Work-Life Balance ถือเป็นแนวคิดยอดนิยม และยังเป็นเป้าหมายของใครหลายๆ คนที่ต้องทำงานในยุคปัจจุบัน ผู้คนต่างพยายามแบ่งเวลาทำงาน และเวลาชีวิตส่วนตัวที่เหลือออกอย่างสมดุล เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด สุขภาพจิต และสุขภาพกาย อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะทำได้สำเร็จ ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะเลิกงานแล้ว หรือเป็นวันหยุดก็ตาม บางคนยังคงหยุดคิดเรื่องงาน และหยุดทำงานไม่ได้
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ Work-life Balance มีอยู่จริงเหรอ? ทำได้จริงหรือเปล่า? แม้จะยังหาคำตอบชัดเจนไม่ได้ แต่ความสงสัยนี้ก็ได้ก่อให้เกิดอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจขึ้นมา นั่นก็คือ ‘Work-Life Flow’ อีกหนึ่งแนวคิดที่หลายคนให้ความเห็นว่า เป็นไปได้จริงมากกว่า Work-Life Balance ซึ่งก็เป็นหัวข้อหลักของบทความนี้นั่นเอง
Work-Life Flow คืออะไร?
Work-Life Flow เป็นแนวคิดการทำงานที่มองว่า เราควรจะทำงานไปตามจังหวะชีวิตของตัวเอง เพราะงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องแบ่งการทำงานกับชีวิตออกจากกันอย่างชัดเจน การพยายามแบ่งทั้ง 2 อย่าง ออกอย่างสุดขั้ว และทำแต่ละอย่างตามเวลาที่กำหนดเป็นกิจวัตร หรือวงจรที่วนลูปไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้เรารู้สึกเหนื่อย และขาดความคิดสร้างสรรค์ แถมยังอาจทำไม่ได้จริงด้วย
นอกจากนี้ ก็ยังมีความจริงอีกเรื่องที่ว่า ‘เงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน’ ถึงจะพยายามแบ่งเวลาให้ชัดเจนมากแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้ว ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และเหตุที่ไม่คาดคิดก็พร้อมเกิดขึ้นได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น งานด่วน การล้มป่วย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มักจะเข้ามาแทรก จนทำให้เราทำตามตารางเวลาที่วางไว้ไม่ได้ นี่เลยเป็นคำตอบว่า ทำไมการวางแผน แบ่งเวลาแบบ Work-Life Balance ถึงอาจเป็นไปไม่ได้ และอาจไม่มีอยู่จริงด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรที่จะทำงานตามจังหวะของชีวิตตัวเองเป็นหลัก บางคนอาจจะมีสมาธิมากสุดตอนกลางคืน บางคนอาจจะทำงานในวันหยุดได้โดยไม่รู้สึกติดขัดอะไร บางคนอาจจะไม่ได้อยากได้เวลาพักมากขนาดนั้น หรือไม่ชอบอยู่ว่างเป็นเวลานาน ซึ่งก็กลับมาสู่ประเด็นว่า แต่ละคนมีจังหวะของชีวิตที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง ดังนั้น แทนที่จะบอกให้ทุกคนพยายามแบ่งเวลางาน และชีวิตให้เท่ากัน สู้ใช้เวลาทำงาน และเsวลาชีวิตให้ตรงตามจังหวะของตัวเองก็น่าจะเวิร์กกว่าเยอะ
Work-Life Flow มีแนวทางเบื้องต้นยังไง?
หลังจากเข้าใจแนวคิดของ Work-Life Flow กันไปแล้ว คำถามต่อมาก็คือ แล้วเราจะเริ่มต้นยังไง? เพราะที่เล่าไปก็ยังฟังดูเป็นแนวคิดแบบกว้างๆ ยังไม่เห็นภาพว่า พอนำมาใช้จริงแล้วจะเป็นอย่างไร? บทความนี้จึงได้สรุปแนวทางเบื้องต้นในการนำไปใช้จริงของ Work-Life Flow มาให้กัน
อย่างแรก ‘ให้ความสำคัญกับงานที่ออกมามากกว่าจำนวนชั่วโมงการทำงาน’ เลิกคิดถึงจำนวนชั่วโมงว่า วันนี้ทำงานไปแล้วกี่ชั่วโมง? แต่โฟกัสไปที่คุณภาพของผลลัพธ์งานแทน ทำความเข้าใจ Flow การทำงานของตัวเองว่า เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดตอนไหน หรือภายใต้เงื่อนไขอะไร? หลังจากนั้น ให้ทำตาม Flow ดังกล่าวไป แม้เวลาจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของงานที่เป็นโฟกัสหลักของเรามากกว่าด้วย
ส่วนแนวทางถัดมาก็คือ ‘พยายามหางานโดยยึดเป้าหมาย และความต้องการของตัวเองเป็นหลัก’ หาบริษัทที่มีแนวทางสอดคล้องกับเป้าหมาย และความต้องการในชีวิต เพราะพวกเขาจะเอื้อให้เราทำงาน ใช้ชีวิตไปตาม Flow ของตัวเองได้มากที่สุด และทำงานได้มีความสุขมากขึ้น ซึ่งว่ากันตามตรงแล้ว ก็อาจจะหาได้ยากสักหน่อย แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ขอให้พยายามเริ่มหาจากข้อดีเล็กๆ น้อยๆ ของงานที่ตรงกับความต้องการก่อนก็ได้
ชีวิตคนเราไม่มีอะไรที่เป็นไปตามแผนที่วางไว้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เราอาจจะมีแผนเป็นเดือน เป็นปี แต่โลกนี้ก็เต็มไปด้วยปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมมากมาย เหตุที่ไม่คาดคิดพร้อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น ชีวิตจึงเป็นการเดิน เต้นรำไปตามจังหวะของตัวเอง และรับมือกับสิ่งตรงหน้าได้อย่างยืดหยุ่นที่สุด อีกทั้ง ข้อสรุปดังกล่าวก็อาจเป็นเพียงความคิดขั้นพื้นฐานของ Work-Life Flow เท่านั้น
Sources: https://bit.ly/3PHfm9L
.
.