เมื่อโลกขับเคลื่อนด้วยหุ่นยนต์ อนาคตจะเป็นอย่างไรเมื่อคนถูกแย่งงาน

Share

คอลัมน์ WTF! : What The Future!
เขียนโดย S.siravich


ในปี 2030 มากกว่า 30% ของแรงงานในสหรัฐอเมริกาจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ จากรายงานวิจัยของสถาบัน McKinsey ได้คาดการณ์อนาคตเพียง 10 นับจากนี้เป็นอนาคตที่หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่คน และแม้ว่า 30% จะดูเหมือนจำนวนที่ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงมันอาจไม่เป็นเช่นนั้น แรงงานอาจถูกแทนที่ในจำนวนมากกว่า ในระยะเวลาที่เร็วกว่าก็เป็นได้

ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ทั่วโลกต่างออกมาตรการณ์ Lockdown ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงัก หรือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการทำงาน ขณะนี้สถานการณ์ต่างๆเริ่มดีขึ้น และมีการคลาย Lockdown แล้วในหลายประเทศ แต่เราจะเห็นได้ว่าในสภาพแวดล้อม อันเป็น New Normal นี้ มีตำแหน่งงานหลายอย่างที่ถูกแทนที่ไปแล้วด้วยระบบอัตโนมัติ

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา Lockdown นั้นคือ ธุรกิจหลายแห่งต้องหยุดกิจการ ไม่มีความจำเป็นต้องจ้างพนักงาน หรืออาจประสบปัญหาที่ทำให้ต้องปลดพนักงานออก ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดช่องว่างขึ้น และเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในช่วงเวลา Lockdown หลายธุรกิจปรับตัวเข้าหาดิจิทัล และเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการหยุดจ้างงานนั้นด้วยระบบอัตโนมัติ

ทุกวันนี้เราจะเห็นร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานให้บริการภายในร้านลงตามมาตรการ Social Distancing และเราจะเห็นว่าหลายร้านมีระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างในงานบริการที่ขาดหายไป

สร้างให้เกิดแนวโน้มใหม่ในตลาดแรงงาน คือหลังจากที่มาตรการ Lockdown ต่างๆ คลายลงแล้ว อาจไม่ใช่ทุกคนที่ได้กลับมาทำงาน แต่เป็นโลกการทำงานที่มีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เราอาจกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่ตำแหน่งงานจำนวนมากหายไปก็เป็นได้

มนุษย์ VS หุ่นยนต์

ที่ผ่านมาเราอาจพยายามเชื่อว่า หุ่นยนต์ อันเป็นสิ่งไม่มีชีวิต และมีแค่ปัญญาที่ประดิษฐ์ขึ้น ไม่อาจเทียบเคียงศักยภาพของมนุษย์ได้ แต่ในความเป็นจริง หุ่นยนต์ค่อยๆเอาชนะทักษะต่างๆที่มนุษย์มีได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ตำแหน่งงานแรกๆที่ถูกเเทนที่ น่าจะเป็นตำแหน่งของงานที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมากมาย เช่นคนขับรถ พนักงานทำความสะอาด หรืองานใช้ทักษะที่เลียนแบบได้ง่ายเช่นงานบัญชี หรืองานเอกสาร

แต่ไม่ได้หมายความว่าทักษะระดับสูงจะไม่ถูกท้าทาย หรือที่จริงทักษะระดับสูงอาจมีความเสี่ยงยิ่งกว่าผู้อื่นเสียอีก ปัจจุบันมี AI ที่มีความสามารถในการวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว และเเม่นยำมากกว่าหมอ ในขณะที่หมอแต่ละคนต้องเรียนรู้ทักษะนี้เป็นเวลาเกือบสิบปี  AI สามารถเลียนแบบทักษะเดียวกันให้กับหุ่นยนต์หมอทุกตัวได้

นอกจากนี้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติยังทำงานได้โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่ขอวันลา ไม่ขอขึ้นเงินเดือน จากทิศทางการพัฒนาของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน ก็ขึ้นอยู่กับเวลาแล้วที่เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ ในราคาที่ถูกกว่ามาก

คำถามคือ หากหุ่นยนต์ถูกใช้ในการทำงานอย่างแพร่หลาย มนุษย์จะเป็นอย่างไรต่อไป

เมื่อมนุษย์กลายเป็น Useless Class

จากการคาดการณ์ และการวิจัยของ Yuval Noah Harari นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือดัง Sapiens ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตของแรงงานหุ่นยนต์ จะก่อให้เกิดชนชั้นใหม่ทางสังคมขึ้น คือ Useless Class 

Useless Class หรือคนไร้ประโยชน์ คนเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ไม่สามารถหางานทำได้ แต่ยังไม่มีวันได้งานทำ เพราะทักษะต่างๆถูกหุ่นยนต์ทำแทนไปหมดแล้ว

ทำให้ไม่มีเหตุผลให้คนรุ่นใหม่ๆต้องเรียนรู้ทักษะการทำงาน อันเป็นที่มาของการเป็น Useless Class ที่ไม่อาจสร้างประโยชน์ใดได้ ทำให้คนจำนวนหนึ่งในยุคหลังจากที่ระบบอัตโนมัติทำงานแทนเราแล้ว พวกเขาจะไม่เรียนรู้ทักษะใดๆ ไม่มีงานทำ และอาจไม่มีจุดประสงค์ในชีวิต

แต่การเป็น Useless Class ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นจะถูกตีเป็นคนไร้ค่า และถูกปล่อยปะละเลย ในระบบสังคมที่ดีพอ มีทฤษฏีมากมายที่สามารถรองรับสถานการณ์ที่หุ่นยนต์ทำงาน และมนุษย์ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งใด แต่ก็ยังมีรายได้ หรือได้รับสวัสดิการ เช่นแนวคิด Universal Basics Income และ Universal Basics Service 

สิ่งที่ท้าทายคือการหาจุดมุ่งหมายในชีวิตแก่ Useless Class เพราะมนุษย์เราทุกคนต่างต้องการปฏิสัมพันธ์มีกิจกรรมบางอย่างในชีวิต เพื่อที่จะรักษาสภาวะทางจิตใจให้เป็นปกติ ในจุดนี้ เกมและกีฬาถูกมองไว้ว่าจะเป็นสิ่งที่คนไม่ทำงานจะหันหน้าเข้าหา ขณะเดียวกันศาสนาก็ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ศาสนาคือรูปแบบของการสร้างกิจกรรมให้ผู้คนยึดถือตามความคิด หรือจินตานาการของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสละความต้องการส่วนตัว การอุทิศตนให้สังคม หรือแม้กระทั่งการมอบสมบัติให้แก่ผู้อื่น เพื่อความสุขทางใจ

และยังมีความท้าทายครั้งใหญ่ ที่เราอาจต้องเผชิญ เมื่องานหายไป ผู้คนหารายได้ได้น้อยลง แม้ระบบสังคมอาจจะทำให้ผู้คนมีรายได้ได้ แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะทำให้พวกเขาสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้จากรายได้นั้น ท้ายที่สุดแล้วก็จะเกิดเส้นแบ่งขึ้น ระหว่างคนที่อยู่ในสังคมที่มีเทคโนโลยีคอยขับเคลื่อน กับผู้ครอบครองเทคโนโลยี

ความเหลื่อมล้ำจากเทคโนโลยี

ความเหลื่อมล้ำจะกลายเป็นสิ่งท้าทายที่ใหญ่ที่สุด เมื่อโลกขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยี และงานถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ เพราะมันได้ทำลายกฎเกณฑ์ของระบบเศรษฐกิจที่เรายึดมั่นในทุกวันนี้ไป

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจ และรายได้ของคนในสังคมจะเติบโตไปควบคู่กัน เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ธุรกิจเติบโต ก็จะมีตำแหน่งงานมากขึ้น มีความต้องการแรงงานที่มากขึ้น และทำให้คนทำงานมีอำนาจในการต่อรองที่มากขึ้น 

แต่เมื่องานถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ไปแล้ว นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการจะสามารถสร้างกำไรได้ โดยเกิดตำแหน่งงานใหม่ใดๆขึ้นมา ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะก่อให้เกิดช่องว่างมหาศาลในด้านของความเหลื่อมล้ำ 

ผู้ควบคุมเทคโนโลยีจะมีรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนทั่วไป แม้จะมีรายได้โดยไม่ต้องทำงาน ก็ไม่มีศักยภาพในการจะยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองได้จากแนวโน้มนี้ทำให้เกิดควาคิดว่าในอนาคต เราจำเป็นจะต้องมีแนวทางในการควบคุมผู้ครอบครองเทคโนโลยี เพื่อที่จะลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำลง

แต่ท้ายที่สุดแม้ว่าจะควบคุมผู้ครอบครองเทคโนโลยีได้ คนจำนวนมากในสังคมก็ไม่มีทักษะเพียงพอที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง

เราจะรับมือกับอนาคตอย่างไร?

มีแนวคิดมากมายพยายามจะหาคำตอบไว้ล่วงหน้าว่าเราควรเตรียมรับมือกับอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาทำงานเเทนที่คน การวางโครงสร้างสังคมเพื่อให้แนวคิด Universal Basics Income เป็นจริงได้ ไปจนถึงการเก็บภาษีการใช้งานหุ่นยนต์ เพื่อนำมาสนับสนุนผู้คน หรือการกระดับคุณภาพชีวิตคนทั้งหมด ด้วยการให้หุ่นยนต์เป็นแรงงานแทน และมนุษย์ทำในสิ่งที่คุ้มค่าต่เวลาของพวกเขามากขึ้น

ต่อจากนี้ไปเราจะได้เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกของการทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อผู้คน รวมถึงสังคมทั้งหมด และสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 10 ปี

จึงเป็นเรื่องสำคัญในวันนี้ที่เราจะต้องมองหาคำตอบให้ได้ว่า เราจะรับมืออนาคตต่อไปอย่างไร