“การ์ดอย่าตก” “วัคซีนเพื่อชาติ” “วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เร็วที่สุด” ฯลฯ ชุดคำพูดทั้งหมดนี้ถูกโปรโมตและเผยแพร่ผ่านสื่อโดยผู้มีอำนาจแทบทุกวัน แต่เพราะอะไรวาทกรรมเหล่านี้กลับใช้ไม่ได้ผล ซ้ำร้ายยังถูกหลายคนนำมาวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ไม่ว่าจะการ์ดอย่าตก วัคซีนเพื่อชาติ หรือการให้คิดคำนึงถึงส่วนรวมในช่วงเวลาคับขันแบบนี้ กลับเป็นวิธีการที่ไร้ประสิทธิภาพ แถมยังให้ผลลัพธ์ในทางกลับมากกว่าด้วยซ้ำไป
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเวลาที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศสร้าง ‘new high’ ขึ้นทุกวันแบบนี้ แต่เพราะอะไรการเลือกรับวัคซีนถึงยังเกิดขึ้นและถูกพูดถึงอยู่เรื่อยๆ กลายเป็นมีคนบางกลุ่มมองว่า การฉีดวัคซีนของรัฐอาจจะอันตรายกว่าการติดเชื้อโควิด-19 ก็ได้ เรื่องนี้เป็นเพราะ ‘efficacy’ ของวัคซีนแห่งชาติเพียงอย่างเดียว หรือมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วยกันแน่
Future Trends คุยกับอ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มหาวิทยาลัยวอร์วิค ประเทศอังกฤษ (University of Warwick) ถึงการเลือกรับวัคซีน ไปจนถึงยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อ ความจริงใจของรัฐ ประสิทธิภาพการรับมือในช่วงวิกฤต รวมถึงมุมมองเปรียบเทียบการจัดการวัคซีน และแผนเชิงรุกของอังกฤษว่า มีความแตกต่างกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง
มีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมทฤษฎีไหนใช้อธิบายปัจจัยการเลือกรับวัคซีนตอนนี้ได้บ้าง
เยอะมากเลยครับ อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่า มนุษย์เรามักจะคิดว่าพฤติกรรมทั้งหมดมาจากเหตุและผล คือมักให้ข้อสันนิษฐานว่าก่อนจะตัดสินใจอะไรสักอย่างเราจะเอาข้อมูลมาพิจารณา วิเคราะห์ แล้วก็เลือกตัดสินใจโดยถูกต้องทีุ่สดสำหรับตัวเอง แต่พอมองในโลกปัจจุบัน เรามักจะเห็นว่า บางครั้งคนเราก็ไม่ได้ตัดสินใจโดยเหตุและผลเพียงอย่างเดียว แม้จะให้ข้อมูลไปแล้วก็ตาม กลับกลายเป็นว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนใจคนได้ง่ายๆ แทนที่จะมองว่า คนเราเป็นมนุษย์คอมพิวเตอร์ที่ไตร่ตรองทุกอย่างได้เป็นอย่างดี มีเพียงเหตุและผลประกอบการพิจารณา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะมองว่า มนุษย์เป็นมนุษย์ มนุษย์มีการตัดสินใจ มีอารมณ์ที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์ทุกอย่าง ถ้าเรามองมนุษย์เป็นมนุษย์ โอกาสที่จะสามารถเหาวิธีเปลี่ยนใจเขาได้ก็จะง่ายขึ้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามักคิดว่า ถ้าให้ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับวัคซีนว่า วัคซีนมีความเสี่ยงเรื่อง ผลข้างเคียงต่ำมาก แล้วผลพลอยได้เรื่องประโยชน์ของการฉีดสูงกว่าความเสี่ยงที่จะแพ้ ถึงเราจะให้ข้อมูลแบบนี้ไป โอกาสที่คนจะไม่เลือกฉีดก็ยังมีอยู่ อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า เป็นส่วนของการใช้อารมณ์ ความรู้สึกเข้ามาประกอบการตัดสินใจด้วย เราก็ต้องทรีตมนุษย์เป็นอย่างงั้น การให้แค่ข้อมูลอาจจะไม่เพียงพอ ต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจแบบนี้
แปลว่าหลายครั้งมนุษย์ก็ไม่ได้ใช้เหตุผลในการตัดสินใจเพียงอย่างเดียว
นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า คนส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองมีเหตุผล ใช้เหตุผลในการตัดสินใจกันหมด แต่ในความเป็นจริงมีทฤษฎีที่ใช้อธิบายอย่าง ‘Bounded rationality’ คือเหมือนว่าเราจะตัดสินใจอย่างมีเหตุลผลแล้วในขณะนั้น แต่ถ้ามองโดยรวมมันกลับดูไม่มีเหตุผลสักเท่าไร เป็นขอบเขตของความมีเหตุมีผล เราอาจจะคิดว่าตัดสินใจมีเหตุผลแล้ว แต่จริงๆ อาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดในขณะนั้น
นักเศรษฐศาสตร์ยกตัวอย่างว่า เวลาเห็นคนสูบบุหรี่เรามักคิดว่าเขาตัดสินใจของเขาแล้ว บวกลบคูณหารแล้วว่ามีคุณหรือโทษยังไง ถ้าเขาคิดมาดีแล้ว จะไปออกนโยบายห้ามคนสูบในที่สาธารณะก็เหมือนไปขวางทางการตัดสินใจของเขา จะส่งผลให้คนไม่พอใจ ความสุขจะลดลง แต่ถ้าเรามองในเชิงจิตวิทยามันมีข้อสันนิษฐานว่า จริงๆ ทุกคนอยากเลิกสูบบุหรี่นะ แต่เลิกไม่ได้ตรงที่ว่ามีปัญหาในการควบคุมตัวเองไม่ค่อยเก่ง คนส่วนใหญ่ชอบ ‘immediate happiness’ คือสุขทันที เขาเลือกสูบแต่จริงๆ ไม่ได้อยากสูบหรอก
คำว่า “การ์ดอย่าตก” หรือ “วัคซีนเพื่อชาติ” มีปัญหาหรือเปล่า เป็นการผลักความรับผิดชอบมาให้ประชาชนฝ่ายเดียวหรือไม่
ที่จริงมันมีคำอธิบายค่อนข้างเยอะ ผมเริ่มง่ายๆ ก่อนแล้วกันว่า เวลาที่เราเลือกใช้คำ การสื่อสารกันเป็นสิ่งสำคัญมาก การใช้คำว่า ‘ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ’ มันเหมือนมีคนมาบอกว่า ให้รีไซเคิลเพื่อลดโลกร้อน จะเป็นสไตล์คล้ายๆ กัน ถามว่ามีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมไหม ในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมแล้วไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไร เพราะคำว่าโลกมันใหญ่เหลือเกิน ชาติมันช่างใหญ่เหลือเกิน เราเป็นเพียง 1 ใน 65 ล้านคน เราไม่ทำคนเดียวก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะการฉีดวัคซีนเป็นการ sacrificed อย่างหนึ่งว่า เราต้องไปเสี่ยงกับผลข้างเคียงด้วย
มันก็มีข่าวออกมาบ่อยๆ ในเรื่องผลข้างเคียงว่าร้ายแรง แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม แต่ถ้าเราไม่ฉีด แล้วคนอื่นฉีดกันหมดมันก็จะมี herd immunity เราก็ไม่ต้องเสี่ยง โอกาสติดเชื้อโควิด-19 ก็ลดลง เราเป็นแค่คนเดียวถ้าคนทั้งชาติฉีดก็โอเค พอทำอย่างนั้นปุ๊บเราก็ลืมไปว่า คนอื่นอาจจะคิดเหมือนเรา คำว่าฉีดวัคซีนเพื่อชาติ reference group มันช่างใหญ่ เลยไม่ค่อยมีผลเท่าไร แต่ถ้าบอกว่า ฉีดวัคซีนเพื่อคนในครอบครัว เพื่อตัวเรา แล้วเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ reference group เป็นกลุ่มที่เราแคร์จริงๆ จะมีประสิทธิผลมากกว่า
คล้ายๆ กับงานวิจัยหนึ่งที่อยากให้คนในโรงแรมในสหรัฐอเมริกา ใช้ผ้าเช็ดตัวมากกว่า 1 ครั้ง ก็มีการทดลองว่า ให้ลองเอาป้ายไปติดดู ครั้งแรกใช้ข้อความในภาพว่า “ควรใช้ผ้าขนหนูมากกว่าหนึ่งครั้งเพื่อลดโลกร้อน” แล้วก็มีการวัดผลสรุปว่า ไม่ได้ผลเลย แต่พอเปลี่ยนข้อความเป็น “75 เปอร์เซ็นต์ของคนที่พักในโรงแรมนี้ ใช้ผ้าเช็ดตัวมากกว่า 1 ครั้ง” กลับมีผลลัพธ์ที่ชัดขึ้น คือคนที่พักในห้องๆ นี้ใช้ผ้าขนหนูมากกว่าครั้งเดียว มีประสิทธิผลมากที่สุด ทำให้เห็นเลยว่า แค่เปลี่ยนคำพูดก็ทำให้เราเปลี่ยน reference group ได้ค่อนข้างเยอะ แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยที่บอกว่า ทำไมเราถึงมีการต่อต้านการฉีดวัคซีน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประวัติศาสตร์ไทยที่มีการแยกกลุ่มกัน ใครที่เคยเชื่อรัฐบาลก็เชื่อทุกอย่างที่เขาพูด ฝั่งที่ไม่เชื่อไม่ว่าจะพูดอะไรเขาก็ไม่เชื่อ อันนี้ก็เป็นอีกคำอธิบายว่า เรามี social identity ของเรา
อยากให้อาจารย์ขยายปัจจัยเรื่อง social identity เพิ่มเติมหน่อย
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เพิ่งออกมา ผมกับเพื่อนที่สิงคโปร์ทำวิจัยเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัยของคนในสหรัฐฯ โดยมีคำถามวิจัยว่า ทำไมพอเริ่มมีการระบาดใหญ่โควิด-19 ถึงมีการออกมาประท้วงเยอะมากว่า จะใส่หรือไม่ใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเราก็พบว่า คนที่ออกมาต่อต้านส่วนใหญ่ คือคนที่เชียร์อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในตอนแรก ฝั่งคนเชียร์รีพับลิกันมองว่า ถ้าใส่หน้ากากอนามัยมันจะเหมือนเราไม่ซัพพอร์ตพรรคที่ตัวเขาเองชื่นชอบ
ก็มีการทำงานวิจัย ทดลองให้คนแปลกหน้า 2 คนมาเล่นเกมกัน โดยต้องตัดสินใจกันว่า ต้องแชร์เงินที่มีหรือขโมยเงินไปทั้งหมด เมื่อทั้ง 2 คนไม่รู้ว่า อีกคนเป็นใคร เชียร์ฝั่งไหน มาจากไหน 80 เปอร์เซ็นต์ตัดสินใจแชร์เงินกัน แต่พอเราให้ข้อมูลว่า อีกคนเป็นคนที่ใส่หน้ากากอนามัยนะ เขาก็ไม่ยอมแชร์เงินเลยทันที นั่นหมายความว่า การใส่หรือไม่ใส่หน้ากากอนามัยมันไปมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างสูงกับการที่เขาเชียร์พรรคอะไร เลยเป็นผลพวงจากที่ว่าจะทำอย่างไรให้สองฝ่ายกลับมาร่วมมือกันได้
ผมเคยพูดว่า จะให้เสื้อเหลืองเสื้อแดงร่วมมือร่วมใจกันได้คงต้องให้เอเลี่ยนมาบุกโลก คือหมายความว่ามันต้องเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับโลกนี้ แต่เรื่องวัคซีนก็กลายเป็น political issue ขึ้นมา
ซึ่งในความเป็นจริง เราทุกคนต้องร่วมมือกันทั้งประเทศมากกว่าไม่งั้นก็จะรอดยาก ต้องมีการไว้ใจกันทั้งสองฝ่าย ประชาชนก็ควรจะเชื่อใจรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ควรทำให้ประชาชนเชื่อใจด้วย
ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันมีผลกับพฤติกรรมคนด้วยไหม เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมีคำอธิบายหรือเปล่า
หลายคนรับข้อมูลมาแล้วมันมีผลต่อพฤติกรรมของคนเราจริงๆ อย่างเช่น ถ้าเราเห็นว่า วันหนึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 3,000 คนต่อวัน แล้วจำนวนไม่เพิ่มขึ้นสักที กลับตกลงไปด้วยซ้ำ ถ้าเราถามคนส่วนใหญ่ว่ารู้สึกยังไงกับตัวเลขพวกนี้ เขาคงจะคิดว่า เมืองไทยกำลังเดินหน้าไปได้ดี แทนที่จะเป็น exponential curve เราคลายล็อกได้ ทำทุกอย่างได้
แต่สิ่งที่คนเราส่วนใหญ่ไม่เห็น คือถ้าเรามาดู data ตัวเลขที่เราไม่เคยเห็น ทางศบค. ก็ไม่เคยพูดถึงเลย นั่นคือคือจำนวนการตรวจในแต่ละวันว่ามันอยู่ที่เท่าไร positive wage เป็นอย่างไร เราจะเห็นว่าเขาพูดถึงแต่คนติดเชื้อกับอัตราการเสียชีวิตรายวัน ถ้าเราดูแค่ติดเชื้อรายวันแล้วเปรียบเทียบไทยกับสหรัฐฯ จะเห็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยต่ำมาก ที่อังกฤษช่วงเดือนมกราคมติดเชื้อสูงสุด 60,000 คนต่อวัน เดือนที่แล้วลดลงมาเหลือ 3,000 คนต่อวัน และตอนนี้ขึ้นไปเป็น 9,000 ถึง 10,000 คนต่อวัน ส่วน ไทยยังอยู่ที่ประมาณ 3,000 คนต่อวันเหมือนเดิม ขนาดอังกฤษคนฉีดวัคซีนไป 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเลย
แล้วไทยเพิ่งเริ่มฉีดวัคซีนแต่ติดเชื้อกันหลักพันต่อวัน แสดงว่าคนของเราดูแลกันดีมากๆ หรือเปล่า แต่ถ้าไปดูจำนวนการตรวจจะพบว่า เมืองไทยตรวจวันละ 50,000 คนเท่านั้น เจอ 3,000 กว่ารายต่อวัน ถ้าคิดด้วยอัตราส่วนนี้แบบเร็วๆ แปลว่าถ้าตรวจวันละ 1,000,000 คน hit rage จะอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ที่เจอ เราไม่รู้เลยว่าคนที่ไม่ได้ตรวจมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ติดเชื้อไปแล้ว ถ้าตั้งข้อสันนิษฐานว่า เมืองไทยตรวจได้วันละ 1 ล้านคน ด้วยการตรวจเชิงรุกบ้าง rapid flow test บ้าง ยังไงซะตัวเลข 3,000 คน จะไม่อยู่ที่ 3,000 คนแน่ๆ ผมก็คาดคะเนไปว่า ถ้าให้อัตราการคิดแบบอนุรักษ์นิยมหน่อย ด้วยอัตราส่วนเท่านี้วันหนึ่งเราจะมียอดผู้ติดเชื้อประมาณ 10,000 รายต่อวัน
อยากให้อาจารย์ช่วยแชร์การจัดการวัคซีนของรัฐบาลอังกฤษหน่อยว่า ทำอย่างไรประชาชนเชื่อใจเลือกรับวัคซีน
ที่อังกฤษล็อกดาวน์กันอย่างจริงจังมากๆ เราออกจากบ้านได้วันละ 1 ครั้ง ทุกร้านปิดหมด มีแค่เดลิเวอรี ไปได้แค่ร้านขายของชำเพื่อซื้อของเข้าบ้านอย่างเดียว ปิดอย่างนั้นมา 3-4 เดือน แล้วก็ทำงานที่บ้าน ซึ่งเมืองไทยไม่เคยเป็นอย่างนั้น ล็อกดาวน์อันจริงจังขนาดนั้นเรายังเจอผู้ติดเชื้อวันละ 60,000 ราย ตอนนั้นมีสายพันธุ์อังกฤษ ตอนนี้มีเดลต้า และเดลต้าเป็นพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดในเมืองไทยซึ่งแพร่ได้เร็วมาก คำว่าเว้นระยะห่างก็ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น อัตราการเจอไม่น่าต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์แน่ๆ เพียงแต่เราไม่ได้ตรวจเท่านั้นเอง มีคนมาท้วงผมในเฟซบุ๊กส่วนตัวเหมือนกันว่า แต่เมืองไทยเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตยังต่ำนะ ทำไมต่ำจังเลย ตรงนี้มันก็มีคำอธิบายหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือหมอเราดี โรงพยาบาลเราดี แต่ก็มีคำอธิบายอย่างอื่นตรงที่ว่า ทุกคนที่ป่วยหรือเสียชีวิต ได้ไปโรงพยาบาลรึเปล่า โดยเฉพาะคนชนบท คนต่างจังหวัด แล้วสอง คือเราวัดอัตราการเสียชีวิตของคนยังไง
อย่างอังกฤษถ้าตรวจพบเชื้อแล้วเสียชีวิตภายใน 28 วันหลังจากนั้น จะถือว่าเสียชีวิตเพราะโควิด-19 กับอีกอย่าง คือที่นี่มีวิธีวัดการเสียชีวิตจากโควิด-19 สามอย่างคือ เรื่องการเสียชีวิตภายใน 28 วัน สอง คือจำนวนผู้เสียชีวิตตอนนี้เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยปีที่แล้ว ถ้าไม่มีโควิด-19 น่าจะมีคนเสียชีวิตจำนวนเท่านี้นะ แล้วเทียบกันดูว่า ตอนนี้มีอัตราส่วนสูงกว่า ณ ตอนนั้นขนาดไหน สมมติว่า มีคนเสียชีวิตมากกว่าจำนวนที่ควรจะเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ แล้ว 12 เปอร์เซ็นต์นี้เสียชีวิตเพราะโควิด-19 แค่หลักสิบคน ถ้าอย่างนั้นเราจะอธิบาย excess mortality ได้ยังไง เพราะฉะนั้นมันจะมีจำนวนการเสียชีวิตที่อธิบายไม่ได้อยู่ เราก็ต้องตั้งคำถามแล้วว่า ถ้าจำนวนการเสียชีวิตจากโควิด-19 มันต่ำ ทำไมเรามี excess deaths สูงอย่างนั้น
แล้ววิธีการตรวจหาเชื้อ การรับวัคซีน หรือการสร้างความเชื่อมั่น รัฐบาลอังกฤษจัดการอย่างไรบ้าง
ที่อังกฤษเลือกวัคซีนไม่ได้ เราผ่านจุดวิกฤตการล็อกดาวน์ 2-3 ครั้งมาแล้ว มีคนเสียชีวิตสูงจริงๆ พอมีโอกาสที่จะมีแสงสว่างในอุโมงค์ทุกคนก็โอเค เพราะวิกฤตที่แย่จริงๆ หน้าตาเป็นไงเห็นกันมาแล้ว และอีกส่วนคือมาจากการบริหารของรัฐบาลอังกฤษด้วย ตอนแรกมีการตรวจแค่จุดที่คิดว่าจะมีคลัสเตอร์ แต่พอเปลี่ยนเป็น mass testing ให้ขับรถไปตรวจเองได้ เดินไปตรวจที่สถานพยาบาลเอง หรือเมีตัว test kit ที่บ้าน พอแบบนี้ก็เจอยอดผู้ติดเชื้อเดือนหนึ่งเกือบ 2 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ทำให้คนรู้ว่า นั่นคืออัตราการระบาดในสังคมจริงๆ
สองคือเรื่องวัคซีน เขาจะพูดถึงโอกาสการเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงว่ามันมีเท่าไร ตัวเลขที่เห็นได้ชัด แล้วเอาไปเปรียบเทียบกับการเกิดลิ่มเลือด คนที่ฉีดแอสตราเซเนกา ถ้าอายุมากกว่า 40 ปี โอกาสเกิดลิ่มเลือดจะมี 1 ในล้านคน น้อยกว่าโอกาสที่จะเป็นลิ่มเลือดอุดตันจากการนั่งเครื่องบินเดินทางไกลด้วยระยะทางเท่านี้ๆ หมายความว่า ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา โอกาสเกิดลิ่มเลือดยังน้อยกว่าการนั่งเครื่องบินไกลๆ ด้วยซ้ำ ทำให้เห็นได้ชัดว่า นี่คือความเสี่ยงนะ ถ้าอายุต่ำกว่า 40 ปีก็ไปฉีดไฟเซอร์แทน
การฉีดก็ทำให้ง่ายมากๆ ที่ไทยพ่อแม่ผมเพิ่งได้ไปฉีดเมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา แล้วต้องขับรถจากสามพรานไปรามคำแหงเพื่อไปฉีด แต่ที่อังกฤษผมได้ข้อความจากโทรศัพท์มือถือมาให้จองคิวเลย เดินจากบ้านไปไม่ถึง 10 นาที ได้ฉีดแล้ว เขาทำให้มันง่ายและใกล้ ไม่ว่าจะอยู่ไหนก็ได้ ทำให้โรงเรียนหรือ โรงยิมเป็นที่ฉีดวัคซีน แล้วไม่เสียเงินด้วย ตรวจฟรี ฉีดฟรี และคนที่ไม่กล้าฉีดที่อาจจะเป็น ethnic minority ทางการเขาก็มีการทำวิดีโอพูดสื่อสารภาษาของเขา เป็นผู้นำชุมชนมาพูดเชิญชวนบ้าง อย่างสหรัฐฯ มีลอตเตอรีวัคซีน คือถ้าฉีดปุ๊บจะได้ลอตเตอรีฟรี หรือมีการร่วมมือกับทางคริสปี้ครีม ฉีดแล้วได้โดนัทฟรีทั้งปีก็มี คือมีวิธีการหดึงคนมาฉีดหลากหลายมากๆ ข้อมูลก็ค่อนข้างหาง่าย จำนวนตรวจกี่คนแล้วกูเกิลแปปเดียวเจอเลย แต่ที่ไทยต้องเข้าไปในเพจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กว่าจะเจอก็ใช้เวลานานเหมือนกัน
เป็นเพราะรัฐบาลไม่สร้างความเชื่อใจให้ประชาชนด้วยหรือเปล่า อย่างเช่นมีการปรับเปลี่ยนแผนบ่อยๆ ประกาศเช้า เปลี่ยนเย็นอะไรแบบนี้
ผมว่าการเปลี่ยนแผนมันสามารถเกิดขึ้นได้ ที่อังกฤษเพิ่งเปลี่ยนว่าจะไม่คลายล็อกดาวน์เป็นหลัก แต่เรตการเปลี่ยนอาจจะไม่ถี่เท่าเมืองไทยที่ประกาศเช้า ตอนเย็นเปลี่ยน ที่นี่ขนาดเปลี่ยนแผนเรายังมีความไว้ใจรัฐบาล ผมว่าที่สำคัญจริงๆ คือการสับเปลี่ยนบ่อย มันเป็นตัวกำเนิดของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนเร็วๆ ถี่ๆ
ถ้าเห็นสถิติอย่างหนึ่ง คนพูดอีกอย่างคือไม่ได้เป็นการตัดสินใจจากวิทยาศาสตร์ จากตัวเลขที่เห็นผมไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีคนเยอะมากที่ไม่ไว้ใจ ไม่ว่าจะวัคซีน หรือนโยบายที่รัฐออกมาก็ตาม ฉะนั้น การให้ consistence message ที่คล้องจองกัน การให้ตัวเลขโดยไม่คิดว่าจะมีคนออกมาวิเคราะห์หรือประท้วงมันคงยาก คือจะไปตั้งข้อสันนิษฐานไม่ได้ว่าให้แค่ตัวเลขตัวนี้ มันจะเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน
ต้องเอาตัวเลขจริงๆ ออกมาวิเคราะห์จะเห็นเลยว่า สิ่งที่พูดกับสิ่งที่เป็นจริงๆ มันคนละเรื่องกัน ผมว่าเขาควรที่จะมีความโปร่งใสในการพรีเซนต์ตัวเลขมากกว่านี้ โอเค ผมเข้าใจว่า มันไม่ใช่การบริหารอะไรที่ง่ายๆ เคยเห็นที่อังกฤษมาแล้ว มันมีการบาลานซ์เรื่องเศรษฐกิจและสุขภาพว่า ควรให้ priority กับอะไร เป็นอะไรที่ยาก แต่ถ้าเราปกปิดหรือไม่สื่อสารโดยที่ให้ข้อมูลทุกอย่างที่มี แล้วเรา assume ว่าประชาชนเขาไม่รู้หรอก รับอะไรไปก็ทำแบบนั้น นี่เป็นการตั้งข้อสันนิษฐานที่ผิดกับธรรมชาติของคน
เราคงจะจบ pandemic นี้ยาก ถ้าคลายล็อกดาวน์วันนี้แล้วไม่ได้พรีเซนต์ data จริงๆ ต้องเสนอให้ซื่อตรงที่สุดแล้วให้ประชาชนตัดสินใจเอง
แต่อย่างน้อยก็ยังอยู่ในตัวเลขที่เราให้ อย่างน้อยมีการตรวจที่บ้าน ยังมีการให้ตัวเลขที่อาจจะใกล้เคียงกับเรตจริงๆ ท้งหมดนี้มีผลต่อพฤติกรรมของคน และอาจจะต้องระวังตัวกว่านี้ อย่างที่ไทยผมเห็นว่า เขาจะคลายล็อกดาวน์ให้นั่งในร้านอาหารได้ถึงห้าทุ่ม นั่งได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนโต๊ะ ทั้งที่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเลย