เมื่อเงินไม่ใช่ทั้งหมดของงานที่ดี แต่คือ ‘งานที่มีความหมาย’ เรียนรู้กลยุทธ์การสร้างงานที่มีความหมายให้กับทีม

Share

ตามปกติแล้ว เวลามนุษย์เงินเดือนเลือกว่า จะทำงานกับบริษัทไหนสักแห่ง มักมองเรื่องของ ‘เงิน’ หรือผลตอบแทนที่ได้รับเป็นหลัก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ค่านิยมดังกล่าวก็เปลี่ยนตาม ส่งผลให้ทุกวันนี้คนเริ่มนำปัจจัยอื่นอย่าง ‘งานที่มีความหมาย’ เข้ามาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาด้วย

โดยจากผลสำรวจของฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ชี้ให้เห็นว่า แรงงาน 9 ใน 10 เต็มใจที่จะได้เงินเดือนน้อยลงแลกกับการทำงานที่มีความหมายมากขึ้น เพราะสิ่งนี้ทำให้พวกเขามีความสุข อยากลุกออกจากเตียงทุกเช้า และไม่ต้องรู้สึกเกลียดการไปทำงานอีกต่อไป รวมไปถึงพนักงานที่พบงานที่มีความหมายมีโอกาสน้อยกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ในการวางแผนลาออก และมีอายุเฉลี่ยของงานนานกว่าพนักงานที่ไม่พบงานที่มีความหมายมากถึง 7.4 เดือนเลยทีเดียว

สอดคล้องกับปรัชญาของสตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่ปักหมุด เอางานเข้ามาเป็น ‘สิ่งเติมเต็ม’ และยึดโยงชีวิตเข้ากับการทำงาน โดยเชื่อว่า งานที่มีคุณค่า และตอบโจทย์เป้าหมายคืองานที่เราจะอยู่ด้วยได้ทั้งชีวิต ในทางกลับกัน หากขาดมันไป ชีวิตก็จะว่างเปล่า

ในเมื่องานที่มีความหมายนั้นสำคัญมากขนาดนี้ แล้วผู้นำอย่างเราจะสร้างงานที่มีลักษณะแบบนี้ให้กับทีมได้ยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ 4 กลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้งานมีความหมายมากขึ้นกัน

1. ต้องทำตัวเป็น ‘เจ้าหนูจำไม’

แม้ในแง่ของความหมาย เจ้าหนูจำไมดูเป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญให้กับคนรอบตัว แต่ความเป็นจริง บุคลิกนี้กลับทำให้กลุ่มคนจำนวนไม่น้อยประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะการตั้งคำถามไปเรื่อย ไม่หยุดหย่อนเนี่ยแหละ ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด เช่นกัน หากผู้นำฝึกตัวเองให้สงสัย อยากรู้ อยากทราบงานที่มีความหมายของทีม หมั่นถาม และเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ก็จะช่วยให้เข้าใจความรู้สึก และความต้องการเพื่อนำไปสร้างงานที่ตอบโจทย์พวกเขาได้สำเร็จ

2. ต้องสร้าง ‘ความท้าทาย’ อย่างไม่หยุดยั้ง

มีงานวิจัยระบุไว้ว่า คนที่มองโลกในแง่ดีจะไม่พยายามหนักเท่ากับคนที่คาดหวังจะฝ่าฟันหรือล้มเหลว ดังนั้น ความท้าทายจึงเป็นยาชั้นดีรักษาปัญหาความเฉื่อยชา ไม่มีชีวิตชีวาของบรรดาพนักงาน การสร้างความท้าทายในงาน ผลักดันให้พยายามก้าวกระโดดสู่ความสำเร็จใหม่ๆ เสมอจะทำให้ทีมรับรู้ถึงความหมายผ่านความก้าวหน้า และการเติบโต

3. ต้องจ้างทีมจากคุณค่า และวัฒนธรรมที่ ‘ตรงกัน’

หนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่ช่วยสร้างงานที่มีความหมายให้กับทีมก็คือ ‘ความเข้ากันได้’ ระหว่างค่านิยมส่วนตัวของพนักงานกับวัฒนธรรมบริษัท แต่เรื่องนี้เป็นอะไรที่ตอบยากพอสมควร เนื่องจากต้องไล่เรียงไปที่กระบวนการคัดคนตั้งแต่แรก โดยงานวิจัยระบุว่า คนเราจะพบสิ่งที่มีคุณค่าหรืองานที่มีความหมายได้ก็ต่อเมื่อมันสอดคล้องกับความต้องการ และแรงจูงใจส่วนตัว

4. ต้อง ‘ไว้ใจ’ ทีมให้เป็น

แน่นอนว่า ไม่ว่าใคร ตำแหน่งไหน ทีมหรือคุณเองก็ไม่ชอบการ Micromanagement เหมือนกันทั้งนั้น การเชื่อใจ เปิดโอกาสให้ทีมได้ทดลอง และเติบโตไปอีกขั้นจึงเป็นอีกหนึ่งเบ้าหลอมของงานที่มีความหมาย เนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้พวกเขารู้สึกถึงคุณค่า และความสำคัญมากยิ่งขึ้น

ทีนี้เมื่อรู้จัก 4 กลยุทธ์สร้างงานที่มีความหมายให้กับทีมเรียบร้อย ก็ถึงตาคุณแล้ว! ลองกลับมาพิจารณาตัวเองดูอีกครั้งว่า ทุกวันนี้เราในฐานะผู้นำได้สร้างงานที่มีความหมายเติมเต็มชีวิตของทีมหรือยัง แล้วถ้ายัง เราจะเป็นส่วนเล็กๆ ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้นได้ยังไงบ้าง?

Sources: https://bit.ly/3EoW30N

https://bit.ly/3KUtA5l

https://bbc.in/3MiCU3o