กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เพิ่มทางเลือกในการลงทุน ชูกลไกคุ้มครองเงินลงทุนและผลตอบแทน จ่ายเงินปันผลตามผลการดำเนินงานจริง ไม่น้อยกว่า 3% ต่อปี และไม่เกินกว่า 9% ต่อปี พร้อมเปิดจองซื้อ 16-20 กันยายนนี้

Share

[สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน]

จากสถานการณ์ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนหลายคนอาจเผชิญกับความกังวลเกี่ยวกับกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลออก รวมถึงปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนและความผันผวนของตลาดการเงินโลก ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ จากการที่นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย รวมมูลค่ากว่า 5.3 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงมูลค่าการระดมทุนของตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้มีอัตราที่ชะลอตัวลง การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและสามารถให้ผลตอบแทนในระยะยาวจึงเป็นทางเลือกที่นักลงทุนหลายคนกำลังมองหา

รัฐบาลจึงได้เสนอทางเลือกในการลงทุนโดยนำ “หน่วยลงทุนประเภท ก. ของ กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” กลับมาเสนอขายอีกครั้ง ให้ผู้ลงทุนทั่วไปได้ร่วมลงทุน โดยกองทุนรวมนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบโจทย์การลงทุนที่ มุ่งเน้นลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจและต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ และเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงในระยะยาว กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนในระยะยาว

[ทำความรู้จักกับกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง]

แต่เดิม ‘กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง’ (“กองทุนฯ”) เป็นกองทุนรวมปิด ที่ก่อตั้งในปี 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรี อายุโครงการ 10 ปี

ต่อมาในปี 2556 กองทุนฯ ได้ทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมด จากนั้นก็ได้แปรสภาพเป็นกองทุนรวมเปิด และเสนอขายเฉพาะหน่วยลงทุนประเภท ข. ให้กับกระทรวงการคลัง และนักลงทุนที่เป็นหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น

ปัจจุบันกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 350,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กันยายน 2567) และมีเพียงผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. เท่านั้น อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ กำลังจะเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ได้แก่ ผู้ลงทุนรายย่อย และ ผู้ลงทุนสถาบัน

[วัตถุประสงค์กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง]

กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เป็นอีกหนึ่งกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อ บริหารจัดการหลักทรัพย์ที่ถือครองอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาว ลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจและต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อลดภาระของรัฐในการจัดสรรเงินงบประมาณ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่ประชาชน

[รูปแบบ และโครงสร้างของกองทุนรวมวายุภักษ์ ]

มาดูประเภทหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กันบ้าง กองทุนนี้จะแบ่งหน่วยลงทุนเป็น 2 ประเภท คือ หน่วยลงทุนประเภท ก. และประเภท ข. หน่วยลงทุนประเภท ก. เป็นหน่วยลงทุนที่จะเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ได้แก่ ผู้ลงทุนรายย่อยและผู้ลงทุนสถาบัน ทำให้มีความยืดหยุ่นในการเข้าถึงและเหมาะสำหรับนักลงทุนทุกประเภท และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงเดือนตุลาคม และหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลัง และนักลงทุนภาครัฐ

หน่วยลงทุนประเกท ก. มีระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี โดยผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯ แต่ไม่น้อยกว่า 3.0% ต่อปี และไม่เกินกว่า 9.0% ต่อปี ของมูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปี และอัตราผลตอบแทนขั้นสูงต่อปีดังกล่าวจะเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี ซึ่งมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจัดการกองทุนนั่นเอง

[รายละเอียดกองทุนฯ]

ซึ่งกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เป็นกองทุนรวมผสม ที่ไม่กำหนดสัดส่วนในการลงทุน หมายความว่าจะมีการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ และอื่นๆ โดยไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุนที่ตายตัว ซึ่งช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนตามสภาพตลาดและแนวโน้มเศรษฐกิจได้อย่างยืดหยุ่น

กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง จะเปิดขายหน่วยลงทุนประเภท ก. มูลค่าการเสนอขาย 100,000 – 150,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ในราคาหน่วยละ 10 บาท โดยจองซื้อขั้นต่ำเพียง 10,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 1,000 บาท จัดสรรด้วยวิธี Small Lot First โดยผู้จองซื้อที่จำนวนขั้นต่ำได้รับการจัดสรรก่อน เพื่อให้ผู้จองซื้อทุกรายมีโอกาสได้รับหน่วยลงทุนเท่าเทียมกัน

[สรุปจุดที่น่าสนใจของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง]

ในแง่ของการลงทุน กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง จะเข้าลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ รวมถึงบริหารแบบเชิงรุกและแบบเชิงรับ โดยส่วนใหญ่จะลงทุนในหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เน้นการลงทุนในบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เช่น

  • บริษัทใน SET100 ที่ได้รับคะแนน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” ที่ระดับ A ขึ้นไป
  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ บริษัทใน SET100 อื่น ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีหรือมีแนวโน้มการเติบโตสูง ทั้งนี้ต้องเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • บริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” สูงกว่า เป็นต้น

นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังมีกลไกคุ้มครองเงินลงทุน โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ของกองทุนฯ ก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (Waterfall Structure) และมีกลไกบริหารความเสี่ยง โดยการกำหนดสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. และมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. หากสัดส่วนดังกล่าวลดลง เช่น

  • เพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือ สำรองจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. เป็นเวลา 2 ปี
  • เปลี่ยนสินทรัพย์ที่ลงทุนเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องใกล้เคียงเงินสดให้ใกล้เคียงมูลค่าเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. เพื่อสำรองเงินสำหรับชำระคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง นี้มีความน่าสนใจในหลายประการ ทั้งประเด็นความยืดหยุ่นของแนวทางในการบริหารกองทุนฯ ที่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทำให้กองทุนฯ นี้มีความน่าเชื่อถือ และด้วยวงเงินการเปิดขายที่มากถึง 100,000 – 150,000 ล้านบาท กองทุนฯ นี้จึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดทุนของประเทศ

สำหรับนักลงทุนท่านใดที่สนใจลงทุนกับ กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง สามารถจองซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ได้ในวันที่ 16-20 กันยายน 2567 ผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานใหญ่/สาขา และ/หรือ ช่องทางออนไลน์ ของผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา

FutureTrends #VayupakFund #กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง