ตื่นแล้วก็ยังอยากนอนต่อ ไม่อยากทำอะไรเลย รู้จัก ‘Clinomania’ อาการเตียงดูด ที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า

Share

เชื่อว่ามีหลายครั้งที่ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วแต่ก็รู้สึกไม่อยากลุกออกจากเตียง ในยามปกติแล้ว ไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องมีเหตุผลบางอย่างที่บีบให้เรารู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาเสมอ เช่น ต้องทำงาน เป็นต้น แต่ถ้าหากเกิดกรณีที่แม้จะมีเรื่องที่ต้องลุกขึ้นมาทำแต่ก็ลุกขึ้นมาไม่ได้ ต้องใช้ความพยายามและเวลาอย่างมากกว่าจะลุกขึ้นมาจากเตียง จนส่งผลกระทบกับชีวิต นั่นอาจเป็นสิ่งที่บอกว่าเรากำลังมีอาการ ‘Clinomania’ ที่อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่าง เช่น ภาวะซึมเศร้าอยู่ก็ได้

Clinomania คืออะไร?

คำว่า Clinomania มาจากภาษากรีกที่แปลว่า ความหลงใหลในการนอนหลับ ในบริบทที่เราพูดถึงนี้ก็มีความหมายที่ตรงตัวเช่นกัน ซึ่งก็คือ อาการที่อยากจะนอนอยู่บนเตียงไปตลอดอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้สึกขี้เกียจแต่อย่างใด โดยสามารถสังเกตอาการหลักๆ ได้ดังนี้

– รู้สึกถูกดึงดูดหรือแย่งสมาธิไปโดยเตียงนอนหรือสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอน เช่น หมอน ผ้าห่ม
– รู้สึกยากลำบากในการลุกขึ้นมาจากเตียงนอน เวลาจะลุกขึ้น เหมือนมีแรงบางอย่างที่มองไม่เห็นมาดึงไว้ไม่ให้ลุกขึ้น
– มีอารมณ์แปรปรวน เช่น รู้สึกสุขใจเมื่อได้นอนอยู่บนเตียง แต่รู้สึกแย่เมื่อลุกขึ้น
– รู้สึกสบายใจอย่างล้ำลึกเมื่อนอนอยู่บนเตียง
– ใช้เวลานอนอยู่บนเตียงจนจำนวนกิจกรรมอื่นๆ ลดลง หรือส่งผลกระทบกับการทำกิจกรรมอื่นๆ

ผลกระทบทางจิตวิทยา

นอกจากจะมีผลกระทบกับกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงกิจวัตรประจำวันของเราแล้ว อาการ Clinomania ยังสามารถส่งผลกระทบทางจิตวิทยาเพิ่มเติมได้อีกด้วย โดยเกิดขึ้นหลักๆ ดังนี้

– ความรู้สึกผิด: เกิดขึ้นจากการที่ใช้เวลาอยู่บนเตียงมากๆ จนไม่มีเวลาเพียงพอในการทำอะไรอย่างอื่น และอาจพัฒนาไปเป็นความรู้สึกว่าตัวเองนั้นไร้ค่าได้
– ความรู้สึกเศร้า: ยิ่งเราใช้เวลาอยู่บนเตียงมากเท่าไร เราก็ยิ่งสนใจเรื่องอื่นๆ น้อยลงเท่านั้น การที่ไม่สนใจอะไรเลยนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า เฉยเมย และขาดกำลังใจได้
– ความรู้สึกโดดเดี่ยว: สืบเนื่องจากข้างต้น เราจะหยุดทำสิ่งต่างๆ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้เกิดความรู้สึกไม่แยแสกับอะไร ความรู้สึกผิด และความรู้สึกโดดเดี่ยวขึ้นมา กลายเป็นวงจรไป
– การแยกตัวออกจากสังคม: ในท้ายที่สุด เราจะแยกตัวเองออกจากโลกทั้งใบ และมาอยู่แค่บนเตียงของเราภายใต้ผ้าห่มแทน หากมาถึงขั้นนี้ ก็สามารถแน่ใจได้แล้วว่าเรากำลังมีอาการ Clinomania อย่างแน่นอน

สาเหตุและความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า

สาเหตุของอาการ Clinomania มีได้หลายอย่าง โดยมีความเกี่ยวข้องกับการขาดแรงบันดาลใจ ความวิตกกังวล ความเครียด ความนับถือตนเองต่ำ (Low Self-esteem) ซึ่งเป็นอาการส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้า ทำให้บ่อยครั้งที่ Clinomania นั้นเป็นอาการส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้าด้วยเช่นกัน ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหลายคน มีแนวโน้มที่จะมีอาการ Clinomania ร่วมด้วย

ดังนั้นแล้ว การที่มีอาการ Clinomania เกิดขึ้น ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าได้นั่นเอง หากว่าเริ่มมีอาการจนถึงขั้นที่ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยไว้เฉยๆ เป็นเวลานาน การปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางเลือกในการแก้ไขที่ควรจะพิจารณาด้วย

Sources: https://bit.ly/3xQfywj

https://bit.ly/3HJBXzZ