หลายคนอาจสงสัย ‘Y2K’ คืออะไร ทำไมกลายเป็นเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่พูดถึงกันมากมายในช่วงนี้ ทั้งแฟชั่นและแกดเจ็ตย้อนยุคที่กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล และชีวิตจริง บทความนี้ของ Future Trends จะพาไปย้อนอดีตเล่าที่มาที่ไปของคำว่า Y2K ให้เห็นภาพและเข้าใจกันมากขึ้น
วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ก่อนเวลาเที่ยงคืนเล็กน้อย
จอห์น คอสคิเนน (John Koskinen) กำลังเดินทางมุ่งหน้าไปยังนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเครื่องบินพร้อมนักข่าวจำนวนหนึ่ง บนเครื่องมีผู้โดยสารคนอื่นๆ ค่อนข้างบางตา หรือจะเรียกว่าไม่มีคนอื่นเลยก็ได้ ถ้านับตามโซนเวลาของอังกฤษแล้ว คอสคิเนนและนักข่าวจะนับถอยหลังสู่สหัสวรรษใหม่ จากปี 1999 มาเป็นปี 2000 ระหว่างเครื่องบินกำลังอยู่กลางอากาศพอดี
เขาวางแผนให้มันเป็นแบบนั้น
ด้วยหน้าที่ของการเป็นหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาของประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) ประเด็น ‘Y2K’ (Year 2000) เขาเลือกที่จะบินผ่านช่วงเวลาที่เข็มนาฬิกาตีเที่ยงคืนระหว่างอยู่กลางอากาศ เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สหัสวรรษใหม่นั้นจะไม่เกิดปัญหาอะไรอย่างที่หลายคนคิด
คำว่า ‘Y2K’ กลายมาเป็นกระแสอีกครั้งบนโลกออนไลน์ในปัจจุบัน แต่หลายคนอาจคิดว่า มันเป็นเพียงคำบ่งบอกยุคสมัยช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสหัสวรรษใหม่ เหมือนยุค 70’s หรือ 80’s เท่านั้น แต่สำหรับคนที่โตพอจะจำความได้ (ตอนนี้อายุก็ประมาณ 30-35 ปีขึ้นไป) คำว่า ‘Y2K’ ในความทรงจำตอนนั้นเป็นเรื่องที่ ‘น่ากลัว’ และ ‘น่ากังวล’ มาก
สำนักข่าวมากมายออกมาตีโหมประโคมประเด็นว่า เมื่อนาฬิกาเปลี่ยนจาก 23:59 ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 1999 ไปเป็น 00:00 ในวันที่ 1 มกราคม 2000 ทุกอย่างในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบคอมพิวเตอร์บนโลกนี้จะเกิดความสับสน ทำงานผิดพลาด เพราะรูปแบบการแสดง วัน/เดือน/ปี ของคอมพิวเตอร์ แบบ DD/MM/YY ตัว YY สุดท้ายจะเปลี่ยนจาก ’99’ ไปเป็น ’00’ ซึ่งคอมพิวเตอร์จะเข้าใจว่า เราย้อนเวลากลับไปยังปี ‘1900’ ไม่ใช่ขึ้นปี ‘2000’ นั่นเอง (เลขสองตัวหลังของปี 1900 กับ 2000 คือ ’00’ เหมือนกัน)
เมื่อคอมพิวเตอร์สับสน ระบบการบิน การสั่งการ ระบบการเงิน ธนาคาร การคำนวณดอกเบี้ย ระบบรักษาความปลอดภัยที่ใช้คอมพิวเตอร์ ระบบสื่อสารควบคุม วิทยุ โทรทัศน์ โครงสร้างระบบสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า ถึงขั้นบอกว่า ระบบขีปนาวุธนิวเคลียร์จะสับสนจนกลายเป็นสงครามวันสิ้นโลกเลยก็ได้
ช่วงสิ้นปี 1999 ประชาชนเริ่มแห่ไปซื้ออาหารแห้ง อาหารกระป๋อง กักตุนน้ำดื่ม อาหารแช่แข็ง ของใช้อุปโภคบริโภคทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ หลายคนถึงขั้นไปซื้อปืนและอาวุธมาไว้ป้องกันตัวเองและครอบครัว เพราะกลัวเกิดจลาจล ทุบตี เข่นฆ่า ขโมยแย่งชิงของกันในวันที่ทุกอย่างเกินการควบคุมของกฎหมาย
แน่นอนว่า ถ้ามองจากตรงนี้มันดูเป็นเรื่องตลกที่เลยเถิด เพราะโลกผ่านเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ได้อย่างราบรื่น ไม่มีสงคราม ไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ เครื่องบินไม่ได้ตกร่วงหล่นจากท้องฟ้า และคอสคิเนนก็มาถึงนิวยอร์กอย่างปลอดภัย
ปัญหานี้มันเกิดขึ้นเพราะ ‘ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น’
คอมพิวเตอร์เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่มีคนเข้าใจอย่างถ่องแท้ คนเขียนโปรแกรม คนใช้งาน หรือ สื่อต่างๆ ก็ไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น พอมีคนบอกว่า ‘ถ้าเกิดตัวเลขของปีจาก 99 ไปเป็น 00 จะเกิดอะไรขึ้น’ คนก็เริ่มจินตนาการไปต่างๆ นานา จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต
สำนักข่าว AP บอกว่า รัฐบาลสหรัฐฯใช้เงินไปกว่า 100,000 ล้านเหรียญ และใช้เวลาหลายปีเพื่อเตรียมรับมือและซ่อมแซมระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ ให้สามารถรับรูปแบบตัวเลขของปี จาก 2 ตัวเป็น 4 ตัว ก่อนเปลี่ยนสหัสวรรษด้วย
“วิกฤต Y2K ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนเริ่มเตรียมการล่วงหน้ารับมือกับเรื่องนี้กว่าทศวรรษ และประชาชนทั่วไปที่วุ่นอยู่กับการเก็บเสบียงและสิ่งของต่างๆ ก็ไม่รู้หรอกว่า โปรแกรมเมอร์กำลังทำงานอยู่เบื้องหลัง” พอล ซาฟโฟ (Paul Saffo) นักอนาคตศาสตร์และผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวถึงเรื่องนี้กับนิตยสาร Time
เหตุผลที่หลายคนอาจไม่รู้เรื่องนี้ก็เพราะว่า แม้ในหมู่บริษัทที่มั่นใจว่าเตรียมพร้อมรับมือกับมันแล้ว ก็ไม่อยากออกมาบอกว่าตัวเองพร้อม เพราะ Y2K เป็นปัญหาระดับโลก กลัวว่าจะตกเป็นข่าวพาดหัวแล้วทำไม่ได้จริง ซาฟโฟบอกว่า “มันดีกว่าที่จะประสบความสำเร็จแบบเงียบๆ แทนที่จะล้มเหลวแล้วทุกคนเห็นกันหมด”
หลังจากเข้าสู่ปีใหม่ของปี 2000 ทุกอย่างก็เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ความตึงเครียดของคนและสังคมเริ่มผ่อนคลาย ถึงตอนนี้คนก็เริ่มมองว่า “Y2K เป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี” คำเตือนหรือข่าวต่างๆ ที่ออกมานั้นเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นเลย (เพราะทุกอย่างผ่านมาแล้วไง) มันถูกมองว่าเป็น ‘คำโกหก’ จอมปลอมที่ถูกกุขึ้นมาเพื่อสร้างความสับสนและความโกลาหลในสังคม และเงินที่เสียไปกับการเตรียมพร้อมรับมือมหาศาลก็เป็นเรื่องสูญเปล่า
เราอาจจะมองแบบนั้นก็ได้ แต่มันอาจไม่ถูกต้องซะทีเดียว
เพราะที่จริงแล้วก็ไม่มีใครรู้หรอกว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขหรือเตรียมระบบคอมพิวเตอร์ให้พร้อมรับมือกับจำนวนตัวเลขที่เป็นปีจาก 2 ตัวเป็น 4 ตัวจะเกิดอะไรขึ้น (เดี๋ยวเราก็อาจต้องมากังวลกันอีกครั้งถ้าเปลี่ยนจากปี 9999 ไปเป็น 10000 ถ้าโลกยังอยู่ถึงตอนนั้น)
มันอาจเป็นแค่เรื่องตลกๆ อย่างค่าปรับเช่าวิดีโอคิดผิดไป 1000 ปี หรือ บางทีอาจไม่ใช่เรื่องตลกอย่างระบบการบินทำงานผิดพลาดและเกิดความเสียหายต่อทั้งทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนที่เดินทางก็ได้ ซาฟโฟบอกว่า
“เรามีปัญหาแล้วก็แก้ไขไปแล้วเรียบร้อย การที่บอกว่าไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นเลยมันฟังดูตลกมากเลย”
คอสคิเนน เล่าถึงเรื่องนี้เมื่อมองย้อนกลับไปว่า “อุตสาหกรรมและบริษัทจะไม่ใช้เงิน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือทุ่มเทขุมกำลังของคนเพื่อปัญหานี้ ถ้าพวกเขาไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง คนที่รู้ดีที่สุดคือคนที่ทำงานหนักที่สุดและใช้เงินมากที่สุดด้วย”
โปรแกรมเมอร์จำนวนนับไม่ถ้วนอุทิศเวลาหลายเดือนและหลายปีในการแก้ไขเรื่องนี้ แต่กลับไม่มีคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาทำ โปรแกรมเมอร์คนหนึ่งบอกว่า รางวัลสำหรับโครงการที่ทำมา 5 ปี ในการแก้ปัญหานี้คืออาหารกลางวันฟรีมื้อหนึ่งและปากกา 1 ด้าม มันเป็นความพยายามที่ยุ่งยากและไม่มีใครมองเห็น ไม่ได้รับการขอบคุณ ซึ่งโค้ดบางส่วนที่ใช้แก้ไขตรงนั้นก็ยังคงอยู่มาถึงตอนนี้
หลังจากเข้าสู่สหัสวรรษใหม่โดยไม่มีปัญหาอะไร คนก็เริ่มถกเถียงกันถึง Y2K Bug กันน้อยลง แต่ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งที่ไม่เชื่อเลยว่ามันจะเกิดขึ้น หรือฝั่งที่ตื่นตระหนกแล้วไปซื้ออาหารมาตุน ซื้อปืนมาป้องกันตัว เราก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่ตัวเองคาดการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า ถ้าไม่มีการเตรียมตัวรับมือทุกอย่างจะเป็นยังไง (โลกอาจจะแตกไปแล้ว หรือมันอาจจะไม่เกิดอะไรขึ้นเลยก็ได้)
คอสคิเนนทราบดีว่าเบื้องหลังของความโกลาหลก่อนเปลี่ยนสหัสวรรษนั้นมีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีจนเขามั่นใจมากพอที่จะเสี่ยงบินในช่วงเวลานั้น และให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Time ว่า
“ถ้าไม่มีใครทำอะไรเลย ผมก็คงไม่ขึ้นเครื่องบินลำนั้นอย่างแน่นอน”
เขียนโดย Sopon Supamangmee
Sources: https://bit.ly/3XNsbU3