‘Future Trends: Love-Tech Relationship’ ซีรีส์บทความรับเทศกาลวาเลนไทน์ สำรวจเรื่องราวของ ‘ความสัมพันธ์ยุคใหม่’ ที่เกิดจากความรักกับเทคโนโลยี
‘ความรัก’ หน้าตาประมาณไหน?
คนมีคู่นิยมทำกิจกรรมอะไรตอนออกเดต?
ชีวิตที่มีใครสักคนเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในใจเป็นอย่างไร?
ในอดีต คำตอบของคำถามเหล่านี้ คงเป็นภาพที่คู่รักเดินจับมือกันกลางสยามหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างความทรงจำดีๆ ร่วมกัน และแบ่งปันช่วงเวลาที่มีความหมายผ่านกิจกรรมแสนธรรมดาแต่แฝงไปด้วยความพิเศษ ไม่ว่าจะกินข้าว ดูหนัง ขับรถเล่น หรือแค่อยู่บ้านเฉยๆ
แต่โลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว เพราะการระบาดของโควิด-19 และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ ‘วิถีแห่งการรัก’ ของคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยใช้เวลาร่วมกันแค่ในโลกความเป็นจริง ก็หันมาใช้เวลาร่วมกันใน ‘โลกเสมือน’ ผ่านเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) และเมตาเวิร์สแทน
ถึงแม้คนบางกลุ่มจะยังไม่เข้าใจวิถีแห่งการรักบนโลกเสมือน และมองว่าเป็นวิธีที่ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้แข็งแกร่งเท่าในชีวิตจริง แต่คนที่เริ่มชีวิตรักบนโลกเสมือนกลับเห็นต่าง และจะสานสัมพันธ์กับอีกฝ่ายต่อไป เพราะความรักในโลกเสมือนมีแต่คำว่า ‘อิสระ’ ที่ทุกคนสามารถแสดงออกตามใจโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับความรักในชีวิตจริง
นอกจากเทคโนโลยี ‘โลกเสมือน’ จะทำให้วิถีแห่งการรักในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนไป ยังมีอิทธิพลต่อความรักและความสัมพันธ์ของคนในสังคมอย่างไรอีกบ้าง? Future Trends จะพาไปสำรวจในประเด็นต่างๆ พร้อมๆ กัน
เป็นใครก็ได้ในสมการ ‘ความรัก’
บางคนรู้สึกว่า ความรักในชีวิตจริงเป็นเรื่องยากสำหรับตัวเอง เพราะปัจจัยรอบข้างไม่เอื้อต่อการสร้างสัมพันธ์ เช่น การบริหารเวลาให้สมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว ความคาดหวังในความสัมพันธ์ ข้อจำกัดในการเข้าสังคม วิถีชีวิตไม่เหมาะกับการสานสัมพันธ์ในชีวิตจริง เป็นต้น
ในสารคดีสั้น SHIFT: Virtual Love ของสำนักข่าว Scripps News มีผู้ใช้งานคนหนึ่งที่ใช้นามแฝงว่า Shyla The Super Gecko เล่าถึงสาเหตุที่เข้ามาสานสัมพันธ์กับผู้คนในโลกเสมือนว่า ในโลกแห่งความจริง เขาเป็นผู้พิการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ทำให้ต้องอยู่แต่ในบ้านและไม่มีสังคมอื่นเลยนอกจากครอบครัว แต่ในโลกเสมือน ทุกคนสานสัมพันธ์ผ่าน ‘ตัวตน’ โดยมองข้ามหน้าตา เพศ อายุ และปัจจัยภายนอกอื่นๆ จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่สวยงาม
นอกจากนี้ บางคนยังรู้สึกว่า โลกเสมือนเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สัมผัสประสบการณ์ความรักที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในชีวิตจริง เช่น การสร้าง ‘อวตาร’ เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เพื่อสานสัมพันธ์กับ ‘อวตาร’ สัตว์ชนิดอื่น จนเกิดเป็น ‘ความรักต่างสปีชีส์’ ที่ต่างฝ่ายไม่จำเป็นต้องรู้จักตัวตนของกันและกัน
‘โลกเสมือน’ พาคนในความทรงจำกลับมาหาอีกครั้ง
“มีพบก็ต้องมีจาก”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ความรัก’ และ ‘การจากลา’ เป็นของคู่กัน ถึงแม้หลายคนจะเข้าใจสัจธรรมข้อนี้ดี แต่เมื่อเวลาแห่งการจากลามาถึง ก็ยากที่จะปล่อยคนรักไปจากหัวใจ ยิ่งรู้ว่าคนที่รักไม่มีทางกลับมาได้ ความรู้สึกห่วงหาอาวรณ์จะยิ่งประจักษ์ชัดอยู่ในความทรงจำ
แต่เมื่อเทคโนโลยีโลกเสมือนสามารถพาคนรักที่จากไปกลับมาพบกันได้อีกครั้ง ความห่วงหาอาวรณ์จะแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกตื้นตันใจ และหวนนึกถึงเรื่องราวในอดีตที่สวยงาม
ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2022 มีโฆษณาที่เป็นไวรัลบนโลกออนไลน์จากการใช้เทคโนโลยี Deepfake พาคุณแม่ผู้ล่วงลับกลับมาใช้เวลาบนโต๊ะอาหารกับลูกสาวของตัวเอง นอกจากจะเป็น ‘โฆษณาเรียกน้ำตาแห่งปี’ ยังเป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเติมเต็มความสัมพันธ์ และทำให้คนที่ยังอยู่มีพลังในการใช้ชีวิตต่อไป
เกิด ‘การแต่งงาน’ แบบใหม่ที่ทำลายความเชื่อเดิม
‘การแต่งงาน’ คือขั้นตอนยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่เติมเต็มกันด้วยความรักจนพร้อมก้าวสู่เรื่องราวบทใหม่ และเปลี่ยนสถานะจาก ‘คนรัก’ ที่ใช้เวลาร่วมกันแค่ในโมเมนต์แสนพิเศษ เป็น ‘พาร์ตเนอร์’ ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับทุกช่วงของชีวิตต่อจากนี้
แม้การแต่งงานจะเป็นเรื่องของคนสองคน แต่ในความเป็นจริงกลับมีคนที่เกี่ยวข้องมากมายโดยเฉพาะคนในครอบครัว ทำให้การแต่งงานกลายเป็นสิ่งที่ผูกติดกับพิธีกรรมและความเชื่อของญาติผู้ใหญ่อย่างเลี่ยงไม่ได้
คนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามว่า พิธีกรรมและการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ยังจำเป็นในปัจจุบันหรือไม่ เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการ คือการสร้างความทรงจำดีๆ ผ่านโมเมนต์แสนพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตคู่ ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนพบคำตอบ และผลักดันให้เกิดการแต่งงานรูปแบบใหม่อย่างการแต่งงานบน ‘เมตาเวิร์ส’
การแต่งงานบนเมตาเวิร์สเกิดขึ้นแพร่หลาย รวมถึงในไทย แต่ละฝ่ายจะส่งอวตารของตัวเองมาเข้าร่วมพิธี โดยมีสักขีพยานเป็นแขกผู้มีเกียรติที่ส่งอวตารมาร่วมงานเช่นกัน และแขกทุกคนจะได้รับ NFT สุดพิเศษเป็นของชำร่วยหลังจบงาน
นาตาลี เคเด็ต เจมส์ (Nathalie Cadet-James) นักวางแผนงานแต่งงาน แสดงความเห็นว่า การแต่งงานบนเมตาเวิร์ส ทำให้อาชีพของเธอเปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานแบบ on ground ต้องมาเรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่ศูนย์เกี่ยวกับการจัดงานในโลกเสมือน
แม้การแต่งงานบนเมตาเวิร์สจะเข้ามา ‘ดิสรัปต์’ วงการออแกไนเซอร์และคนทำอาชีพเกี่ยวกับงานแต่งงาน แต่อีกมุมหนึ่งกลับเป็นโอกาสดีที่จะต่อยอดธุรกิจไปสู่น่านน้ำใหม่ๆ เพราะการแต่งงานบนเมตาเวิร์สจะกลายเป็นเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น เนื่องจาก สามารถทำลายข้อจำกัดด้านการจัดงาน และทำให้ทุกไอเดียที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง เกิดขึ้นได้ในเมตาเวิร์ส
ถึงความรักในโลกเสมือนจะยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในโลกความเป็นจริง แต่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่สวยงามและไม่ได้ฉาบฉวยอย่างที่หลายคนคิด เพราะมีคู่รักที่สานสัมพันธ์ต่อในชีวิตจริง และพัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นความรักที่มั่นคงไม่แพ้วิถีแห่งการรักในชีวิตจริงแม้แต่นิดเดียว
Sources: http://bit.ly/3loLu8n