งานก็ต้องทำ ไฟก็หมด แถมยังต้องส่งพลังให้คนอื่นอีก เทคนิคปลุกไฟให้ทีมในวันที่ ‘ใจพังแต่ยังต้องไหว’

Share

ทำงานไปนานๆ ไม่ได้มีแค่ลูกน้องที่ Burnout เป็นเท่านั้น แต่อาการแบบนี้สามารถเกิดกับคนที่ขึ้นชื่อว่า ‘เป็นหัวหน้า’ อย่างเราๆ ได้เช่นกัน

ว่ากันว่า เวลาลูกน้อง Burnout รู้สึกรับมือไม่ไหวกับความเครียด ทางออกที่ดีที่สุดคือ การเดินเข้าไปปรึกษาหัวหน้าตรงๆ เพื่อช่วยกันหาทางออกให้เร็วที่สุด เหมือนที่มีใครบางคนเคยบอกเอาไว้ว่า หน้าที่ของหัวหน้าไม่ใช่เพียงสนับสนุนงาน แต่แท้จริงแล้ว ต้องสนับสนุนให้ลูกน้องได้เติบโตด้วย

ถึงกระนั้น ลูกน้องก็ยังปรึกษาหัวหน้าได้ แต่ถ้าหัวหน้าอย่างเราๆ ไหนจะกองงานมหาศาลที่ต้องทำ แถมบางครั้งก็ต้องส่งพลังใจให้ลูกน้องทั้งที่ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรเลยด้วยซ้ำ

เฮอร์เบิร์ต เจ ฟรูเดนเบเกอร์ (Herbert J. Freudenberger) นักจิตวิทยาชาวนิวยอร์กพบว่า ผลกระทบจากการ Burnout ไม่ได้มีเพียงอาการปวดหัวอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงอาการทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธง่าย และสงสัยในตัวผู้อื่นที่ส่งผลต่อบรรยากาศการทำงานในทีม วัฒนธรรมขององค์กร อีกทั้ง ยังมีเรื่องของความรู้สึกแย่ของหัวหน้าที่อาจลุกลามไปยังลูกน้องด้วย

แล้วทางออกของเรื่องนี้คืออะไร หัวหน้าจะทำยังไงไม่ให้สิ่งต่างๆ แย่ลงกว่าเดิม? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักเทคนิคปลุกไฟให้ทีมในวันที่ ‘ใจพังแต่ยังต้องไหว’ กัน

1. Burnout ทั้งที ต้องแก้ ‘เป็นกลุ่ม’ เอาให้คุ้ม!

ไหนๆ ก็อุตส่าห์ Burnout เครียดเหมือนกันแล้ว จะจุดไฟใหม่ ก็จุดพร้อมกับลูกน้องไปเลย เพราะนอกจากจะทำให้ไฟกลับมาลุกโชนแล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ของเรากับลูกน้องกระชับขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น การนั่งสมาธิแบบกลุ่ม การนัดลางานแล้วไปเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน โดยก็ตั้งอยู่บนแก่นแกนที่ว่า ‘อย่าบังคับให้ทุกคนต้องทำ’ ถ้าใครไม่สนใจจะเข้าร่วม และก็อย่าเข้าใจผิดด้วยว่า การที่พวกเขาไม่เข้าร่วมจะทำให้เครียด จริงๆ แล้ว การไปบังคับโดยไม่เต็มใจ จะทำให้ลูกน้องรู้สึกไม่มีอำนาจตัดสินใจควบคุมชีวิตตัวเอง (Autonomy) และบั่นทอนอาการ Burnout ให้แย่ลงกว่าเดิมต่างหาก

2. แสดง ‘ความใจดี’ กับตัวเอง และลูกน้อง

อย่าเฆี่ยนตีตัวเอง ทำให้ลูกน้องรู้สึกหนักใจว่า Burnout เป็นความล้มเหลวส่วนตัว เราทุกคนกำลังอยู่ในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่คาดหวังให้สมบูรณ์แบบ นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญทำให้หลายๆ คนเครียดมาก ฉะนั้น หัวหน้าจึงควรสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Psychological Safety Place) ทั้งกับตัวเอง และลูกน้อง

ลองเข้าไปพูดคุยกับพวกเขาแล้วแสดงความใจดี มองด้วยสายตาแห่งความเข้าใจว่า ทุกปัญหาคือความปกติของชีวิต วันนี้มันอาจจะเกิดขึ้น แต่เดี๋ยววันหนึ่งมันก็จะผ่านไปเหมือนทุกครั้ง และไม่ว่ายังไงก็ตาม ‘พวกเขาจะมีเราอยู่ตรงนี้เสมอ’

3. หาคำตอบว่า ‘ทำทำไม?’ อีกครั้ง

หลักๆ แล้ว Burnout เกิดจากความรู้สึกตัดขาด ไม่เชื่อมโยงระหว่างค่านิยมส่วนตัวกับงานที่ทำ เวลาที่เครียด เหนื่อย แทนที่จะบีบคั้นให้ตัวเอง และลูกน้องทำงาน ทำงาน ทำงาน เช่นเดียวกับข้อความที่ถูกสกรีนอยู่บนเสื้อยืดของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนล่าสุด ให้เปลี่ยนเป็นการกลับมาถามตัวเองว่า ‘งานที่ทำอยู่ สิ่งที่อยู่ตรงหน้า เรา และพวกเขาทำไปทำไม?’ อีกครั้ง เพื่อเตือนสติตัวเองถึงเป้าหมาย และความสำคัญกับองค์กรให้รู้สึกดีขึ้น เพราะพอรู้ว่าทำทำไม ก็จะมีเหตุผลอีกเป็นสิบให้อยากตื่นขึ้นมาทำงานในทุกเช้านั่นเอง

ผลงานวิจัยเรื่อง National Health Costs Could Decrease if Managers Reduce Work Stress ของไมเคิล แบลนดิง (Michael Blanding) ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาด้านร่างกาย และจิตใจของพนักงานที่ Burnout สร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในสหรัฐฯ ประมาณ 125 ถึง 190 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือตีเป็นเงินไทยราวๆ 4 ถึง 6 ล้านบาท เรียกได้ว่า เป็นต้นทุนที่สูงมากทีเดียว

เพราะฉะนั้น ทุกคนควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และองค์กรก็ต้องทำความเข้าใจใหม่ด้วยว่า ‘Burnout เป็นปัญหาของบริษัท ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว’ ท้ายที่สุดแล้ว ในวันที่โลกทั้งใบเหน็ดเหนื่อย ทีมของคุณหมดไฟ ดูแลลูกน้องแล้ว ก็อย่าลืมหันกลับมาดูแลใจตัวเอง ให้ความสำคัญกับคนที่สำคัญที่สุดบนโลกใบนี้ที่ชื่อว่า ‘เรา’ ด้วยนะ 

Sources: https://bit.ly/3P3nYHo

https://bit.ly/3yeZvZ1

https://bit.ly/3NG8wA9