณจะคิดถึงอดีต โหยหาความหลังในวันวาน อยากกลับไปเป็นเด็กที่เจ็บสุดก็แค่หกล้ม

บนโลกใบนี้เคยมีใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน’ การเลื่อนขั้นก็เช่นกัน ก่อนที่จะเลือกก้าวอะไรไป ให้คิดทบทวนดีๆ และถ้าเลือกแล้ว ก็จงเชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ อย่างที่เคยบอกไปในบทความชิ้นก่อนๆ ว่า “Allow yourself to grow and change. Your future self is waiting.” อนุญาตให้ตัวเองได้เติบโต และเปลี่ยนแปลง อนาคตที่สดใสกำลังรอคุณอยู่!

Sources: https://bit.ly/3MGq5iT

https://bit.ly/3Hf2SDf

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like